‘ธปท.’ แจงหลักเกณฑ์พิจารณาคำขอใบอนุญาต Virtual Bank พร้อมกางไทม์ไลน์เปิดให้บริการ ‘รายแรก’ ในไทย มิ.ย.69 เบื้องต้นให้อนุญาตฯก่อน 3 ราย
.......................................
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing การขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ตอนหนึ่งว่า สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank นั้น ธปท. จะพิจารณาข้อเสนอของผู้สมัครฯว่า สอดคล้องกับสิ่งที่ ธปท.อยากเห็น (Green Line) และสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น (Red Line) หรือไม่
“ในการพิจารณาผู้สมัครฯ Virtual Bank เราจะประเมินว่า ผู้สมัครฯมีข้อเสนอที่จะมาช่วยสร้างสิ่งที่เราอยากเห็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร ซึ่งเรียกว่า Green Line เช่น เราอยากเห็นบริการทางเงินรูปแบบใหม่ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล หรือมีบริการที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม และเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีรายเล็ก ที่ปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงบริการ หรือได้รับบริการแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ
การสร้างและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการเพิ่มความสะดวกสบาย และการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ รวมทั้งการกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม โดยคนใหม่ที่เข้ามาจะต้องกระตุ้นให้คนปัจจุบันและคนอื่นๆ คิดใหม่ ทำใหม่ ปรับปรุงบริการให้ดียิ่งและขึ้น ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ธปท.ต้องดูด้วยว่า เมื่อเขาเข้ามาแล้ว จะต้องไม่ก่อให้เกิดสิ่งที่เราไม่อยากเห็น (Red Line) คือ ความเสี่ยงต่อระบบและประชาชนในวงกว้าง เช่น เข้ามาแล้ว ทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน หรือมาแล้วเร่งขยายธุรกิจหรือทำธุรกิจที่เสี่ยงมากๆ จนกระทบต่อความมั่นคงของตัวเอง หรือเข้ามาแล้ว สร้างการแข่งขันที่ไม่เหมาะสม เช่น มาแข่งกันลดราคา จนสุดท้ายไม่มีใครอยู่รอดได้ และเข้ามาเอื้อประโยชน์ หรือใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งเราไม่อยากเห็น” น.ส.วิภาวิน กล่าว
นอกจากนี้ ธปท.จะประเมินว่า ผู้สมัครฯมีคุณลักษณะสำคัญที่แสดงศักยภาพและความสามารถในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank อย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งมี 7 ด้าน ได้แก่ 1.ความสามารถการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน 2.ความสามารถในการได้มาซึ่งข้อมูล และการใช้ประโยชน์ข้อมูล เพื่อพัฒนาบริการให้เหมาะกับประชาชน 3.ความสามารถในการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและช่องทางดิจิทัล 4.การใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และให้บริการได้ต่อเนื่อง
5.ความรู้ ความสามารถและธรรมาภิบาล ของผู้ขอใบอนุญาตและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน Virtual Bank 6.ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน และ7.มีความมั่นคงทางการเงิน โดยพิจารณาจากฐานะและการสนับสนุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น
“Virtual Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่รับฝากเงินจากประชาชน และเป็นธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ เราต้องคำนึงว่า คนที่เข้ามาต้องมีคุณภาพที่ดี ในจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าเข้ามาแล้ว มากระตุ้นการแข่งขันในระดับที่เหมาะสม เราสามารถกำกับดูแลความเสี่ยง ให้ประชาชนมีความมั่นใจ เพราะสุดท้ายแล้ว เราอยากเห็นว่ามาแล้ว ทำประโยชน์ ตอบโจทย์ให้ระบบและพี่น้องประชาชน อยู่กับเรายาวๆ
