“...จากคำให้การดังกล่าวบ่งบอกได้ว่า กรมควบคุมมลพิษรับว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต หรือจำเลยที่ 2-3 หรือจำเลยคนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นเจตนาพิเศษที่ต้องดูการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นข้อสำคัญ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา…”
.................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา อดีตผู้อำนวยการกองจัดการน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เป็นจำเลยที่ 1-3 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กรณีถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียควบคุมมลพิษท้องที่ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 และส่งอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีอาญา
โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี จำเลยทั้ง 3 ราย แต่ชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ส่งผลให้ฝ่ายอัยการยื่นฎีกา ยกเว้นจำเลยที่ 1 ที่จะไม่ยื่นฎีกาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากขาดอายุความ แต่ยังยื่นฎีกาตามมาตรา 151 อยู่ (อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง 3 อดีตบิ๊ก คพ.คดีคลองด่าน-อสส.ยังยื่นฎีกาสู้คดีต่อ)
มาดูรายละเอียดในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กันดูบ้างว่าเป็นอย่างไร?
คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยสำคัญคือ จำเลยทั้ง 3 ราย กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือเก็บรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นความเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ และฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่
โดยกรณีจำเลยที่ 1 นั้น พ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้วกว่า 16 ปี ดังนั้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่มีอายุความ 15 ปี จึงขาดอายุความ แต่ความผิดตามมาตรา 151 ที่มีอายุความ 20 ปียังไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2-3 พ้นจากหน้าที่ราชการยังไม่ถึง 15 ปี คดีจึงยังไม่ขาดอายุความทั้งมาตรา 157 และมาตรา 151
ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2540 กรมควบคุมมลพิษ โดยจำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อดำเนินการในส่วนต่าง ๆ บางชุดมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ บางชุดมีจำเลยที่ 3 ร่วมเป็นกรรมการ และทุกคณะจะมีกรรมการอื่นอีกหลายคนร่วมเป็นกรรมการ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการในทุกคณะ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ในโครงการนี้
จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงนามว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ที่ต่อมามีหนังสือแจ้งว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางว่า สัญญาไม่ตกเป็นโมฆะ
เห็นได้ว่า การดำเนินการของโครงการจะเป็นไปในรูปแบบคณะกรรมการ การพิจารณาของคณะกรรมการจะต้องกระทำในรูปของมติคณะกรรมการ ที่กรรมการทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบในมติต่าง ๆ ที่คณะกรรมการมีมติ และการกระทำของจำเลยทั้ง 3 ตามที่ได้ความมาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้ง 3 หรือจำเลยคนใดกระทำการใดนอกเหนือจากมติของที่ประชุมที่จำเลยที่ 2-3 ร่วมเป็นกรรมการ หรือจำเลยทั้ง 3 เข้าแทรกแซงการพิจารณาของคณะกรรมการคณะต่าง ๆ ให้มติของคณะกรรมการคณะต่าง ๆ ผิดไปจากปกติที่ควรจะเป็นด้วยเจตนาที่ไม่สุจริต
ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า กรรมการอื่นที่ร่วมเป็นกรรมการกับจำเลยที่ 2-3 ถูกดำเนินคดีอาญาด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใดหรือมีการดำเนินการสอบสวนว่า มติคณะกรรมการคณะใดไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นมติที่แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ว่า คดีหมายเลขดำที่ 3992/2544 ของศาลปกครองกลาง ฝ่ายจำเลยทั้ง 3 ให้การในคดีดังกล่าวรับว่า การดำเนินโครงการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ตลอดจนมติของคณะรัฐมนตรีทุกประการ มิได้กระทำการใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย ทุกขั้นตอนเปิดเผยตรวจสอบได้ ผ่านการพิจารณาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทั้งคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ฯลฯ เป็นต้นทุกหน่วยงานเห็นชอบและยืนยันความถูกต้องของโครงการ มีการตรวจรับงานไปแล้ว 45 งวด เบิกค่าก่อสร้างไปแล้วประมาณ 17,860,000,000 บาท
จากคำให้การดังกล่าวบ่งบอกได้ว่า กรมควบคุมมลพิษรับว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต หรือจำเลยที่ 2-3 หรือจำเลยคนใด ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นเจตนาพิเศษที่ต้องดูการกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นข้อสำคัญ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
แต่จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน นอกจากจะไม่ได้ความว่ามติของคณะกรรมการคณะใดที่เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 3 หรือจำเลยคนใดกระทำการฝ่าฝืนมติของคณะกรรมการที่ตนร่วมเป็นกรรมการหรือเข้าแทรกแซงการพิจารณาของคณะกรรมการให้มีมติไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่อีกฝ่ายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำผิดทั้งที่โครงการดังกล่าวกระทำในรูปแบบคณะกรรมการ แต่ไม่มีกรรมการคนใดที่ร่วมเป็นกรรมการกับจำเลยที่ 2-3 มีมติไปในทิศทางเดียวกับจำเลยที่ 2-3 ถูกดำเนินคดีอาญาและมีมติของคณะต่าง ๆ ดำเนินการไปตามระเบียบข้อบังคับ ตามที่จำเลยที่ 3 ให้การในชั้นศาลปกครองกลาง
จากเหตุผลข้างต้นจึงยังไม่พอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 3 มีเจตนากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยทุจริต และการกระทำของจำเลยที่ 2-3 ก็ไม่มีความผิดตามมาตรา 157 โดยเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมควบคุมมลพิษ หรือบุคคลอื่นใดหรือมีเจตนาทุจริต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 3 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 3 ฟังขึ้น
เมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 3 ยังฟังไม่ได้ว่า เป็นความผิดตามฟ้องแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้ง 3 ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
อย่างไรก็ดีกรณีนี้ ฝ่ายอัยการยื่นฎีกาเพื่อสู้คดีต่อ ดังนั้นฝ่ายจำเลยยังมีสิทธิ์พิสูจน์ความบริสุทธิ์อีกครั้งในศาลสูงต่อไป!
อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง 3 อดีตบิ๊ก คพ.คดีคลองด่าน-อสส.ยังยื่นฎีกาสู้คดีต่อ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage