เปิดข้อมูลอีกชุด! เบื้องหลัง 'ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร' ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กลับมติคกก.สอบสวนวินัยร้ายแรง ลงโทษ 'จุรีพร ขันตี' ถูกจับสดรับเงิน 8 หมื่น จากไล่/ปลดออก เหลือตัดเงินเดือน ในที่ประชุม อ.ก.พ. เหตุได้รับรายงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง วธ.อยุธยา ทุกข้อกล่าวหา - เจ้าตัวนัดแจงอิศรา เป็นทางการ 1 ธ.ค.66 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกจับกุมขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท จากการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในช่วงเดือน ก.ย. 2565 ปัจจุบันได้ย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิม หลังผลการสอบสวนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พบว่า มีความผิดแค่วินัยไม่ร้ายแรง
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
- ให้มาช่วยงานส่วนกลาง! ปลัดก.วัฒนธรรม สั่งย้ายด่วน วธ.อยุธยาถูกจับสดทุจริตเงิน 8 หมื่น
- ข่าวจริง! วธ.อยุธยา ถูกจับสดคดีจ้างทิพย์จัดพิธีกรรมฯได้คืนตำแหน่ง-สะพัดแค่ผิดไม่ร้ายแรง
- ข้อมูลลับ! วธ.อยุธยาได้คืนตำแหน่ง อ.ก.พ.หักล้างผลสอบวินัย จากไล่/ปลดออก เหลือ ตัดเงินเดือน
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง กรณี นางจุรีพร ที่ปรากฏข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง มีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมากเห็นควร ลงโทษในระดับปลดออก ส่วนฝ่ายคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อยเห็นควร ลงโทษในระดับไล่ออก แต่ที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 ที่นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมแทนนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กลับมติให้ลงโทษนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ลงโทษตัดเงินเดือน ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นางจุรีพร สามารถย้ายกลับไปปฏิบัติหน้าที่ วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ตามเดิม
แหล่งข่าว กล่าวว่าเกี่ยวกับการสอบสวนคดีนางจุรีพร นั้น คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง มีความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย จริง โดยคณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างมาก เห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้อนุมัติโครงการจัดพิธีกรรมทาศาสนา "พิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ" วงเงินงบประมาณ 80,000 บาท โดยไม่มีการจัดจ้างผู้รับจ้างจัดงานจริงตามสัญญา และมีการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน จำนวน 80,000 บาท เป็นเท็จ
แหล่งข่าวระบุว่า คณะกรรมการฯ เสียงข้างมาก เห็นว่าแม้มีการจัดงานดังกล่าวจริง แต่พฤติการณ์เป็นการทำให้ระบบราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นการกระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาลและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) ซึ่งนางจุรีพร มีหน้าที่ แต่กระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82 อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (7) แต่ยังไม่เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85(1) อีกทั้งนางจุรีพร รับราชการมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2531 รวมเป็นระยะเวลา 35 ปี
"คณะกรรมการเสียงข้างมากจึงเห็นควรลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง นางจุรีพร ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 85 (4) และ (7) ในระดับโทษปลดออก" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสอบสวนเสียงข้างน้อย มีความเห็นแย้ง โดยเห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรีนโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) (4) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2503 รวมถึงแจ้งเวียนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้การลงโทษผู้กระทำผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ควรลงโทษเป็นไล่ออกจากราชการ
"คณะกรรมฯ เสียงข้างน้อย ยังเห็นด้วยว่าการนำเงิน ที่ทุจริตไปแล้วมาคืนหรือมีเหตุอันควรปรานีอื่นใด ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจากราชการ จึงเห็นควรลงโทษไล่นางจุรีพร ออกจากราชการ" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะที่ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนางจุรีพร เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตราา 82 (2) สมควรลงโทษตัดเงินเดือน นางจุรีพร ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน เท่านั้น
ส่วนเหตุผลที่ ปลัดกระทรวงฯ กลับมติคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง สมควรลงโทษตัดเงินเดือน นางจุรีพร ร้อยละ 4 เป็นเวลา 2 เดือน แหล่งข่าวกล่าวว่า ทราบว่า ในช่วงเดือน ก.ค.2566 นางจุรีพร ได้ทำบันทึกถึง ปลัดกระทรวงฯ แจ้งให้ทราบว่า สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 1 ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีนางจุรีพร ที่กองบังคับการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งไปให้เพื่อพิจารณาดำเนินคดีทางอาญา และความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นางจุรีพร ในทุกข้อกล่าวหา
"นั้นจึงเห็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นางยุพา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กลับมติคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ดังกล่าว" แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางกระทรวงวัฒนธรรม ไปขอสัมภาษณ์ นางยุพา ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจง เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ออกไปประชุมนอกกระทรวงฯ และขอนัดหมายให้ข้อมูลต่อสำนักข่าวอิศรา ในวันที่ 1 ธ.ค.2566 เวลา 11.00 น. อีกครั้ง
หากได้รับคำชี้แจงจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นทางการแล้ว สำนักข่าวอิศรา จะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป