ธปท.ผลักดันเปิด ‘Virtual bank’ เพิ่มแข่งขันในตลาด หนุนใช้เกณฑ์ ‘risk based pricing’ กำหนด 'ดอกเบี้ย' ที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เล็งเปิดให้ใช้ข้อมูลทางเลือก ‘บิลค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าโทรศัพท์’ ประกอบการขอสินเชื่อได้
.................................
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน BOT Financial Landscape Consultation Session : เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวเปิดงานว่า การจัดเวทีครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) มาปรับให้สะท้อนความเป็นจริง
ได้แก่ 1.เรื่องดิจิทัล ที่จะต้องสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาทางการเงิน เพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการให้ดีขึ้น 2.เรื่องความยั่งยืน คือ จะทำอย่างไรให้ภาคการเงินมีบทบาทในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม หนี้สินประชาชน และการเงินภาคครัวเรือนที่เปราะบาง ซึ่งต้องแก้ไขให้ถูกจุด และ3.เรื่องแนวทางการกำกับดูแลของ ธปท.ที่ต้องมีความยืดหยุ่นขึ้น ตอบสนองนวัตกรรม แต่ต้องเท่าทันกับความเสี่ยงต่างๆ
@ใช้ ‘risk based pricing’ กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
“consultation paper ฉบับนี้ มีหัวใจสำคัญอื่นๆด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องดิจิทัล ,Virtual bank หรือโครงสร้างอื่นๆ แต่จะมีผลักดันเรื่อง Open Data ,การใช้ risk based pricing ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ลูกหนี้ ให้สอดรับกับความเสี่ยงที่เขามี ซึ่งเราจะใช้ประโยชน์จากข้อมูล Open Data เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อตอบโจทย์ในการเข้าถึงบริการการเงินของประชาชน” นายรณดล กล่าว
นายรณดล ระบุว่า แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯ จะช่วยวางรากฐานให้ภาคการเงินช่วยเศรษฐกิจปรับตัวในการดูแลสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือภาคครัวเรือนให้ปรับตัวเข้ากับบริบทการเงินดิจิทัล เช่น การปลดหนี้ ดูแลหนี้ และจัดการหนี้ของภาคครัวเรือน เป็นต้น
@เพิ่มรายใหม่-หนุน Virtual bank ลดช่องว่างบริการการเงิน
น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลังจาก ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฯตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 มีการแสดงความคิดเห็นเข้ามาแล้วกว่า 100 ความเห็น และธปท.ได้เดินสายหารือกับสมาคมต่างๆ ภาคธุรกิจ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทิศทางของ ธปท.ในการปรับสมดุลเรื่องดิจิทัล ความยั่งยืน และการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น แต่เท่าทันความเสี่ยง
ทั้งนี้ ในเรื่องดิจิทัล สิ่งที่ได้รับความสนใจมาก คือ การที่ ธปท.จะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ เช่น Virtual bank หรือธนาคารที่ไม่มีสาขาเข้ามาแข่งขัน (Open Competition) โดยมีการสอบถามว่า ธปท.คาดหวังให้ Virtual bank มาให้บริการจุดไหน ใครมาสมัครได้บ้าง และเกณฑ์คัดเลือกเป็นอย่างไร โดย ธปท. จะประมวลความเห็นทั้งหมดมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต่อไป
“เรื่อง Virtual bank สิ่งที่เรามุ่งหวัง คือ ผู้เล่นประเภทใหม่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ลดช่องว่างการให้บริการทางการเงิน และพัฒนาการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งเราได้รับข้อเสนอด้วยว่า การที่ Virtual bank จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องควบคู่กับนโยบาย 2Open คือ Open Infrastructure และ Open Data โดย Virtual bank รายใหม่ที่เข้ามา ควรเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลเหล่านี้ด้วย แต่ก็ฝาก ธปท. ให้ดูแลเรื่องการคัดกรองและกำกับ Virtual bank เพื่อไม่ให้สร้างความเสี่ยงต่อระบบ และผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้าง” น.ส.วิภาวิน กล่าว
@ห่วงเปิดรายใหม่แข่งขัน ทำให้ ‘ครัวเรือน’ ก่อหนี้ง่าย
น.ส.วิภาวิน ระบุว่า ผู้แสดงความเห็นในเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และแสดงความเป็นห่วงว่าการเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาจะยิ่งทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้ง่ายขึ้น และมากขึ้นหรือไม่ จึงฝากให้ ธปท.ดูแลให้สมดุลและเหมาะสม รวมทั้งการเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันนั้น จะต้องเปิดให้ผู้เล่นรายเก่าหรือผู้เล่นปัจจุบันสามารถแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้อย่างเท่าเทียม
