เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที200 /อัลฟา 6 /ADE จังหวัดระนอง ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ราย คนละ 2 ปี ยกฟ้อง 2 ราย- ป.ป.ช.เห็นพ้อง อสส.อุทธรณ์สู้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีทุจริตในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย จีที200 และ/หรืออัลฟา 6 และ/หรือ ADE ของจังหวัดระนอง (สำนวนที่ 11) แก้ไขเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ 147/2564 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา 151, 157, 162 (1), (4) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) พ.ศ.2542 มาตรา 10, 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา
โดยคดีนี้ ปรากฏชื่อ นายสมเจตน์ เต็งมงคล เป็นจำเลยที่ 1 นายสำราญ เทพทอง จำเลยที่ 2 นางศิวพร วิสุทธิ์สิริ จำเลยที่ 3 นายวิโรจน์ แสงศิวัฤทธิ์ จำเลยที่ 4 นายอาทิตย์ เกิดก่อ จำเลยที่ 5 นายมนัส พิศุทธิกฤตยา จำเลยที่ 6 นายลิขิต สุขเยาว์ จำเลยที่ 7 และ นายสุรัตน์ เริ่มสุกรีย์ จำเลยที่ 8
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษาดังนี้
1. ลงโทษ นายวิโรจน์ แสงศิวัฤทธิ์ จำเลยที่ 4 นายอาทิตย์ เกิดก่อ จำเลยที่ 5 นายมนัส พิศุทธิกฤตยา จำเลยที่ 6 นายลิขิต สุขเยาว์ จำเลยที่ 7 และ นายสุรัตน์ เริ่มสุกรีย์ จำเลยที่ 8 จำคุกคนละ 2 ปี
2. ยกฟ้อง นายสมเจตน์ เต็งมงคล จำเลยที่ 1 นายสำราญ เทพทอง จำเลยที่ 2 นางศิวพร วิสุทธิ์สิริ จำเลยที่ 3
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุดจำเลยทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามความเห็นอัยการสูงสุด (อสส.) ที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาสำหรับจำเลยที่ 4 - 8 และเห็นชอบตามความเห็นของอสส. ที่จะยื่นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1- 3
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข่าวในหมวดเดียวกัน