เผยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยืนยกฟ้อง ‘สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ’ กรรมการ สภา มรภ.สารคาม - มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย-บก. อิศรา คดีหมิ่นประมาท เสนอข่าว เปิดชื่อ 44 ผศ.- รศ. ผู้เสียหาย จากการกระทำของขบวนการปลอมลายเซ็น สั่งถอดถอนตําแหน่ง ชี้เป็นการนําเสนอข้อเท็จจริงมิใช่เรื่องส่วนตัวบุคคล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำพิพากษายืนตามศาลจังหวัดมหาสารคาม ที่พิพากษายกฟ้อง ในคดีที่คณาจารย์มหาวิทยาราชภัฎมหาสารคาม จำนวน 11 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานกรรมการตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ มหาวิทยาราชภัฎมหาสารคาม จำเลยที่ 1 มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 และบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา จำเลยที่ 3 ในคดีหมิ่นประมาท จากการนำเสนอข่าว “เปิดชื่อ 44 ผศ.- รศ. ผู้เสียหาย ขบวนการปลอมลายเซ็น กรณี มรภ.สารคาม สั่งถอดถอนตําแหน่ง” “เปิดชื่อ 44 ผู้เสียหาย ผศ. -รศ. มรภ. มหาสารคาม มีคําสั่งถอดถอน หลังพบขบวนการปลอมลายเซ็น” ซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) ต่อมาโจทก์ทั้ง 11 ราย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 สํานักข่าวอิศรา หรือเว็บไซต์ www.isranews.org ซึ่งเผยแพร่โดยระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ลงข้อความในระบบอิเล็กทรอนิกส์ พาดหัวข่าวว่า “เปิดชื่อ 44 ผศ.- รศ. ผู้เสียหาย ขบวนการปลอมลายเซ็น กรณี มรภ.สารคาม สั่งถอดถอนตําแหน่ง” “เปิดชื่อ 44 ผู้เสียหาย ผศ. -รศ. มรภ. มหาสารคาม มีคําสั่งถอดถอน หลังพบขบวนการปลอมลายเซ็น” และมีเนื้อข่าวว่า “จนถึงวันนี้ ผู้ขอตำแหน่ง ผศ.รศ. ทั้ง 44 ราย ยังอยู่ในฐานะผู้เสียหาย และยังไม่พบพยานหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 จำเลยที่ 1 กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดเผยว่า คณาจารย์ทั้ง 44 ราย ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คําสั่งและให้ข้อมูลเพื่อแสดงความ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตามขั้นตอนราชการ...”
นอกจากนี้เนื้อข่าวยังมี-ข้อความระบุรายชื่อคณาจารย์ทั้ง 44 ราย โดยจําแนกตามสาขาวิชาที่ขอตําแหน่งทางวิชาการ ซึ่งปรากฏรายชื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดในเนื้อข่าวที่เผยแพร่โดยระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นด้วย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดว่า คดีโจทก์ทั้งสิบเอ็ด มีมูลหรือไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่สํานักข่าวอิศราหรือเว็บไซต์ www.isaranews.org นําเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามว่า ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งมาโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ การแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการหรือไม่นั้น จึงเป็นการนําเสนอข้อเท็จจริงซึ่งมิใช่เรื่องส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นั้น การกระทําดังกล่าวนั้นต้องกระทําโดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
โจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดและคณาจารย์อื่น ๆ รวม 44 ราย มีหน้าที่ยื่นขอตําแหน่งทางวิชาการให้ถูกต้องตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ขั้นตอนอื่น ๆ ในการพิจารณาแต่งตั้งตําแหน่งทางวิชาการเป็นขั้นตอนภายในของมหาวิทยาลัย ซึ่งโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ไม่ได้มีส่วนร่วมหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดถูกถอดถอนตําแหน่งทางวิชาการ จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดตกเป็นผู้เสียหายในกระบวนการพิจารณาแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดํารงตําแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2562 ข้อความที่ระบุในพาดหัวข่าว รวมทั้งเนื้อข่าว ของสํานักข่าวอิศราหรือเว็บไซต์ www.isranews.org ว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้เสียหายของขบวนการปลอมลายมือชื่อ กรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามสั่งถอดถอนตําแหน่งทางวิชาการ ของคณาจารย์ 44 ราย นั้น จึงเป็นข้อความที่ตรงกับความจริง ซึ่งทําให้ประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวนั้นทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่ได้มีส่วนร่วมในขบวนการปลอมลายมือชื่อในการพิจารณาแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งทางวิชาการนั้น ทั้งปรากฏตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องอีกด้วยว่า การนําเสนอข่าวในเรื่องดังกล่าว ของสํานักข่าวอิศราหรือเว็บไซต์ www.isranews.org ก่อนหน้านี้เป็นการกล่าวถึงกระบวนการในการพิจารณาแต่งตั้งตําแหน่งทางวิชาการที่เป็นปัญหา มิใช่การนําเสนอข่าวพาดพิงไปยังโจทก์ทั้งสิบเอ็ดแต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวจึงไม่ทําให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ประการใด
การกระทําตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท คดีโจทก์ทั้งสิบเอ็ดจึงไม่มีมูล โดยโจทก์ทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์ในทํานองว่า ไม่เห็นด้วย กับคําวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เพราะตามภาพบันทึกข่าวเว็บไซต์ของสํานักข่าวอิศรา ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2564 หน้าที่ 2 เสนอข่าวตามที่จําเลยที่ 1 เปิดเผยว่า “ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย มีมติให้ดําเนินการตามมติ ก.พ.อ. ให้ถอดถอน ผศ.- รศ. รวม 44 ราย ในจํานวนนี้มี 1 ราย ถูกตั้งกรรมการสอบจริยธรรม เนื่องจากพบว่ามีการคัดลอกผลงานในการขอตําแหน่งด้วย ทั้งนี้ยังมีมติให้หยุดจ่ายเงินประจําตําแหน่ง และให้เรียกเงินคืนที่ได้จากตําแหน่งวิชาการทุกราย...” และ “สําหรับผู้ที่ถูกถอดถอน ผศ. รศ. ทั้ง 44 ราย ปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่...” และฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ได้มีการเปิดเผยรายชื่อของโจทก์ทั้งสิบเอ็ด และรายชื่อคณาจารย์อื่น ๆ รวม 44 ราย
ทั้งยังมีการเสนอเนื้อข่าวว่า “จนถึงวันนี้ผู้ขอตําแหน่ง ผศ. รศ. ทั้ง 44 ราย ยังอยู่ในฐานะผู้เสียหาย และยังไม่พบพยานหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวหรือไม่
ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2564 ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ราชภัฏมหาสารคาม ผู้ทรงคุณวุฒิเปิดเผยว่า คณาจารย์ทั้ง 44 ราย ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คําสั่ง และให้ข้อมูลเพื่อแสดงความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตามขั้นตอนราชการ” ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้เสียหายจริง ๆ ซึ่งหากต่อมามีหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง โจทก์ทั้งสิบเอ็ดก็จะไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่กลับกลายว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมีส่วนร่วมในการทุจริตขอตําแหน่ง ดังนั้น จําเลยทั้งสามจึงไม่ควรเปิดเผยรายชื่อ ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดต่อสาธารณชนซึ่งเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดถูกถอดถอน จากตําแหน่งจริง โดยบุคคลทั่วไปที่เห็นข้อความดังกล่าวอาจจะคิดได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ต้องมีส่วนร่วมในการทุจริต มิฉะนั้นคงไม่ถูกถอดถอนออกจากตําแหน่งแน่นอน จึงทําให้ โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้
เห็นว่า ข้อความที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ด ยกขึ้นอุทธรณ์มานั้น ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยไว้แล้วดังกล่าวข้างต้น อันเป็นการใช้ดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนพยานของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดและนํามาปรับเข้ากับข้อกฎหมายแล้ว ฟังว่า การกระทําของจําเลยทั้งสามไม่เป็นความผิด เพราะข้อความดังกล่าวตามที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดยกขึ้นอ้างในคําฟ้องและอุทธรณ์มานั้น มิได้มีข้อความตอนใดที่กล่าวให้ร้ายหรือยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้ทุจริตหรือมีส่วนร่วมในการทุจริตหรือไม่แต่อย่างใด หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวหรือไม่ และข้อความที่จําเลยทั้งสามเปิดเผยดังกล่าวยังได้ให้สิทธิโจทก์ทั้งสิบเอ็ดในการใช้สิทธิ อุทธรณ์คําสั่ง และสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อแสดงความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตามขั้นตอน ราชการ อันเป็นการเปิดโอกาสให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามตั้งขึ้นมาสอบสวนเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความกระจ่าง อันจะเป็นประโยชน์ต่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดอย่างยิ่งที่จะได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใส
แต่อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยสรุปตามความเข้าใจหรือความเห็น ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเอาเองว่า การกระทําตามฟ้องของจําเลยทั้งสามอาจเป็นการหมิ่นประมาท โจทก์ทั้งสิบเอ็ดโดยการโฆษณาแล้ว ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีมูล จึงชอบแล้ว
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบเอ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จําต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นอีก เพราะไม่อาจทําให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน./
อ่านประกอบ กรณี มรภ.มหาสารคาม :
-
พบขบวนการปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ ม.ดังอีสาน!ผู้บริหารฯรับมีทุจริตสั่งสอบแล้ว
-
เทียบชัดๆ ลายเซ็นปลอมชื่อตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ มรภ.สารคาม-ใช้เบิกค่าน้ำมันรถด้วย
-
เขียนชื่อยังผิด! เปิดข้อมูล อ.รายที่ 2 จาก 'มข.' โดนปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ
-
รายที่ 3! อดีตคณบดี มข.โดนปลอมเอกสารตั้ง กก.ประเมินวิชาการ-แจ้งความ ตร.แล้ว
-
ขมวดปม! ปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการ ผศ./รศ. 'เก๊' ใครบ้างรู้เห็นขบวนการนี้?
