‘พาณิชย์’ เผยส่งออกไทยเดือน ก.ค.67 โต 15.2% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 เดือน หลัง ‘กำลังซื้อ’ ทั่วโลกที่ฟื้นตัว ขณะที่ 7 เดือนแรกขยายตัว 3.8% ห่วง ‘บาทแข็ง’ กระทบคำสั่งซื้อสินค้าในช่วงปลายปี แต่มั่นใจทั้งปี 67 ส่งออกโตตามเป้า 1-2%
.........................................
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค.2567 ว่า การส่งออกไทยเดือน ก.ค.2567 มีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราการขยายสูงสุดในรอบ 28 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565
ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,093.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน ก.ค.2567 ไทยขาดดุลการค้า 1,373.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกไทยในเดือน ก.ค.2567 ยังคงขยายตัวได้ที่ 9.3%
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกในเดือน ก.ค.2567 ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล และ 2.การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ซึ่งได้รับประโยชน์ด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้น จากอุปทานในตลาดโลกที่น้อยลง
ส่วนปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1.ค่าระวางเรือของโลกในเดือน ก.ค.2567 ยังมีแนวโน้มสูงกว่าเดือนก่อนหน้า และ 2.สินค้าส่งออกสำคัญบางรายการได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าใหม่ที่เข้ามาทดแทนสินค้าเดิมในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เห็นชัดเจน คือ ยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
นายพูนพงษ์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค.2567 โดยแยกเป็นกลุ่มสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,245.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.7% ,การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 2,118.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.6% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 20,254.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% ซึ่งเป็นการขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง
รายงานข่าวจาก สนค. แจ้งว่า การส่งออกเดือน ก.ค.2567 ที่ขยายตัว 15.2% นั้น มีปัจจัยสนับสนุนจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ผู้บริโภค ในขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและการปรับตัวของค่าจ้างในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้การบริโภคฟื้นตัว โดยตลาดหลักที่กลับมาฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐ จีน อาเซียน และสหภาพยุโรป สอดคล้องกับการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของ IMF ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และเศรษฐกิจยุโรปที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว
นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2567) มีมูลค่า 171,010.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกขยายตัวได้ 4% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2567) ไทยขาดดุลการค้า 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายพูนพงษ์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในเดือน ส.ค.2567 ว่า คาดว่าการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะต้องพิจารณาว่าในช่วงเวลานั้นๆ ตลาดเป็นของผู้ซื้อหรือผู้ขาย โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะมีผลในเรื่องราคา และทำให้การแข่งขันของสินค้าไทยง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วง 20 กว่าวันของเดือน ส.ค.2567 ค่าเงินบาทแข็งตัวค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีผลกระทบพอสมควร
นายพูนพงษ์ ระบุว่า แม้ว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 3.8% แต่กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2567 ที่อยู่ที่ 1-2% และคาดว่าโอกาสที่การส่งออกทั้งปี 2567 จะอยู่ในกรอบบน คือ ขยายตัวได้ 2% มีความเป็นไปได้สูง โดยในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในพื้นที่ต่างๆมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
“ถ้าสังเกตดูไม่ว่าจะทางตะวันออกกลาง หรือทางรัสเซีย-ยูเครน ความรุนแรงไม่ได้ลดลง ตรงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทางกระทรวงฯและภาคเอกชนต้องติดตามโดยตลอด” นายพูนพงษ์ กล่าวและย้ำว่า ปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ค่าเงินบาท เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ เป็นต้น
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้ว่าค่าระวางเรือในระยะต่อไป มีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยค่าระวางเรือไปยุโรปสูงกว่าในช่วงต้นปีถึง 2 เท่า ในขณะที่ค่าระวางเรือไปสหรัฐอ่อนตัวลงแล้ว และมีตู้คอนเทนเนอร์เพียงพอ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น จะมีผลกระทบต่อการส่งออกส่งออกในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
“เวลาผู้ส่งออกเจรจาคำสั่งซื้อสินค้า เราจะรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า โดยในช่วง ส.ค.-ก.ย.2567 เรา Fix ราคากันไว้แล้ว แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก็จะทำให้ผู้ส่งออกมีกำไรลดลง แต่สินค้าที่เรากำลังจะออเดอร์ใหม่ ในปลายปีนี้ เดือน พ.ย. ธ.ค. ไปจนถึง ม.ค.ปีหน้า อาจต้องพิจารณาเรื่องค่าเงินบาทให้รอบคอบ ต้องดูว่าการแข่งขันเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าการแข่งขัน ต้องดูค่าเงินบาทประกอบด้วย ฉะนั้น จะมีผลในช่วงปลายปี สำหรับออเดอร์ที่เจรจากันอยู่” นายชัยชาญ ระบุ
อ่านประกอบ :
'พาณิชย์'เผยส่งออกไทย มิ.ย.67 ติดลบ 0.3%-ครึ่งปีแรกยังบวก 2% จับตาเลือกตั้ง'สหรัฐฯ'
ภาคผลิตโลกฟื้น-สินค้าเกษตรรุ่ง! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก พ.ค.67 โต 7.2%-5 เดือน ขยายตัว 2.6%
เงินเฟ้อคลี่คลาย-ภาคผลิตโลกฟื้น! ‘พาณิชย์’เผยส่งออก เม.ย.67 พลิกบวก 6.8%-4 เดือนโต 1.4%
‘พาณิชย์’เผยส่งออก มี.ค.67 ติดลบ 10.9% หดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน-มอง เม.ย. พลิกบวก
‘พาณิชย์’เผยส่งออก ก.พ.67 โต 3.6% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 7-คาดตัวเลข มี.ค.ส่อติดลบ
‘พาณิชย์’เผยส่งออก ม.ค.67 โต 10% สูงสุดในรอบ 19 เดือน-ไทยขาดดุลการค้า 2.7 พันล้านดอลล์
ขยายตัวเป็นเดือนที่ 5! ส่งออก ธ.ค.66 โต 4.7% ยอดทั้งปีหด 1%-ตั้งเป้าปี 67 พลิกบวก 1-2%
ส่งออก พ.ย.66 โต 4.9% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 หวังทั้งปีลบน้อยกว่า 1%-ตั้งเป้าปีหน้า 1.99%
ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยส่งออกไทย ต.ค.66 โต 8%-มองทั้งปีติดลบแค่ 1%
บวกเป็นเดือนที่ 2! ส่งออกไทย ก.ย.66 เติบโต 2.1%-จับตาสงคราม‘อิสราเอล-ฮามาส’ขยายวง