‘ธปท.’ เผยการพัฒนา ‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’ ยังอยู่ในช่วง ‘ทดลองศึกษา’ ย้ำไม่มีความจำเป็นต้อง ‘เร่งรีบ’ เพราะ ‘ระบบพร้อมเพย์’ ยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่ พร้อมเลื่อนเปิดรับสมัคร ‘Virtual Bank’ ไปเป็นไตรมาส 4
............................................
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน ‘ผู้ว่าการ ธปท. พบสื่อมวลชน’ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. โดยกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) ว่า ธปท.มีการพัฒนา CBDC นำร่องใน 2 โครงการ คือ การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail CBDC)
โดยในส่วนการพัฒนา Wholesale CBDC ที่จะช่วยเรื่องการโอนเงินข้ามแดน ทั้งการลดปัญหาความล่าช้า และลดปัญหาค่าธรรมเนียมแพง รวมทั้งมีความโปร่งใส นั้น ปัจจุบันได้ยกระดับไปเป็นโครงการ mBridge ซึ่งมีฮ่องกง ธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ BIS Innovation Hub เข้ามาร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ การพัฒนา Wholesale CBDCมีความเป็นไปได้สูง และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงในอีกไม่ไกลนัก
ส่วนการพัฒนา Retail CBDC นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบโครงการนำร่องอยู่ โดยเป็นทดสอบเรื่องการจับจ่ายใช้สอยในวงจำกัดมากๆ และไม่ได้ฟีเจอร์ใดๆเป็นพิเศษ ซึ่งการจะทดสอบจะทำไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นช่วงการทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) คือ จะพยายามหาฟีเจอร์อื่นๆมาใส่ อย่างไรก็ดี การทดสอบใช้ Retail CBDC ดังกล่าว ยังเป็นโครงการนำร่องเพื่อการศึกษาเท่านั้น และไม่ใช่โครงการที่จะมีการเปิดตัว (pilot to launch)
“ความจำเป็นของเราที่จะรีบเร่งตัวนี้ (Retail CBDC) ออกมา ไม่ได้มีสูงขนาดนั้น เพราะ Used Case จริงๆไม่ได้ชัดขนาดนั้น และระบบเพย์เมนท์ของเราที่มีในปัจจุบันทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว เช่น ระบบพร้อมเพย์ต่างๆ คนก็ใช้กันอย่างกว้างขวางและสะดวกอยู่แล้ว และเมื่อประโยชน์ on top ที่จะเพิ่มจากระบบพร้อมเพย์ไม่ได้ชัด แต่ความเสี่ยงมันมี และมีประเด็นเยอะหากจะทำตรงนี้ เราจึงทำ pilot to learn เพื่อมั่นใจว่าเราเข้าใจมันดีจริงๆ ปิดช่องโหว่และความเสี่ยงต่างๆให้ได้ ทำทุกอย่างให้พร้อม และถ้าเมื่อไหร่พร้อมที่ launch เราจะได้เดินต่อ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันมีปัญหาภัยทางการเงินมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกดิจิทัลและนวัตกรรมต่างๆ มาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้น การที่เราจะทำอะไร จึงต้องระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าถ้าเป็นเรื่องนวัตกรรมแล้วจะวิ่งเข้าไปหาอย่างเดียว และขอยืนยันว่าในเรื่อง CBDC นั้น ไทยไม่ได้ช้าหรือล้าหลังกว่าประเทศอื่น อีกทั้งเมื่อเราได้ศึกษาเรื่องบล็อกเชน (Blockchain) อย่างจริงจัง พบว่าเมื่อบล็อกเชนมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นจะเริ่มมีปัญหาความช้า
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ประกอบการรับใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า เรื่อง Virtual Bank ตอนนี้คงต้องล่าช้าจากกำหนดเดิม เนื่องจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่างๆที่ผ่านมา พบว่ามีประเด็นที่หลากหลาย และสะท้อนถึงความจำเป็นที่ ธปท. ต้องรวบรวมประเด็นต่างๆและชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน
“เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียม เราจะรวบรวมคำถามทุกอย่าง แล้วทำเป็นคู่มืออธิบายชี้แจง ซึ่งจะได้ออกไปทีเดียวเลย จึงทำให้กระบวนการดีเลย์ออกไปจากที่เคยเซ็ตไว้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า ในการคัดเลือกและให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank แก่ผู้ประกอบการ นั้น ธปท. จะให้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 ใบเท่าเดิม แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีผู้แสดงความสนใจสมัครเข้ามามาก เพราะตัวเลข 3 ใบอนุญาตนั้น ถือว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากจะทำให้เกิดความหลากหลาย และเกิดผลกระทบในแง่การแข่งขันด้วย แต่หากมีการให้ใบอนุญาตมากกว่า 3 ใบอนุญาต ก็เกรงว่าอาจมีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพตามมา
“ถ้ามากกว่านั้น จะมีปัญหากลับมาในเรื่องเสถียรภาพ เพราะ Virtual Bank นั้น เราเปิดให้เขารับเงินฝากด้วย ซึ่งเงินฝากเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนในแง่ความมั่นใจ ถ้าเปิดรับเงินฝาก แล้วไปไม่ไหว มีปัญหา ก็มีโอกาสจะเกิดความเสี่ยงสารพัดนานา เราจึงอยากไม่อยากเห็นเหมือนในบางประเทศที่เปิดขึ้นมาเยอะ แต่ท้ายที่สุดต้องตามไปเก็บ ปิด จึงมองว่าตัวเลข 3 ใบอนุญาต เป็นตัวเลขที่เหมาะสมอยู่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด นั้น ธปท.จะหารือกับสถาบันการเงินและผู้เกี่ยวข้อง ในการทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียมต่างๆให้มีความเหมาะสมและเป็นไปในทิศทางที่ ธปท. อยากเห็น ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก รวมทั้งจะมีหารือเกี่ยวกับโครงสร้างค่าธรรมเนียมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการ เช่น Non-bank สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเงิน ภายใต้นโยบาย Open Infrastructure และ Open competition
ด้าน น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะมีการชี้แจงเรื่อง Virtual Bank เพื่อให้คนที่สนใจได้ข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการรับสมัคร และกระบวนการคัดเลือก โดย ธปท.จะออกประกาศหลักเกณฑ์สุดท้ายในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะมีการชี้แจงและเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกรอบหนึ่ง และคาดว่ากระบวนการเปิดรับสมัครจะเริ่มได้ประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้
อ่านประกอบ :
‘เศรษฐา’ ปลุกฐานเสียง ‘เพื่อไทย’ อย่าให้ใครด้อยค่านโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัล
'ธปท.' เตรียมออกร่างหลักเกณฑ์ขออนุญาตตั้ง 'virtual bank' ภายในไตรมาส 2
ธปท.หนุน ‘Virtual bank’ เพิ่มการแข่งขัน-ใช้ข้อมูล ‘บิลค่าน้ำ-ค่าไฟ’ ประกอบขอสินเชื่อ
เพิ่มแข่งขัน-ดูแลความเสี่ยง! ‘ธปท.’เปิดฟังความเห็นแนวนโยบาย‘ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินฯ’
‘ธปท.’ ทดสอบใช้ ‘เงินดิจิทัลภาคประชาชน’ ชำระค่าสินค้าบริการใน ‘พื้นที่เฉพาะ’ ปลายปี 65