และเราไม่อยากเห็นว่า กรณีที่เข้ามาแล้ว มาแป๊บเดียว ต้องปิดกิจการไป หรือเข้ามาแล้ว มาแข่งขันกันจนล้มหายตายจากไป หรือเข้ามาแล้ว ไม่สามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม สุดท้ายก็มากระทบผู้ใช้บริการและผู้ฝากเงิน” น.ส.วิภาวิน กล่าว
น.ส.วิภาวิน ระบุด้วยว่า ธปท.จะดำเนินการเป็นไปตามประกาศฯกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้ ธปท. พิจารณาจำนวนรายใหม่ที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระดับที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ฝากเงินและระบบในวงกว้าง รวมทั้งต้องไม่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบ ซึ่ง ธปท.ประเมินว่า จำนวนใบอนุญาตฯ Virtual Bank ที่เหมาะสมในตอนนี้ คือ ไม่เกิน 3 ราย
นางสุจารี มนชน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ธปท.จะจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้ง Virtual Bank และเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตฯ วันที่ 20 มี.ค.นี้ ไปจนถึงวันที่ 19 ก.ย.2567 จากนั้น ธปท.และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันพิจารณาคำขอใบอนุญาตฯ ก่อนจะประกาศผลผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในเดือน มิ.ย.2568 และเปิดดำเนินการ Virtual Bank ในเดือน มิ.ย.2569
“ระยะเวลาที่เร็วที่สุดที่เราจะเห็น Virtual Bank แห่งแรก หรือกี่รายแรกในประเทศไทย จะเป็นช่วง มิ.ย.2569 ซึ่งไม่นานเกินรอ” นางสุจารี กล่าว
ขณะที่นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า การเปิดให้มี Virtual Bank เป็นหนึ่งในนโยบายด้านดิจิทัลที่สนับสนุนให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อพัฒนานวัตกรรมอย่างรับผิดชอบ โดยสิ่งที่ Virtual Bank ต้องทำให้ได้ คือ ต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า โดยใช้เทคโนโลยีและช่องทางดิจิทัล ,ต้องมีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลของลูกค้า มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้
และต้องมีคุณลักษณะที่มีความมั่นคง และมีรากฐานแน่นหนา เพราะ Virtual Bank เป็นผู้รับฝากเงินจากประชาชน ดังนั้น ความเชื่อมั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งต้องทำให้ทุกประเทศมั่นใจว่า Virtual Bank จะนำสิ่งที่ดีมา และไม่สร้างปัญหาอุปสรรคต่างๆในระบบเศรษฐกิจและภาคการเงิน
นายสมชาย กล่าวว่า ธปท.คาดหวังผลลัพธ์ที่ประชาชนจะได้รับจากการจัดตั้ง Virtual Bank ได้แก่ 1.การเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า 2.การทำให้ลูกค้าที่เดิมเข้าไม่ถึงบริการการเงิน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล เข้าถึงบริการฯได้ และ 3.การเปิดกว้างทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านการแข่งขัน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านข้อมูล จะนำไปสู่ประสิทธิภาพและทำให้ต้นทุนในภาคการเงินโดยรวมลดลง และส่งผ่านประโยชน์ไปให้ประชาชน
อ่านประกอบ :
‘คลัง’ประกาศเกณฑ์ยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank-ให้‘ธปท.’กำหนดจำนวน‘ใบอนุญาต’ที่เหมาะสม
ธปท.เปิดฟังความเห็นเกณฑ์จัดตั้ง Virtual Bank ฉบับปรับปรุง-คาดชง'คลัง'เคาะ ก.ค.
SCBX ยืนยันความพร้อมเข้าชิงใบอนุญาต Virtual Bank
‘ธปท.’ชี้ไม่จำเป็นต้องรีบใช้‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’-เลื่อนสมัคร Virtual Bank ไปไตรมาส 4
‘เศรษฐา’ ปลุกฐานเสียง ‘เพื่อไทย’ อย่าให้ใครด้อยค่านโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัล
'ธปท.' เตรียมออกร่างหลักเกณฑ์ขออนุญาตตั้ง 'virtual bank' ภายในไตรมาส 2
ธปท.หนุน ‘Virtual bank’ เพิ่มการแข่งขัน-ใช้ข้อมูล ‘บิลค่าน้ำ-ค่าไฟ’ ประกอบขอสินเชื่อ
เพิ่มแข่งขัน-ดูแลความเสี่ยง! ‘ธปท.’เปิดฟังความเห็นแนวนโยบาย‘ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินฯ’
‘ธปท.’ ทดสอบใช้ ‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’ ชำระค่าสินค้าบริการใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ ปลายปี 65