เปิดหนังสือ 3 หน่วยงาน แนะแก้จุดอ่อนมาตรการพักหนี้ฯเกษตรกร ‘ธปท.’ หนุนรัฐให้ความสำคัญแก้ปัญหา ‘หนี้เรื้อรัง’ มีกลไกจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชำระหนี้ต่อเนื่อง ขณะที่ ‘สศช.’ ชี้ควรใช้มาตรการระยะ ‘สั้นๆ’ เพื่อป้องกันปัญหาการสะสมของหนี้สินเกษตรกร
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักหนี้เกษตรกร ระยะที่ 1 โดยจะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมมาตรการฯ 2.69 ล้านคน และในปีแรกของมาตรการฯรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.1 หมื่นล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : งบชดเชยดอกเบี้ย 1.1 หมื่นล.! ครม.ไฟเขียวพักหนี้ฯเกษตรกร 2.7 ล้านราย พ่วงมาตรการฟื้นฟูฯ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. มีรายละเอียด ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือลับด่วนที่สุดที่ นร 0506/ว(ล) 20250 ลงวันที่ 25 ก.ย. 2566 แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่อง มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยขอให้ ธปท. เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. นั้น
ธปท. ขอเรียนว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาเน้นไปที่การพักชำระหนี้ ทำให้พบว่าลูกหนี้มีหนี้เพิ่ม ขาดวินัยการเงิน ลูกหนี้กว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ตสินเชื่อ ธ.ก.ส. เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ธปท. จึงเห็นว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างจริงจัง
แม้มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่เสนอต่อ ครม. ในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้ที่ผ่านมาในบางประเด็น แต่มีส่วนที่ ธปท. ยังมีข้อกังวล เนื่องจากแนวทางในภาพรวมอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นดังนี้
1.การพักชำระหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลักของรัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรทุกกลุ่ม จากสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน รัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มหนี้เรื้อรังที่มีจำนวนกว่าครึ่งของลูกหนี้ ธ. ก.ส. ที่มีภาระหนี้สูงจนไม่สามารถชำระหนี้เพื่อลดต้นเงิน และไม่สามารถแก้ไขหนี้ด้วยตนเองได้ ซึ่งยังไม่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม (policy gap)
2.การพักชำระหนี้ในครั้งนี้เป็นการพักหนี้แบบวงกว้าง ดังนั้น ภายใต้งบประมาณที่จำกัดรัฐจึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามยอดหนี้คงค้างไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้การช่วยเหลือไม่ตรงจุด ทำให้รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกหนี้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุม
3.การพักหนี้โดยไม่มีกลไกจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชำระหนี้ต่อเนื่อง จะส่งผลต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่เคยมีพฤติกรรมชำระหนี้ดีอาจหยุดชำระหนี้ เกิดปัญหา moral hazard ช่วยให้ลูกหนี้ตกอยู่ในวังวนหนี้โดยไม่จำเป็น และกลายเป็นหนี้เรื้อรังมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นภาระของภาครัฐ และ ธ.ก.ส. ในระยะข้างหน้า
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ในครั้งนี้ ธบท. เห็นว่าควรพิจารณาแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันมีให้ปัญหาหนี้เกษตรกรเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้น ดังนี้
1.กำหนดแนวทางแก้ไขหนี้จะต้องสอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม โดยควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ที่การพักหนี้จะยิ่งทำให้ความเป็นหนี้เรื้อรังยืดเยื้อขึ้น แต่ควรส่งเสริมให้ ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพลูกหนี้อย่างทั่วถึง รวมทั้งรัฐควรมีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ที่ทำให้ลูกหนี้สามารถลดภาระหนี้ได้ในระยะยาว
2.การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรมีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชำระหนี้ต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรการที่ให้ผลตอบแทนแก่ลูกหนี้มากพอที่จะยังชำระหนี้ต่อ ซึ่งอาจทำได้ โดย (1) หากลูกหนี้ชำระหนี้ระหว่างเข้าร่วมมาตรการให้ตัดชำระต้นทั้งจำนวน (2) รัฐอาจมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติม เช่น การให้เงินสมทบเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนของการชำระหนี้ เป็นต้น
3.การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรเป็นการพักระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในระยะต่อไป โดยในระหว่างพักชำระหนี้ต้องกำหนดให้ ธ.ก.ส. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้เฉพาะรายให้แก่ลูกหนี้ทุกรายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาพักชำระหนี้ในปีแรก รวมถึงจัดเตรียมแนวทางและระบบงานสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาได้อย่างทั่วถึงในระยะต่อๆ ไป เพื่อป้องกันคุณภาพสินเชื่อที่อาจกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพเฉียบพลัน (NPL cliff effect) หลังสิ้นสุดมาตรการ
