เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'โสฬส สาครวศิว' อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ไม่ยุติโครงการชะลอเลิกจ้างแรงงาน ออกคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ฝ่าฝืนมติบอร์ด ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลางพิพากษายกฟ้อง - ป.ป.ช.ขอ อสส.อุทธรณ์สู้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายโสฬส สาครวศิว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ไม่ยุติโครงการชะลอการเลิกจ้างแรงงาน และออกคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของโครงการไม่เป็นไปตามนโยบายและมติของคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502.มาตรา 8 และ 11 พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ป.อ. มาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา ยกฟ้อง
เหตุไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่าจำเลยได้เข้าไปบงการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องหรือชี้นำหรือสั่งการให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำคำสั่งผิดหรือขัดแย้งต่อระเบียบ หรือมติคณะกรรมการแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นเจตนาพิเศษที่จำเลยมุ่งหมายกระทำเพื่อช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์แก่สถานประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะนั้นก็ไม่ปรากฏ
นอกจากนี้ก ารปล่อยสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างก็เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้าทั่ว ๆ ไป ที่มีคุณสมบัติในการขอสินเชื่อ ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่า จำเลยลงนามในคำสั่งโดยสุจริตตามที่ฝ่ายจัดองค์กรและกำกับการที่มีหน้าที่รับผิดชอบทำคำสั่งและผ่านการตรวจสอบจากสายงานที่เกี่ยวข้อง
การกระทำของจำเลย จึงไม่พอฟังว่าเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริต
พิพากษายกฟ้อง
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502.มาตรา 8 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัดห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
มาตรา 11 ระบุว่า ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี
ข่าวในหมวดเดียวกัน
- โทษหนัก! คุก 15 ปี 20 ด.อดีตผอ.กองสาธารณสุข เทศบาลฯ นครชุม เบิกค่าน้ำมันรถขยะเท็จ
- คดีทุจริตจีที 200 ระนอง คุก 2 ปี 5 ราย ยกฟ้อง 3 'ป.ป.ช.-อสส.' เห็นพ้องอุทธรณ์สู้