‘ธปท.’ เปิดรับฟัง ‘ความเห็น-ข้อเสนอแนะ’ แนวนโยบาย ‘ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน’ ระหว่าง 1-28 ก.พ.นี้ ย้ำจุดยืน 'ดูแลความเสี่ยง-เพิ่มการแข่งขันรายใหม่'
............................
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชนเกี่ยวกับแนวนโยบาย ‘ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper)’ ผ่านทางเว็บไซต์ www.bot.or.th/landscape หรืออีเมล [email protected] ทั้งนี้ ธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นฯตั้งแต่วันที่ 1-28 ก.พ.2565 ก่อนสรุปประเด็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งในไทยเพิ่มจาก 36 ล้านบัญชี เป็น 121 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ,จำนวนธุรกรรมอินเตอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้งเพิ่มจาก 800 ล้านรายการ เป็น 1.44 หมื่นล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้น 18 เท่าตัว หรือคิดเป็น 300 ครั้ง/คน/ปี และจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลง 1,400 สาขา แตกต่างจากในอดีตที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันเปิดสาขา
ขณะเดียวกัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินที่ไหลเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม หรือกองทุนความยั่งยืน (ESG-funds) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว และเมื่อไม่นานมานี้ กว่า 50% ของสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทุน Global AUM ต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลงทุนใน Net Zero Impact ด้านคาร์บอนในปี 2050 และ 60% ของการส่งออกไทยจะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายใหม่ๆในภาคการเงินไทยมากขึ้น โดยสินเชื่อรายย่อยที่ของ Non-banks เติบโต 40% สูงกว่าสินเชื่อที่เติบโตของธนาคารแบบดั่งเดิม (Traditional banks) ที่เติบโต 24% ขณะที่การเติบโตสินเชื่อทั่วโลกพบว่า สินเชื่อของผู้เล่นรายใหม่ประเภท FinTech เติบโต 500% และเติบโตสินเชื่อของ BigTech เช่น Alibaba ,Tencent และ Grab เป็นต้น มีการเติบโต 4,000%
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงใน 3 กระแสดังกล่าว คือ เรื่องดิจิทัล เรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้เล่นใหม่ จะมีผลกระทบต่อภาคการเงินไทยอย่างเห็นได้ชัด และทำให้เกิดคำถามที่ ธปท. ต้องไปหาคำตอบ เช่น เมื่อแบงก์มีความจำเป็นในการเปิดสาขาลดลง ธปท.จะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขา หรือ Virtual bank เข้ามาเปิดให้บริการในไทยหรือไม่ และหากอนุญาตให้เปิด Virtual bank ธปท.จะมีนโยบายการกำกับดูแลอย่างไร
หรือกรณีที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้ากับกระแส Green หรือความยั่งยืน บทบาทของธนาคารพาณิชย์ไทยที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร เร็วแค่ไหน และมีรูปแบบอย่างไร หรือกรณีที่มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เช่น FinTech และ BigTech ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ธปท.จะกำกับดูแลอย่างไร และจะให้ผู้เล่นรายใหม่ๆเหล่านี้เข้ามาแข่งขันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล และทำให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
“คำถามเหล่านี้เป็นที่มาว่า ทำไม ธปท.จึงต้องออกรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรายงานที่เรียกว่า consultation paper คือ เป็น paper เพื่อการหารือ ไม่ใช่เป็น paper สไตล์แผนแม่บท 5 ปีเหมือนในอดีต เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก หลายอย่างเป็นสิ่งที่คาดการณ์ลำบาก การที่เราจะระบุว่า เราจะเห็น 1 2 3 และทำ 4 5 6 มันอะไรที่ยาก และไม่เหมาะกับบริบทที่เราเจออยู่” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯฉบับนี้ ยังมีการแบ่งปันมุมมองของ ธปท. ว่า ธปท. มองกระแสต่างๆที่จะมาอย่างไร จุดยืนในเรื่องต่างๆเป็นอย่างไร และสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นเป็นอะไร หรือสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็นมีอะไรบ้าง รวมทั้งในรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯจะมีการระบุว่า มีเรื่องใดบ้างที่ ธปท.อยากรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และหาคำตอบเกี่ยวกับทิศทางที่เราจะไปในอนาคต
“ทิศทางที่เราจะไปนั้น หลักการสำคัญอันหนึ่ง คือ การรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยง อะไรที่เสี่ยงเยอะก็กำกับเยอะ อะไรที่ไม่ค่อยเสี่ยงก็ไม่ไปกำกับมากมายอะไร และอะไรที่จำเป็นต้องดูให้เข้ม ก็ต้องดูให้เข้ม เช่น การดูแลผู้ฝากเงิน เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆก็ตาม หัวใจสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทย คือ ต้องดูแลผู้ฝากเงิน ทำให้ผู้ฝากเงินมั่นใจ และมั่นคง
