กทม.คิกออฟเปิดประมูลรถเมล์ BRT รอบใหม่ ควบงานหารถ EV 23 คัน - เดินรถ วงเงินรวม 489 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 66 กทม.โดยสำนักงานระบบขนส่ง (สจส.) เผยแพร่ประกาศประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ราคากลาง 489,589,000 บาท (สี่ร้อยแปดสิบเก้าล้านห้าแสนแปดหมื่นเก้าพันบาท) ระยะเวลาดำเนินการ 64 เดือน (เตรียมพร้อมและจัดหารถ 4 เดือน นับถัดจากวันที่ลงนามในสัญญา และบริหารจัดการการเดินรถ 60 เดือน นับจากวันที่มีหนังสือแจ้งให้เริ่มให้บริการเดินรถ)
สาระสำคัญคือ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการเดินรถโดยสารพิเศษด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV) ให้บริการในเส้นทางช่องนนทรี - ถ.ราชพฤกษ์ ระยะทาง 20 กม. โดยมีขอบเขตของเนื้องาน ดังนี้
1.งานบริหารการเดินรถโดยสาร ประกอบด้วย งานจัดหารถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวนไม่น้อยกว่า 23 คัน แบตเตอรี่มีความจุไม่น้อยกว่า 150 kWh ชนิด Lithium iron phosphate หรือเทียบเท่าหรือดีกว่า ตัวถังชุบเคลือบผิวด้วยระบบไฟฟ้า
ส่วนลักษณะของรถโดยสารที่กำหนดไว้ จะต้องมีความยาว 10-12 เมตร รัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 12.5 เมตร จำนวนที่นั่งไม่น้อยกว่า 24 ที่นั่ง มีพื้นที่รองรับรถเข็นผู้พิการ (Wheel Chair) ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ได้แก่ ระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) อย่างน้อย 5 ตัว รวมถึงรถจะต้องวิ่งได้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมขังที่มีระดับความสูงไม่เกิน 30 ซม.
นอกจากจัดหารถแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องบริหารการเดินรถด้วย โดยจะต้องให้บริการแก่ประชาชนระหว่างเวลา 06.00 - 22.00 น. ทุกวันรวมวันหยุดนักขัตฤกษ์ กำหนดความถี่ที่ 15 นาที/คัน ช่วงเร่งด่วน 10 นาที/คัน ซึ่งจะมี 2 สายทางหลัก ได้แก่ เส้นทางที่ 1 ช่วงสถานีสาทร (B1) - สถานีราชพฤกษ์ (B12) และเส้นทางที่ 2 ช่วงแยกทางด่วนสาธุประดิษฐ์ ถึง แยกนราธิวาสราชนครินทร์ - รัชดาภิเษก ถึงสถานีสาทร (B1) ถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสวนลุมพีนี และในอนาคตจะมีเส้นทางต่อขยายจากสถานีสวนลุมพินีของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ต่อไปถึงสถานีเพลินจิตของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
2.งานบุคลากรจัดการเดินรถ ต้องจัดหาหัวหน้าบริหารการเดินรถ เพื่อควบคุม บริหาร และจัดการพนักงานขับรถ รวมถึงแก้ไขสถานการณ์ให้สามารถกลับมาเดินรถได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องจัดหาพนักงานขับรถให้เพียงพอด้วย
3.การตรวจสอบและดูแลการเดินรถ จัดระเบียบด้านความปลอดภัยของรถโดยสาร รับฟังความเห็นในการให้บริการ ประสานงาน กทม. เพื่อซ่อมแซมพื้นผิวถนนและอุปกรณ์จราจรที่ชำรุดเสียหาย และต้องบำรุงรักษาซ่อมแซมตามระยะเวลา
4.งานบริหารสถานีและงานซ่อมบำรุง ต้องมีแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำสถานี รวมถึงจะต้องซ่อมบำรุง หรือปรับปรุงสถานีให้พร้อมใช้งานเสมอ
5.งานบริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ กทม.ในการออกแบบและติดตั้งสถานีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง กำหนดไว้ที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำช่องนนทรี เป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถและศูนย์ซ่อมบำรุง
6.งานประกันวินาศภัย ต้องทำประกันวินาศภัยคุ้มครองทรัพย์สินของ กทม. ประกันภัยเพื่อความรับผิดชอบต่อบุคคลที่ 3 รวมถึงรถโดยสารทุกคันจะต้องมีประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารตามจำนวนที่นั่ง โดยความคุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ทุนประกันไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/คน ส่วนกรณีรักษาพยาบาล ทุนประกันไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/คน
สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณา กทม.จะใช้หลักเกณฑ์ราคาเหมารวมต่ำสุดเป็นหลัก
ที่มาภาพปก: วิกิพีเดีย
อ่านประกอบ
- BTS คว้าเดินรถเมล์ BRT ฟรีอีก 3 เดือน เริ่ม 1 ก.ย.- 30 พ.ย. 66
- BTS – AMR ชิงประมูลเดินรถรถเมล์ BRT 38 ล้าน กทม.เปิดแผนปรับปรุงใหญ่
- กทม.เปิดประกวดราคาจ้างวิ่งรถเมล์ BRT ระยะ 3 เดือน วงเงิน 38 ล้าน
- BTS สนใจเดินรถ BRT รอบใหม่ ชี้รอดูเงื่อนไข TOR ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ไม่ล้มรถเมล์ BRT เล็งจ้างเดินรถประเมินผลก่อน 1 ปี