4.การพักหนี้ในครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกหนี้ถึงเจตนารมณ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างชัดเจน ครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ประเด็นหลัก ที่แตกต่างออกไปจากมาตรการในอดีต ได้แก่ (1) เกษตรกรต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ และต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด (2) เมื่อเกษตรกรเข้าโครงการรัฐยังสนับสนุนให้ลูกหนี้ยังชำระหนี้โดยมีมาตรการจูงใจ
โดยการสื่อสารต้องทำให้ชัดเจนตั้งแต่ การประกาศนโยบายในวงกว้างจากรัฐบาล การสื่อสารมาตรการของ ธ.ก.ส. ไปยังประชาชนและพนักงานสาขาของ ธ.ก.ส. รวมถึงพนักงานสาขา ธ.ก.ส. จะต้องชี้แจงและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อลูกหนี้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ลูกหนี้สามารถวางแผนบริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสม
5.กำหนดแผนการติดตามและประเมินประสิทธิภาพโครงการอย่างต่อเนื่อง และรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ เพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการ ความคุ้มค่าของงบประมาณรวมทั้ง ติดตามการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของลูกหนี้ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการหรือไม่
เช่น การติดตามว่าเม็ดเงินที่รัฐได้ช่วยลดภาระการชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพที่มีการตั้งวงเงินเพิ่มเติมนั้น ได้นำไปลงทุน ปรับเปลี่ยน หรือขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้นตามเป้าประสงค์ของโครงการหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการทบทวนรายละเอียดของโครงการในระยะต่อไป
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้
1.เห็นควรรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ถือเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้
โดยมาตรการพักชำระหนี้ควรพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงกับลูกหนี้ที่มีปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนอย่างแท้จริง และควรนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาการสะสมของหนี้สินเกษตรกรซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว
ดังนั้น สำนักงานฯ จึงมีความเห็นว่า เห็นควรให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิจารณาคัดกรองผู้ที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นลูกหนี้ที่มีความเดือดร้อนทางด้านสภาพคล่องอย่างแท้จริง เพื่อมิให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ เกิดแรงจูงใจที่จะไม่ชำระหนี้ และเห็นควรมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลของเกษตรกร ร่วมกันประเมินสภาพปัญหาของผู้ที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมแก่สภาพปัญหาของเกษตรกรแต่ละราย
เช่น การลดดอกเบี้ย การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การให้ความช่วยเหลือทางด้านต้นทุนการผลิตการตลาด เป็นต้น นอกเหนือจากการพักชำระหนี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาวและเพื่อเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ลดแรงกดดันที่อาจจะส่งผลต่อฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. และภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป
สำนักงบประมาณ
สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วขอเรียน ดังนี้
1.กระทรวงการคลังได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMES)
รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMES บูรณาการและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะรับทราบการดำเนินการดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
2.มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ธ.ก.ส. โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำหรับลูกหนี้ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99
โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ในระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567 ภายในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท สำหรับมาตรการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เป็นการส่งเสริมและฟื้นฟูอาชีพให้แก่ลูกหนี้ให้มีศักยภาพ
โดยบูรณาการความร่วมมือกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอก สำหรับการอบรมเกษตรกรประมาณ 300,000 ราย วงเงินงบประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธใก.ส. จะช่วยส่งเสริมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพ รวมทั้งสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากนำไปสู่การขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ครบถ้วนแล้ว ก็เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 12,096 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป
อ่านประกอบ :
งบชดเชยดอกเบี้ย 1.1 หมื่นล.! ครม.ไฟเขียวพักหนี้ฯเกษตรกร 2.7 ล้านราย พ่วงมาตรการฟื้นฟูฯ
แนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น! นักวิจัยฯเปิดผลศึกษา‘พักหนี้เกษตรกร’-แนะทำในวงจำกัด-ระยะสั้น
‘อดีตผู้ว่าฯ ธปท.’เตือนรบ.อย่าทำนโยบายแบบ‘เหวี่ยงแห’-ต้องไม่ทำลายภูมิคุ้มกันการคลังฯปท.
‘ผู้ว่าฯธปท.’แนะรัฐบาล‘พักหนี้ฯ-แจกเงินดิจิทัล’เฉพาะกลุ่ม-ย้ำไม่เปลี่ยน‘นโยบายการเงิน’
เปิด(ร่าง)คำแถลงนโยบายรัฐบาล‘เศรษฐา’ งานเร่งด่วน‘แจกเงินดิจิทัล-พักหนี้เกษตรกร-แก้รธน.’
จ่ายดบ.4.7หมื่นล.! พลิกมติครม.‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-บิ๊กตู่’ ก่อน‘พท.’ปักธงพักหนี้เกษตรฯ3ปี