ผู้ว่ารถไฟ อัปเดทรถไฟไทยจีนสัญญา 4-5 ผ่านเมืองโคราช ปรับแบบเป็นยกระดับ พบค่างานเพิ่มอีก 4,000 ล้านบาท แต่ยังไม่เกินกรอบวงเงินโยธา 119,163.88 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟท.ได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ซึ่งยังติดปัญหา 2-3 ประเด็น ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว เช่น กรณี สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) ที่งานก่อสร้างยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากมีประเด็นประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นทางระดับดิน โดยที่ผ่านมา รฟท.ได้หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และได้สรุปใช้ทางเลือกที่ 4 คือเป็นทางยกระดับ ซึ่งมีวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ยังอยู่ในกรอบวงเงินรวม 179,412 ล้านบาท และต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มประมาณ 2 ปี
ทั้งนี้ ได้เสนอรายงานหารือไปยังกระทรวงคมนาคม พิจารณารับทราบแนวทางแล้ว หลังจากนี้จะชี้แจงและทำความเข้าใขกับประชาชนอีกครั้ง และเร่งนำเข้าเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ภายในเดือนมี.ค. 67 เพื่อขออนุมัติการปรับแบบและแก้ไขเปลี่ยนแปลง (Voriation Order : VO ) เป็นงานเพิ่มเติมและขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมาต่อไป ซึ่งไม่ต้องเปิดประมูลใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 27 ก.พ. 67 จะมีการรายงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัด จ.นครราชสีมา ถึงความคืบหน้าแนวทางก่อสร้างรถไฟไทย-จีน สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท โดยมี การปรับรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ มีระยะทาง 7.85 กม. ซึ่งมีค่างานก่อสร้างเพิ่มอีก 4,791.45 ล้านบาท และใช้เวลาก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 28 เดือน โดยปัจจุบัน สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา มีผลงานเพียง 05.87% พร้อมกันนี้ในช่วงดังกล่าวจะมีการปรับแบบโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เป็นโครงสร้างยกระดับแบบเสาตอม่อแทนคันดิน ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับ รถไฟความเร็วสูง
@ค่างานไฮสปีดไทยยังไม่เกินกรอบ
สำหรับ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. (ทางยกระดับ 188.68 กม. ทางระดับดิน 54.09 กม. อุโมงค์ 8 กม.) มีวงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่างานโยธา 14 สัญญา วงเงิน 119,163.88 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 11 สัญญา ซึ่ง12 สัญญา มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมอยู่ที่ 91,197.85 ล้านบาท ส่วนอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนาม มีวงเงินค่าก่อสร้างรวมกันที่ประมาณ 14,325 ล้านบาท ทำให้รวมทั้ง14 สัญญา จะใช้วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 105,552 ล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มค่าก่อสร้างสัญญา 3-5 จึงยังไม่เกิน กรอบวงเงินค่างานโยธาที่มี 119,163.88 ล้านบาท
ที่มาภาพปก: Facebook โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-5
อ่านประกอบ