‘คมนาคม’ เช็กอัพไฮสปีดไทย-จีน เผยช่วงกทม.-โคราช สร้างมา 6 ปี คืบหน้า 28% ช้ากว่าแผน 50% ติดปัญหา 2 สัญญา ‘โครงสร้างบางซื่อ-ดอนเมือง / ปรับแบบยกระดับผ่านโคราช’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา พร้อมเร่งรัดการดำเนินการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาคและ พลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานและสามารถเปิดใช้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างในระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบราง พัฒนาโครงข่ายเส้นทางการคมนาคมของประเทศไทยเชื่อมโยงสู่เมืองหลักเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า และการเดินทางของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ และรองรับการขยายตัวของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการหารือติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงและโครงการในสัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนาม รวมถึงเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้
1. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานโยธาจาก 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมด 14 สัญญา ภายในปี 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวมร้อยละ 28.61 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571
2. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จโดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ รฟท. นำส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเสนอคณะกรรมการ รฟท. อนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
@6 ปีคืบ 28% ช้ากว่าแผน 50%
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เนื้องานโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. งานโยธาจำนวน 14 สัญญา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2560 สถานะ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2566 ความคืบหน้ารวมอยู่ที่ 28.61% ล่าช้ากว่าแผนงานถึง 50.013%
สัญญาที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มี 2 สัญญาได้แก่ สัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 362.52 ล้านบาท และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิลเอนจีเนียริง เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท
สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่
สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม.ของ บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ วงเงิน 4,279 ล้านบาท คืบหน้า 46.35% ช้ากว่าแผน 49.23%
สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ ก่อสร้าง คืบหน้า 38.48% ช้ากว่าแผน 61.28%,
สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อสร้าง คืบหน้า 69.11% ช้ากว่าแผน 30.19%
สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) คืบหน้า 5.472% ช้ากว่าแผน 93.647%
สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม.กับกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วยบจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท คืบหน้า 0.25% ช้ากว่าแผน 31.05%
สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. กับกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น, บมจ.เนาวรัตน์ฯและ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) วงเงิน 11,525.36 ล้านบาท คืบหน้า 23.04% ช้ากว่าแผน 31.05%
สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มูลค่างาน 6,573 ล้านบาท มีบมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า1.464% ช้ากว่าแผน 39.176%
สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. มูลค่างาน 9,428 ล้านบาท มีบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) เป็นผู้รับจ้าง คืบหน้า 0.4% ช้ากว่าแผน 48.86%
ส่วนสัญญาที่อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบัน รฟท.กำลังเจรจากับ บจ. เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) เอกชนคู่สัญญา แนวทางล่าสุด รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างส่วนโครงสร้างร่วมทั้งหมด โดยจะหักค่างานโยธาออกจากสัญญาร่วมทุนและรฟท.เองต้องเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างในส่วนของรถไฟไทย-จีนด้วย
และสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท มีประเด็นเรื่องมรดกโลก ของสถานีอยุธยา อยู่ระหว่างดำเนินการด้าน HIA ขณะที่ รฟท.แก้ปัญหา โดยจะก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งก่อน โดยอยู่ระหว่างเตรียมลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกคือ บจ. บุญชัยพาณิชย์(1979)