เผยผลประชุม ก.อ. 24 ม.ค. ยังไม่ได้พิจารณาวาระร่างระเบียบลงโทษวินัย อสส. เหตุเรื่องเพียบดำเนินการไม่ทัน เลื่อนถกใหม่นัดพิเศษ 31 ม.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 มีการประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เพื่อพิจารณาวาระสำคัญต่างๆ แต่ยังไม่มีการพิจารณาวาระเกี่ยวกับร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ... ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ (ดูรายละเอียดท้ายเรื่อง)
แหล่งข่าวกล่าวว่า การประชุม ก.อ.นัดนี้มีระเบียบวาระค่อนข้างมาก จึงทำให้ยังไม่สามารถพิจารณาวาระเกี่ยวกับร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ... ซึ่งถูกบรรจุในวาระที่ 15 ได้ทันในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ก.อ.ได้มีการนัดหมายประชุมนัดพิเศษอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค.2567 นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณาวาระเกี่ยวกับร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ...ด้วย
อนึ่งเกี่ยวกับการพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด พ.ศ... ของที่ประชุม ก.อ.นั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า มีการข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างระเบียบดังกล่าว ในข้อ 5 วรรค 2 ( 3 ) ว่า อาจขัดต่อพระราชบัญญัติองค์กรอัยการฯ เนื่องจากร่างระเบียบดังกล่าวระบุว่า เมื่ออัยการสูงสุดถูกกล่าวหา ให้คณะกรรมการกลั่นกรองข้อกล่าวหาดำเนินการเพื่อให้ได้ความจริงและเป็นธรรมโดยมิชักช้า
การกล่าวหาดังต่อไปนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองอาจไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้…
(3) การกล่าวหาเรื่องการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่มาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการฯบัญญัติว่า พนักงานอัยการ อิสระในการ พิจารณา สั่งคดี และการปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และตามกฏหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนมาตรา 22 ระบุว่า ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 21 ซึ่งได้แสดงเหตุผลอันสมควรประกอบแล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง
"จากบทบัญญัติของกฎหมายเห็นได้ชัดว่า การใช้ดุลพินิจ ในการสั่งคดีของพนักงานอัยการจะได้รับการคุ้มครองจะต้องมีเงื่อนไขอยู่บนความ สุจริตและเที่ยงธรรม นอกจากนั้น ยังต้องแสดงเหตุผลอันสมควรประกอบในการสั่งคดี ดังนั้น การที่ร่างระเบียบระบุลอย ๆ ว่า คณะกรรมการกลั่นกรองไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ได้ ถ้าเป็นการกล่าวหาอัยการสูงสุดเรื่องการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ อาจขัดต่อกฎหมาย“ แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า การที่ร่างระเบียบเขียนไว้ลอย ๆ เช่นนั้น อาจเปิดช่องให้คณะกรรมการกลั่นกรองยุติ หาข้อเท็จจริงและเสนอให้ ก.อ.ยุติเรื่อง เป็นการช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นอัยการระดับสูงได้และเปิดช่องให้มีการวิ่งเต้นเพื่อยุติเรื่องด้วย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในการพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าวครั้งนี้ มีกรรมการอัยการอย่างน้อย 2-3 คน ที่ถูกพาดพิงหรือกล่าวหาอยู่ในสำนวนคดีสำคัญ 6 คดีสำคัญ ดังนั้น ในการพิจารณาร่างระเบียบดังกล่าว ก.อ. ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องออกจากห้องประชุมเพราะมิฉะนั้นจะขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ
- ผลสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีฉาวเป็นเหตุ! ‘อำนาจ' สั่งยกร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อัยการสูงสุด’
- เสนอลงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ คดีสั่งไม่ฟ้อง บ.ซี.พี.เค. รุกป่า 6,000 ไร่
- ย้อนคดี บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ก่อนชงโทษวินัยร้ายแรงกราวรูด ‘บิ๊กอัยการ’ สั่งไม่ฟ้อง
- ชัดๆ เปิดไทม์ไลน์คดีรุกป่า 6 พันไร่ - อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้องสวนความเห็น 'สำนักชี้ขาด-รองฯ'
- หลักฐานชัด! บ.เครือเปรมชัย ยังถือครองที่ดินคดีรุกป่า 6 พันไร่-รัฐไม่ฟ้องขับไล่?
- พยานหลักฐานใหม่ รื้อฟื้นคดีบ.เครือเปรมชัยรุกป่า 6 พันไร่ กู้ศักดิ์ศรีอัยการ-ทวงคืนสมบัติชาติ
- ‘อสส.’สั่งฟ้องคดีบ่อนพนันออนไลน์‘มาวินเบตฯ’-ออกหมายเรียก 4 ผู้ต้องหา นำตัวส่งศาล
- ร่างระเบียบลงโทษวินัย ‘อสส.' เสร็จแล้ว! ถ้า ก.อ.เห็นชอบอาจประเดิมใช้คดีรุกป่า 6 พันไร่
- ชัดๆ เปิดข้อเสนอสอบวินัยลงโทษ '6 บิ๊กอัยการ-พวก’ สั่งไม่ฟัองคดีรุกป่า 6 พันไร่