ส่วนเรื่อง Open Infrastructure ผู้แสดงความคิดเห็นให้ความสนใจเรื่อง Retail CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดย ธปท. ว่า จะนำไปใช้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ ธปท.ยังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ การตั้งเป้าการลดการใช้เงินสด และเช็คกระดาษ รวมถึงการให้ความเป็นธรรมกับผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาก่อน เป็นต้น
นอกจากนี้ ในเรื่อง Open Data มีข้อเสนอแนะว่า ควรมีเจ้าภาพหรือมีความร่วมมือแลกเปลี่ยนแบบ 2 ทาง โดยข้อมูลที่ผู้แสดงความคิดเห็นคิดว่าเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการให้บริการ เช่น ข้อมูลรายได้ และข้อมูลทางเลือก เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อได้
@เสนอแก้หนี้ครัวเรือน-ลดการก่อหนี้ใหม่เกินตัว
น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ในเรื่องความยั่งยืน (Sustainable) ผู้แสดงความคิดเห็นอยากให้ ธปท. กำหนดทิศทางของภาคการธนาคารในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และการลดต้นทุนหรือสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินทำเรื่องนี้ เป็นต้น ส่วนเรื่องความยั่งยืนทางการเงินของภาคครัวเรือนนั้น ประเด็นที่มีการเสนอให้ทำเพิ่ม คือ การแก้หนี้ภาคประชาชน ทั้งการแก้หนี้เดิมและป้องกันการก่อหนี้ใหม่ที่เกินตัว ซึ่งต้องทำไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย และการให้ความรู้ทางการเงิน
สำหรับเรื่องการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นแต่เท่าทันความเสี่ยง (Resilient) มีความเห็นว่า ธปท.มาทางนี้ดีแล้ว แต่อยากให้พิจารณากำกับดูแลตามเสี่ยงให้มากขึ้น เช่น ผู้ให้บริการมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างกัน และมุ่งเน้นลูกค้าที่ต่างกัน แต่หากเป็นผู้ให้บริการลูกค้าในวงกว้างกว่า ซึ่งมีโอกาสส่งผ่านความเสี่ยงได้มากกว่า สมควรที่จะถูกกำกับดูแลเข้มกว่า และปรับปรุงกระบวนการ Sandbox โดยยึดผลลัพธ์ และมีความยืดหยุ่นขึ้น
นอกจากนี้ ผู้แสดงความเห็น เห็นด้วยกับการใช้ risk based pricing และเห็นว่าหากเพดานดอกเบี้ยปรับลดลง จะยิ่งทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของ ธปท. ที่พยายามผลักดันแนวนโยบาย 3 Open เพื่อให้มีการแข่งขันมากขึ้น และเปิดให้มีการนำข้อมูลไปใช้พัฒนาและวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งจะนำไปสู่การคิดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและเป็นไปตามความเสี่ยงของลูกค้าจริงๆ ก่อนที่จะมีการพิจารณาหรือทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยรายย่อยต่อไป
@ชี้เปิด Virtual bank เข้าแข่งขัน-ช่วย MSME เข้าถึงสินเชื่อ
น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กรณีที่ ธปท.จะเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ เช่น Virtual bank เข้ามาแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นผู้เล่นที่เป็นรายเก่าหรือผู้เล่นรายใหม่ นั้น จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น โดยเฉพาะ SME ที่มีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ (MSME) ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม MSME กว่า 37% ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ และหากทำให้กลุ่มคนนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.08% ต่อจีดีพี
“วันนี้ใน Area ที่เราปล่อยสินเชื่อหรือให้บริการการเงินอยู่ เกือบๆจะเป็น Red Ocean อยู่แล้ว มีคนอยากเข้ามาเยอะ ซึ่งการเพิ่มการแข่งขันเข้ามา หรือการที่แต่ละธนาคารต้องตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นหรือสังคม สิ่งที่ช่วยเราได้ คือ การใช้ดิจิทัล การใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ต้นทุนถูกลงและเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น โดยเราเอาก็พยายามทำในเรื่อง Financial Inclusion (การเข้าถึงการให้บริการทางการเงิน) อยู่แล้ว” น.ส.ขัตติยา กล่าว
น.ส.ขัตติยา ระบุว่า ในการกำกับดูแลภาคการเงินนั้น หากมีการรวมศูนย์ในการกำกับดูแล และทำให้การกำกับดูแลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทำได้รวดเร็วขึ้น จากปัจจุบันที่หน่วยงานกำกับมีหลายหน่วยงาน
อ่านประกอบ :
เพิ่มแข่งขัน-ดูแลความเสี่ยง! ‘ธปท.’เปิดฟังความเห็นแนวนโยบาย‘ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินฯ’