เผยมติ ก.อ. ผ่านระเบียบลงโทษวินัย 'อัยการสูงสุด’ แล้ว แต่เสียงส่วนใหญ่ 8 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบกำหนดนิยามสอบอดีต อสส.ไม่ได้ วิจารณ์ขรมกำหนดแบบนี้ ส่อช่วยเหลือผู้บริหารระดับสูงให้พ้นผิด แถมกรรมการบางราย เอี่ยว 6 คดี สำคัญ ยังเข้าประชุมร่วมพิจารณาด้วย ทั้งๆ ที่น่าจะมีส่วนได้ส่วนเสีย เตรียมชงรับรองการประชุมอีกครั้ง 6 ก.พ.67 นี้
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 มีการพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ…
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและใช้เวลานานในการพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าว โดยเฉพาะในประเด็นนิยามศัพท์เกี่ยวกับ "อัยการสูงสุด" ในการบังคับใช้กับระเบียบฯ นี้
"ตามนิยามของร่างระเบียบที่คณะทำงานยกร่างนำเสนอนิยามว่า ”อัยการสูงสุด“ หมายความว่า 'ผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ในขณะที่มีพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา' แต่ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้เป็น 'ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยและยังดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดอยู่ในขณะที่ถูกกล่าวหา' ซึ่งในที่สุดที่ประชุมมีมติ 8 ต่อ 1 เสียงให้เปลี่ยนนิยามตามที่เสียงส่วนใหญ่เสนอ" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า การแก้ไขนิยามของ "อัยการสูงสุด" ทำให้ระเบียบนี้ ไม่สามารถ บังคับใช้กับ "อดีตอัยการสูงสุด" ที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว และถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัย เพราะถ้าอ่านตามนิยามใหม่ต้องถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดเท่านั้น ดังนั้นในกรณีที่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง 6 คดีสำคัญ ได้กล่าวหาและมีการเสนอให้ลงโทษทางวินัยอดีตอัยการสูงสุด จึงไม่สามารถดำเนินการได้
“ การเขียนระเบียบในลักษณะดังกล่าว อาจถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุดให้พ้นผิด นอกจากนั้นในความเป็นจริงในขณะที่ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีการกล่าวหาว่ากระทำความผิด เพราะเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก ดังนั้น การกล่าวหาจึงมักเกิดขึ้นหลังจากอัยการสูงสุดพ้นตำแหน่งไปแล้ว” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเขียนระเบียบในลักษณะนี้ยังทำให้เกิดช่องว่างว่า เมื่ออัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งไปเป็นอัยการอาวุโสจะไม่สามารถสอบสวนและลงโทษทางวินัยได้ แม้จะปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่ากระทำความผิด ดังนั้น การที่ระเบียบสอบสวนและลงโทษสูงสุดไม่สามารถใช้ได้กับอัยการสูงสุดที่พ้นจากตำแหน่งและเป็นอัยการอาวุโส ในทางกลับกันก็ต้องกลับไปใช้ระเบียบการสอบสวนและลงโทษข้าราชการเหตุการณ์ทั่วไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนั้นในการพิจารณาร่างระเบียบฯ ของ ก.อ.ครั้งนี้ มีกรรมการบางรายที่ตกเป็นข่าว และคณะทำงานตรวจสอบคดีสำคัญ 6 คดี เสนอให้มีการลงโทษทางวินัยยังเข้าประชุมและร่วมพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าวด้วย ทั้งๆ ที่น่าจะมีส่วนได้ส่วนเสีย
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับร่างระเบียบฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของ ก.อ.แล้ว จะนำเข้ารับรองการประชุม ก.อ.ในวันที่ 6 ก.พ.2567 นี้
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
- พยานหลักฐานใหม่ รื้อฟื้นคดีบ.เครือเปรมชัยรุกป่า 6 พันไร่ กู้ศักดิ์ศรีอัยการ-ทวงคืนสมบัติชาติ
- ‘อสส.’สั่งฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์‘มาวินเบตฯ’-ออกหมายเรียก 4 ผู้ต้องหา นำตัวส่งศาล
- ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.' เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่
- ชัดๆ เปิดข้อเสนอสอบวินัยลงโทษ '6 บิ๊กอัยการ-พวก’ สั่งไม่ฟัองคดีรุกป่า 6 พันไร่