‘ป.ป.ช.’ เดินหน้าไต่สวนฯ ‘ธนาคารอิสลามฯ’ อนุมัติสินเชื่อมูลค่า ‘หมื่นล้าน’ ส่อไม่ชอบ ลุยสอบ ‘เชิงลึก’ หวั่นลูกหนี้นำเงินกู้ไปซื้อ ‘ที่ดิน’ เก็งกำไร พร้อมเผย ‘อัยการ’ สั่งฟ้องคดี ‘ผู้บริหารไอแบงก์’ ถูกชี้มูลฯ แล้ว 2-3 คดี
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ในช่วงเดือน พ.ค.2566 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดกลุ่มผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (บสอ. หรือไอแบงก์) และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในคดีทุจริตเกี่ยวกับการอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้เอกชน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ข้อกล่าวหาหลัก ได้แก่
ข้อกล่าวหาที่ 1 เรื่องการอนุมัติสินเชื่อฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามที่คณะกรรมการไต่สวนเสนอ
ข้อกล่าวหาที่ 2 เรื่องการเรียก รับฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางอาญาผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ราย คือ นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2 และนายนรกิรติ์ วงศ์ทองเหลือ (เอกชนผู้สนับสนุน)
ข้อกล่าวหาที่ 3 เรื่องการเบิกเงินสินเชื่อ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ราย คือ นางสุรดา ผูกพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายธุรกิจ SMEs2, นายอรรควิตร ภูมิฐาน ผู้จัดการอาวุโสบริหารส่วน ฝ่ายธุรกิจ SMEs2 และนายฐิติพัชร์ บัวผัน ผู้ช่วยผู้จัดการส่วน ทีมธุรกิจ 5 ฝ่ายธุรกิจ SMEs 2 นั้น (อ่านประกอบ : โดนอาญา 2 ราย! ป.ป.ช.ชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อ-บ.เจอฉ้อโกง)
ล่าสุดแหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้บริหารไอแบงก์และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ว่า คดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดฯไปแล้ว 2-3 คดีนั้น เบื้องต้นได้รับทราบว่าทางอัยการได้สั่งฟ้องไปแล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน โดยขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
ขณะเดียวกัน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการไต่สวน กรณีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของไอแบงก์ที่อาจไม่ชอบในหลายกรณี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกันนับหมื่นล้านบาท เนื่องจากบางเคสเป็นการอนุมัติสินเชื่อหลักพันล้านบาท เช่น การอนุมัติสินเชื่อเพื่อดำเนินการโครงการหมู่บ้านจัดสรร โดยลูกหนี้จะนำเงินกู้ไปซื้อที่ดินแล้วนำไปทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร หรือการอนุมัติสินเชื่อเพื่อไปซื้อกิจการโรงแรม ซึ่งลูกหนี้จะเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการแล้วเอาไปทำต่อ เป็นต้น
“มีเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นการไต่สวน โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่ชอบ เพราะแม้ว่าบางทีลูกค้าหรือลูกหนี้ จะสามารถชำระหนี้ ปิดบัญชีได้ แต่เรา (ป.ป.ช.) ต้องมาดูว่า ตอนพิจารณาอนุมัติไปชอบหรือไม่ มีการตีราคาหลักประกัน หรือราคาประเมินสูงเกินกว่าที่ธนาคารกำหนดหรือไม่” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า แม้ว่าไอแบงก์อ้างว่าหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคารฯ มีความยืดหยุ่น และไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว เช่น ลูกค้าที่มาขออนุมัติสินเชื่อ โดยเป็นการตั้งบริษัทฯขึ้นมาใหม่ และใช้ประวัติหรือโปรไฟล์ว่า ลูกค้าที่มาขอสินเชื่อมีประสบการณ์ในการบริหารกิจการมาก่อน หรือมีคอนเน็กชั่นอะไรต่างๆ ธนาคารฯก็สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ แต่ ป.ป.ช.จะเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกว่า การปล่อยสินเชื่อมีความปิดปกติหรือมีความเสี่ยงสูงหรือไม่
“ถ้าพิจารณาแค่หลักเกณฑ์ และแนวทางของธนาคาร ก็จะเห็นว่า สามารถดำเนินการได้โดยชอบ แต่ก็ต้องไปตรวจสอบในเชิงลึกว่า กรณีที่ลูกค้ามาขออนุมัติสินเชื่อเพื่อไปดำเนินโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่พอซื้อที่ดินเสร็จแล้ว ก็ไม่ทำโครงการก่อสร้างหมู่บ้านต่อ คือ มาปิดหนี้เลย อย่างนี้ก็มีประเด็นที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งข้อสังเกตหรือให้ความเห็นว่า เป็นการให้สินเชื่อที่ผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงสูง
เพราะอาจเป็นการเอาเงินเพื่อไปต่อยอด หรือเอาเงินของธนาคารฯที่อนุมัติสินเชื่อมาใช้หมุนก่อน เหมือนกับซื้อที่ดินเพื่อไปขายต่อ พอขายต่อได้แล้ว ก็เอาเงินมาปิดหหนี้ ไม่ได้ทำโครงการจริง หรือบางทีคนที่เป็นลูกหนี้ กับคนที่เอาเงินมาปิดกับธนาคาร เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นวงเดียวกัน เป็นกลุ่มที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน รู้จักกัน เรา (ป.ป.ช.) ก็จะต้องไปตรวจสอบว่าผู้ถือหุ้น ญาติพี่น้อง คนขายที่ดิน หรือวงธุรกิจทั้งหลาย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีเส้นทางการเงินเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้น บางทีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ คงไม่ได้ดูแค่ว่า คุณสามารถปิดหนี้ได้หรือไม่ เพราะบางทีการปิดหนี้ แต่คุณไปเอาเงินของพรรคพวกมาปิดหนี้ หรือเป็นบริษัทแม่บริษัทลูกกัน แล้วมาขอสินเชื่อ คนโน่นก็ขอ คนนี้ก็ขอ” แหล่งข่าวย้ำ
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า ในการดำเนินการไต่สวนฯ กรณีการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของไอแบงก์ดังกล่าว ป.ป.ช. มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเข้ามาร่วมทำการสอบสวนด้วย ขณะที่ ป.ป.ช.เอง มีการตรวจสอบในมุมมองหลายด้าน ทั้งการบัญชี และการประเมินราคา เป็นต้น ซึ่งในส่วนการประเมินราคา ก็จะไปดูว่าสมาคมที่เกี่ยวข้องการประเมินราคาว่า มีหลักเกณฑ์ในประเมินราคาที่ดินอย่างไร รวมทั้งเชิญผู้ที่ทำรายงานสรุปของ ธปท.มาให้ข้อมูลด้วย
“ในการทำสำนวนของ ป.ป.ช. เราต้องสอบทุกด้านจริงๆ” แหล่งข่าวระบุ
อ่านประกอบ :
คอนเฟิร์ม! เลขาฯ ป.ป.ช. ยืนยันมติชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อเอกชน
โดนอาญา 2 ราย! ป.ป.ช.ชี้มูลผู้บริหารแบงก์อิสลาม คดีทุจริตปล่อยสินเชื่อ-บ.เจอฉ้อโกง
ใครโดน-รอด? เปิดครบทุกชื่อผู้ถูกกล่าวหาคดีอดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก อนุมัติสินเชื่อ 1.9 พันล.
วงเงินเกินอำนาจ! เปิดข้อกล่าวหาคดีอดีตปธ.แบงก์อิสลาม-พวก อนุมัติสินเชื่อมิชอบ1.9 พันล.
ตามหา 2 บ.โรงแรม คดีอดีตปธ.แบงก์อิสลามอนุมัติสินเชื่อมิชอบ ย้ายไปซอยรางน้ำไม่รู้อยู่ไหน
2 รร.ลูกค้า ส่อเป็น NPL-บสอ.แจงปม ป.ป.ช.ชี้มูลอดีตปธ.แบงก์อิสลาม อนุมัติสินเชื่อมิชอบ