‘ชัชชาติ’ ต่ออายุ BRT ยันไม่เลิก เล็งจ้างเดินรถไม่เก็บตังค์ 1 ปี ก่อนประเมินใหม่ เพื่อยกเครื่อง แนวโน้มรถเล็กลง เพิ่มจุดจอดตามสี่แยก-ทางม้าลายแทน เผยกันงบ 13 ล้าน จ่อประกวดราคาในเดือน ก.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit:BRT) ที่จะหมดอายุสัมปทาน วันที่ 31 ส.ค. 2566 นี้นั้น เบื้องต้น นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.คิดไว้แล้ว โดยจะให้วิ่งต่อไปก่อน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร ซึ่งจากเดิมที่ให้เอกชน คือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC วิ่ง โดยเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย โดยค่าโดยสารจะเป็นรายได้เข้า กทม. ส่วนเอกชนก็หารายได้จากการโฆษณาไป แต่สุดท้ายพบว่า ไม่คุ้มที่จะดำเนินการต่อ รายได้ที่ได้มาก็เอาไปจ่ายค่าบริหารจัดการหมด
อีกปัญหาของรถ BRT คือ ต้องเพิ่มรถ เพราะที่ผ่านมาใช้เลนจราจรไม่คุ้มและมีจำกัดเพียง 25 คัน แต่เสียไปส่วนมาก ใช้ได้ 10 คันโดยประมาณ ทำให้ความถี่ในการให้บริการของรถ BRT ปัจจุบันอยู่ที่ 15 นาที/คัน มีความจำกัด ป้ายจอดรถของ BRT อยู่ห่างกันมาก และเมื่อเข้าสู่ถ.พระราม 3 จะพบปัญหาจราจรติดขัดจากการที่มีรถเข้ามาใช้เลนของ BRT ด้วย
ดังนั้น ในความเห็นของตน จะต้องทำให้รถมีความถี่ขึ้น และเพิ่มป้ายจอดรถมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มป้ายจอดรถมากขึ้นจะใช้โมเดลเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการทำป้ายจอดบนทางม้าลาย ให้คนขึ้นลงตรงนั้นสะดวกขึ้น ยืนยันว่า จะไม่ยกเลิกโครงการนี้ แต่ต้องใช้ให้คุ้มกว่านี้ อาจจะลดสเปกจากรถปัจจุบันเป็นรถ EV ให้เล็กลง โดยปัจจุบันมีผู้มช้บริการเฉลี่ยวันละ 9,000-10,000 คน/วัน
@ประมูลจ้างเดินรถในเดือนก.ค.นี้
ด้านแหล่งข่าวจากกทม. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า โครงการนี้ กทม.โดยสำนักสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) จะเป็นผู้ดำเนินการเอง ในเบื้องต้นจะมีการออกประกาศจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนมาเดินรถ BRT ชั่วคราว และซ่อมบำรุงพร้อมจ้างแม่บ้านและพนักงานรักษาปลอดภัยดูแลแต่ละสถานี วงเงิน 13 ล้านบาท โดยคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในเดือน ก.ค. 2566 นี้ เพื่อให้ได้ตัวเอกชนมาเดินรถได้ทันกับกรอบเวลาที่จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 31 ส.ค. 66 นี้
หลังจากนั้น ในช่วงที่เดินรถ 1 ปี จะมีการประเมินผล เพื่อทำการปรับปรุงรถ BRT ใหม่ ในเบื้องต้น ฝ่ายบริหารเห็นตรงกันว่า ควรลดขนาดรถ BRT จากเดิมให้เป็นรถเมล์ EV แทน, ส่วนสถานีอาจจะมีการปรับปรุงในบางแห่ง และจะต้องมีบางแห่งที่จะถูกยกเลิกไป แต่จะเพิ่มเป็นจุดจอดตามสี่แยก หรือบนทางม้าลายแทน ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่
สำหรับแนวเส้นทางจะใช้แนว BRT เดิม วิ่งไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ผ่านแยกถนนจันทน์ แยกนราราม 3 เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 3 ลอดใต้สะพานพระราม 9 เข้าสู่ถนนรัชดาภิเษก ขึ้นสะพานพระราม 3 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ไปสิ้นสุดที่แยกถนนรัชดาภิเษก-ถนนราชพฤกษ์
ขณะที่สถานีในเบื้องต้นจะใช้สถานี BRT เดิม 12 สถานี ได้แก่ สถานีสาทรจะเชื่อมกับบีทีเอสช่องนนทรี อาคารสงเคราะห์ เทคนิคกรุงเทพ ถนนจันทน์ นราราม 3 วัดด่าน วัดปริวาส วัดดอกไม้ สะพานพระราม 9 เจริญราษฎร์ สะพานพระราม 3 และราชพฤกษ์ จะเชื่อมกับบีทีเอสตลาดพลู
แนวเส้นทางและจำนวนสถานีของรถเมล์ BRT
ภาพจาก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS)
ที่มาภาพ: กรุงเทพธนาคม
อ่านประกอบ