แต่อะไรที่ไม่จำเป็นต้องเข้มมาก เพราะความเสี่ยงไม่มาก ก็ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น FinTech ถ้าดูแล้ว ความเสี่ยงไม่ได้มาก ก็ผ่อนปรนได้ และสุดท้ายอาจมีบางอย่าง ซึ่งตอนนี้ประเมินความเสี่ยงลำบาก ดูไม่ค่อยออกว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ดูไม่ออกว่าผลกระทบในวงกว้างจะมีมากแค่ไหน เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เราจะใส่สิ่งที่เรียกว่าราวกั้น หรือ guard rail เพื่อจำกัดความเสี่ยง แต่พวกนี้อาจมีความยืดหยุ่น หากผ่านไปแล้ว ความเสี่ยงไม่ได้มากมายอะไร” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯ ธปท.ต้องการให้ประชาชนได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตามแนวคิด 3 Open ได้แก่ 1.เปิดให้มีการแข่งขัน (Open Competition) เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้ประชาชนและภาคธุรกิจ เช่น การเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามา เช่น Virtual bank ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ เข้ามาให้บริการในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ธปท. ต้องปรับปรุงกติกาเพื่อทำผู้เล่นรายเดิมปรับตัวและแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้ เช่น การยกเลิกเพดานของธนาคารพาณิชย์ในการลงทุนใน FinTech และให้ Non-bank ทำธุรกิจได้กว้างขึ้น เป็นต้น
2.เปิดให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Open Infrastructure) โดยสิ่งที่ ธปท.อยากเห็น คือ การเปิดกว้างให้ผู้เล่นรายต่างๆสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ให้เกิดการผูกขาด แต่ต้องมีความยุติธรรมกับผู้มีส่วนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ 3.เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) โดยเปิดให้มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าเจ้าของข้อมูลต้องยินยอม และเคารพสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล
ธปท. ระบุว่า ภายใต้แนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยฯ ธปท. มุ่งหวังให้ภาคการเงิน
(1) ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
(2) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
(3) สามารถรับมือกับความเสี่ยงสำคัญและความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างเท่าทัน ไม่ส่งผลกระทบต่อไปยังระบบเศรษฐกิจการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ที่ยืดหยุ่นขึ้นและไม่สร้างภาระแก่ผู้ให้บริการทางการเงินมากเกินจำเป็น โดยมีทิศทางสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่
(1) เปิดให้แข่งขัน (Open Competition) โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) และขยายขอบเขตหรือเพิ่มความยืดหยุ่นให้ผู้เล่นเดิม
(2) เปิดให้ผู้เล่นต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน (Open Infrastructure) ได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้นเช่น ระบบการชำระเงิน การใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง (Retail CBDC) และกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงที่รองรับความต้องการเงินทุนหลากหลายรูปแบบ
และ (3) เปิดให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) โดยจะผลักดันให้มีกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อมูลของตนที่อยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่งไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกมากขึ้นเป็นลำดับภายใต้นโยบาย open banking และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลของภาคการเงินกับแหล่งอื่นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และพัฒนาบริการทางการเงิน
2.การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน โดย (1) ให้ภาคการเงินประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง และสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง
และ (2) ช่วยให้ภาคครัวเรือนสามารถอยู่รอดและปรับตัวในโลกใหม่ได้ ด้วยการยกระดับการส่งเสริมทักษะด้านการเงินดิจิทัล ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สิน เช่น กำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้เกินตัว และผลักดันกลไกแก้หนี้อย่างครบวงจรสำหรับคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
3.การกำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและเท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ โดยคำนึงถึงสมดุลระหว่างบทบาทของ ธปท. ในการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน ผ่าน (1) การกำกับดูแลผู้ให้บริการตามลักษณะความเสี่ยงและความซับซ้อนของบริการทางการเงิน
(2) การทบทวนเกณฑ์ไม่ให้เป็นอุปสรรคและสร้างภาระต้นทุนที่เกินจำเป็นแก่ผู้ให้บริการและ (3) การกำกับดูแลผู้ให้บริการให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ที่สำคัญ เช่น ความเสี่ยงจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเงิน และการกำกับดูแล non-bank ที่มีบทบาทมากขึ้น
“ธปท. หวังว่าการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินตามทิศทางข้างต้น จะทำให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการพัฒนาบริการทางการเงิน บริหารความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน และรับมือกับสิ่งไม่คาดคิดรวมถึงผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถได้รับบริการที่ตอบโจทย์ และได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
ภาคครัวเรือนมีความรู้และพร้อมปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้เกินตัว ขณะที่กลุ่มที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้รับการแก้ไขปัญหาและไปต่อได้ ส่วนภาคธุรกิจมีแรงจูงใจและได้รับเงินทุนเพียงพอเพื่อปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น” ธปท. ระบุ
อ่านประกอบ :
'ผู้ว่าฯธปท.'จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำเศรษฐกิจ‘สะดุด’-ห่วง'ค่าครองชีพ'พุ่ง สวนทาง'รายได้'