เอกชน 2 ราย กลุ่ม BTS และ AMR ยื่นซองประมูลเดินรถ-ซ่อมบำรุงรถเมล์ BRT วงเงิน 38 ล้านบาท คาดรู้ผลก่อนสิ้นเดือนนี้ กทม.แบไต๋จ้าง 3 เดือน เตรียมต่ออีก 10 เดือนในปีงบฯ 67 เปิดแผนรื้อใหญ่ วางสัมปทาน 5 ปี ซื้อรถใหม่ใช้ EV เพิ่มจุดจอด ปรับแนวเส้นทางใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักจราจรและขนส่ง (สจส.) ออกประกาศประกวดราคาจ้างโครงการบริหารจัดการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 38,913,000.00 บาท ราคากลาง 38,343,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน นับจากวันที่ให้เริ่มงาน
โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2566 นี้ ระหว่างเวลา 13.00 - 16.00 น.นั้น
- กทม.เปิดประกวดราคาจ้างวิ่งรถเมล์ BRT ระยะ 3 เดือน วงเงิน 38 ล้าน
- BTS สนใจเดินรถ BRT รอบใหม่ ชี้รอดูเงื่อนไข TOR ก่อน
- ‘ชัชชาติ’ ไม่ล้มรถเมล์ BRT เล็งจ้างเดินรถประเมินผลก่อน 1 ปี
ล่าสุด แหล่งข่าวจากทม.เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในวันดังกล่าว (8 ส.ค.66) มีผู้มายื่นซองข้อเสนอจำนวน 2 ราย ได้แก่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) และ บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเชีย (AMR) โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเริ่มกระบวนการพิจารณาซองข้อเสนอของทั้ง 2 บริษัท โดยเริ่มจากคุณสมบัติและผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ก่อนที่จะรอให้มีการอุทธรณ์ผลภายใน 7 วันนับจากวันที่ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด และจะลงนามในสัญญาจ้างได้ก่อนวันที่ 31 ส.ค.2566 นี้ เพื่อให้การให้บริการรถเมล์ BRT ไม่ขาดตอน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกทม.ระบุว่า ที่ให้ดำเนินการจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงไปก่อน 3 เดือน ก็เพราะว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงปีงบประมาณ 2566 โดย สจส.เตรียมแผนงานสำหรับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงต่ออีก 10 เดือนในปีงบประมาณ 2567 ไว้แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำข้อมูล ซึ่งหลังจากการจ้างเดินรถอีก 10 เดือนแล้วเสร็จ ฝ่ายบริหารมีแผนงานที่จะปรับปรุงระบบรถเมล์ BRT ใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง
@แย้มแผนรื้อใหญ่ - สัมปทาน 5 ปี
“คาดว่าหลังจากจ้างเดินรถแล้วเสร็จ ต่อไปจะเริ่มปรับปรุงระบบรถเมล์ BRT ใหม่ทั้งหมด แผนเบื้องต้น วางไว้ว่า จะทำในรูปแบบให้สัมปทานเอกชน โดยเอกชนจะต้องจัดหารถเมล์ใหม่ บริหารระบบเดินรถ และซ่อมบำรุง ระยะเวลาสัมปทานครั้งละ 5 ปี เท่าที่มีการหารือกันในตอนนี้ จะยังกำหนดให้วิ่งในเลนเฉพาะที่ทำไว้เดิม และจะให้ระบบรถเมล์จากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เข้ามาวิ่งร่วมในเลนเฉพาะนี้ด้วย ส่วนรถเมล์ จากเดิมที่เป็นรถเมล์ขนาดใหญ่ใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซ NGV จะลดไซส์ลงมา โดยให้เป็นรถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด รวมถึงจะปรับปรุงแนวเส้นทางใหม่ เพิ่มจุดจอดรถมากขึ้น ส่วนถสานีที่ออกแบบไว้ ยืนยันว่าไม่ทุบทิ้ง แต่จะทำทางลาดที่สามารถขึ้น-ลงจากรถเมล์ที่เล็กลงได้ เหล่านี้คือแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น” แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวและว่า
สำหรับระบบรถเมล์ด่วนพิเศษ หรือ BRT ช่วงช่องนนทรี–ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15.9 กม. ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยแบ่งเป็นวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) อยู่ที่ 10,000 -12,000 คน/วัน ส่วนวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 4,000 – 6,000 คน/วัน
@พลิกปูม 2 บริษัทร่วมชิงเดินรถเมล์ BRT
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนที่มายื่นข้อเสนอ คือ BTSC และ AMR นั้น ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจาก BTSC กล่าวว่า ในฐานะผู้รับสัมปทานเดินรถเดิม ยืนยันว่าที่ผ่านมา บริษัทประสบปัญหาขาดทุนทุกปี เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉลี่ยขาดทุนปีละ 100 ล้านบาท แต่มีความสนใจที่จะร่วมประกวดราคาในการจ้างเดินรถเมล์ BRT รอบใหม่ รวมถึงสนใจที่ร่วมประมูลงานปรับปรุงรถเมล์ BRT ใหม่ ทั้งการปรับปรุงระบบรถ สถานี และการซ่อมบำรุง โดยหากมีการเปิดประกวดราคาระบบรถเมล์ BRT ใหม่ในปีหน้า (2567) BTS ก็สนใจจะเข้าประมูลรถเมล์ BRT รอบใหม่นี้ด้วย
ส่วน AMR นั้น จากการสืบค้นผ่านเว็บไซต์ของบริษัท (https://www.amrasia.com/th/home) พบว่า เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integrator: SI) รวมถึงให้บริการงานดูแลรักษาและซ่อมบำรุงระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ แบบครบวงจร
ผลงานสำคัญที่ผ่านมาของบริษัทนี้คือ งานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (Electrical and Mechanical System: E&M) ระบบเดินรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสายใต้ สถานีแบริ่ง-สถานีเคหะสมุทรปราการ จำนวนรวม 9 สถานี และสายเหนือ สถานีหมอชิต-สถานีคูคต จำนวนรวม 16 สถานี และระบบศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot Facilities) จำนวน 2 แห่ง และงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) แบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี - สถานีคลองสาน ระยะที่ 1