-
อว.ส่งทีมสอบ มรภ.สารคาม ตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการเก๊-พบเอกสารสำคัญถูกลบทิ้ง
-
มีส.ส.ด้วย! อนุฯสอบวิชาการเก๊ มรภ.สารคาม พบ13 ชื่อขอตำแหน่งถูกปลอมลายเซ็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ
-
ปัดเอี่ยวปลอมลายเซ็น!ส.ส.ปริศนาแจง'อิศรา'ใช้เวลา 2 ปีขอ รศ.ตามขั้นตอน
-
ถูกปลอมลายเซ็น! กก.วิชาการ ส.ส.ปริศนา ไม่เคยถูกทาบทามอ่านงาน มรภ.สารคาม
-
เปิดข้อมูลลับ 12 อาจารย์ขอ'ผศ.-รศ'ลอตเดียว ส.ส.ปริศนา ปลอมลายเซ็นผู้ทรงฯอ่านงานวิชาการ
-
จวนจบแล้ว!อธิการฯมรภ.สารคามตอบ'อิศรา'สอบ กก.อ่านงานวิชการเก๊ใกล้ยุติ-ส่ง อว.ดูต่อ
-
ขอตำแหน่งปี 54 ได้ 55!อาจารย์คนที่ 2 ไม่รู้เรื่อง กก.อ่านงานฯถูกปลอมลายเซ็น มรภ.สารคาม
-
2-3ปีกว่าจะได้! อาจารย์คนที่ 3 ขอตำแหน่ง 'รศ.' ถูกปลอมลายเซ็น ผู้ทรงฯ มรภ.สารคาม 2 ราย
-
มรภ.มหาสารคามสั่งปลดออกอดีตอาจารย์-ไล่ออกพนักงาน เอี่ยวปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
พฤติการณ์อดีตอาจารย์-พนักงาน มรภ.มหารสาคาม ก่อนถูกลงโทษเอี่ยวปลอม กก.อ่านงานวิชาการ
-
ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ถอน รศ.-ผศ. 43 ราย หลังพบทุจริตปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ
-
ทางการ! ก.พ.อ.ชง'สภา มรภ.มหาสารคาม'ทบทวน 43 รศ.-ผศ.อีกที่ 'ม.พิษณุโลก'ถูกถอนด้วย 50 ราย
-
'สภา มรภ.มหาสารคาม'นัดประชุม 26 พ.ย.จับตาวาระถอดถอน 43 ผศ.-รศ.ตามคำสั่ง ก.พ.อ.
-
ส่ง ป.ป.ช.สอบทุจริต 2 ราย! มรภ.สารคาม รอความเห็นสภาวิชาการ ยังไม่เคาะถอดถอน 43 ผศ.-รศ
-
มติ สภา มรภ.มหาสารคาม ถอด 44 ผศ.-รศ. พร้อมเรียกเงินประจำตำแหน่งคืนทั้งหมด
-
มรภ.มหาสารคาม ตั้งคนนอกสอบเรียกคืนเงิน 44 ผศ.-รศ.มีสิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งถอดถอนได
-
เปิด 50 รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ถูกปลอมลายเซ็นประเมินผลงาน ผศ.-รศ. 'มรภ.มหาสารคาม'
-
'ธงพล พรหมสาขา ณ สกลนคร' ทีมสอบ มรภ.มหาสารคาม จากปลอมลายเซ็นถึงถอดถอน 44 ผศ.-รศ.