‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เดือน ม.ค.66 ขยายตัว 5.02% โตต่ำสุดในรอบ 9 เดือน หลังราคา ‘พลังงาน-อาหาร’ ชะลอตัว ขณะที่ ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ ยังเติบโตที่ระดับ 3.04%
......................................
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน ม.ค.2566 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ม.ค.2566 เท่ากับ 108.18 ขยายตัว 5.02% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการชะลอตัวจากเดือน ธ.ค.2565 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 5.89%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.2566 ดังกล่าว เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและอาหาร ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัว 7.70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวที่ระดับ 3.18%
สำหรับสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซหุงต้ม กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ไข่ไก่ กระเทียม ข้าวสารเจ้า และต้นหอม เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น เนื้อสุกร ขิง ถั่วฝักยาว พริกสด ทุเรียน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ผ้าอ้อมสำเร็จ แป้งผัดหน้า เครื่องรับโทรทัศน์ และมะขามเปียก เป็นต้น
และราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น รองเท้ากีฬา ค่าน้ำประปา เสื้อเชิ้ตเด็ก ค่าบริการที่จอดรถ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี หนังสือพิมพ์ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ม.ค.2566 อยู่ที่ 104.06 ขยายตัว 3.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.2565) ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 3.23%
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.2566 ว่า คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง และน่าจะขยายตัวไม่ถึง 5% โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก
นายพูนพงษ์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 ว่าจะขยายตัว 2-3% โดยมีค่ากลาง 2.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
“เดือนที่แล้ว ธ.ค.2565 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 5.89% เดือนนี้ (ม.ค.2566) ชะลอลงเหลือ 5.03% และเดือนหน้า (ก.พ.2566) เราก็คิดว่าจะชะลอลงเรื่อยๆ ไม่ถึง 5% แน่นอน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ หรือเหตุการณ์พลิกผันใดๆเกิดขึ้น เงินเฟ้อจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปลายปี แล้วก็ทำให้ทั้งปี เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในช่วงที่เราคาดการณ์ไว้ คือ อยู่ในช่วง 2-3% โดยมีค่ากลาง 2.5% และตัวเลขที่ว่านี้ก็อยู่ในกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง กำหนดไว้ คือ อยู่ในกรอบ 1-3%” นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.65 ขยายตัว 5.89% เฉลี่ยทั้งปีโต 6.08%-คาดปีนี้เหลือ 2-3%
เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 5.55% ชะลอเป็นเดือนที่ 3-ส่งผ่านต้นทุนพลังงานดัน Core CPI แตะ 3.22%
ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 2! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.ขยายตัว 5.98%-Core CPI โต 3.17%
‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เดือน ก.ย.65 ขยายตัว 6.41%-Core CPI ยังโตเกิน 3%
ถึงจุดสุดสูงแล้ว! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.ขยายตัว 7.86%-เฉลี่ย 8 เดือน 6.14%