‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งไม่รับคำขอ ‘ให้พิจารณาคดีใหม่’ คดีสั่ง ‘กรมควบคุมมลพิษ’ ชดใช้ค่าโง่คดีบ่อบำบัดน้ำเสีย 'คลองด่าน’ 9.6 พันล้าน เหตุไม่อยู่ใน 'หลักเกณฑ์' ที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ ในคดีหมายเลขดำที่ 791/2554 หมายเลขแดงที่ 18/2555 และคดีหมายเลขดำที่ 809/2554 หมายเลขแดงที่ 2090/2555 (กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน) ระหว่าง บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้องที่ 1 กับพวกรวม 6 ราย กับกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้าน เนื่องจากศาลฯเห็นว่า คำขอดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ.241-242/2561 หมายเลขแดงที่ อ.139-140/2565 พิพากษาให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554 ที่ให้ผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยและคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ร้องทั้งหก
ผู้คัดค้านจึงยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค.2565 ต่อศาลว่า ผู้คัดค้านเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 ที่วินิจฉัยว่า ผู้ร้องบางรายมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงให้ผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาโครงการฯ อันเป็นพยานหลักฐานใหม่ และคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาซึ่งถึงที่สุดดังกล่าว
การที่ศาลปกครองสูงสุดไม่ได้นำข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีอาญาตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีฉ้อโกงมาพิจารณา จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ถือว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.241-242/2561 หมายเลขแดงที่ อ.139-140/2565 ซึ่งศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อม.2/2551 และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตที่ 3501/2552 ผู้คัดค้านได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวมาแต่แรกในชั้นพิจารณาคดีครั้งก่อน แม้ต่อมาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิตดังกล่าว ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
แต่ก็เป็นเพียงผลแห่งคดีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิตที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างและเสนอไว้ในคดีก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของศาลแขวงดุสิตที่ผู้คัดค้านเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ร้องบางรายเป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการฯ
ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) ต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่า สัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มเอกชนอยู่ก่อนแล้ว แต่ผู้คัดค้านไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8064/2560 จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าว เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยไว้และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น
และในการพิจารณาคดีปกครองไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายที่กำหนดให้ศาลปกครองต้องนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามาประกอบคำวินิจฉัยคดีปกครอง และคดีปกครองก็มิใช่คดีแพ่งที่จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาตามมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งศาลปกครองสูงสุดมีดุลพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐานเพื่อใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดี
ข้ออ้างของผู้คัดค้าน (กรมควบคุมมลพิษ) ที่ว่าศาลปกครองสูงสุดไม่นำข้อเท็จจริงในคดีฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาพิจารณา จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลปกครองสูงสุดมิใช่กรณีที่มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้าน จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนคำขอพิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย.2565 ของผู้คัดค้านที่ยื่นต่อศาลปกครองกลางอีกฉบับในภายหลังนั้น เห็นว่า คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้คัดค้าน ลงวันที่ 15 มี.ค.2565 และลงวันที่ 2 มิ.ย.2565 อันเป็นคำฟ้องนั้น ต่างมีผู้คัดค้านเป็นผู้ยื่นคำขอเช่นเดียวกัน และเมื่อในขณะที่ผู้คัดค้านยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย.2565 นั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค.2565 ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่บรรยายมาในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับเป็นเรื่องเดียวกันกับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค.2565 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
จึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ศาลรับไว้พิจารณาตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ซึ่งปัญหาในเรื่องการฟ้องซ้อนเป็นเงื่อนไขแห่งการฟ้องคดี และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบเดียวกัน ศาลจึงไม่อาจรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 2 มิ.ย.2565 ของผู้คัดค้านไว้พิจารณาได้
ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ลงวันที่ 15 มี.ค.2565 และลงวันที่ 2 มิ.ย.2565 ของผู้คัดค้านไว้พิจารณา และให้สำนักงานหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป เมื่อได้รับคำสั่งนี้จากศาล ทั้งนี้ ตามที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาโดยมีคำบังคับให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.2554 ที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด
และบริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ทั้ง 6 บริษัท จำนวน 4,983,342,383 บาท และจำนวน 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ย 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 ดอลลาร์สหรัฐ ที่เป็นเงินค่าจ้างในการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2546 จนถึงวันชำระเสร็จ และให้กรมควบคุมมลพิษ คืนหนังสือค้ำประกันพร้อมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 48 ล้านบาท ให้บริษัททั้งหก รวมเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้บริษัททั้งหกตามคำชี้ขาดประมาณ 9,600 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ขาดอายุความ! ‘ศาลปค.’เพิกถอนคำสั่ง‘คพ.’ ให้‘ประพัฒน์-พวก’ชดใช้ 2.3 หมื่นล.คดีคลองด่าน
ไม่มีข้อเท็จจริงใหม่!‘ศาลปค.สูงสุด’ยกคำขอรื้อ‘คดีคลองด่าน’-สั่งจ่ายค่าโง่ 9.6 พันล้าน
ศาลปกครองพิพากษาสั่ง‘3 อดีตบิ๊ก คพ.’ชดใช้ค่าเสียหายคดีคลองด่านกว่าหมื่นล.
อุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง 3 อดีตบิ๊ก คพ.คดีคลองด่าน-อสส.ยังยื่นฎีกาสู้คดีต่อ
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา! ล้วงเหตุผลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง 3 บิ๊ก คพ.คดีคลองด่าน
เรียก'ประพัฒน์' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6 พันล. ต้นเหตุให้รัฐ'เสียค่าโง่' คลองด่าน