‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ‘คพ.’ ให้ ‘ประพัฒน์-พวก’ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2.3 หมื่นล้าน กรณีสั่งยกเลิกสัญญาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ‘คลองด่าน’ เนื่องจากการออกคำสั่งให้ชดใช้สินไหมฯ ‘ขาดอายุความ’ 10 ปี
.......................................
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ศาลปกครองกลาง พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ให้นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวกรวม 7 คน (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-7) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหาย ในโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำสั่งกรมควบคุมมลพิษ คำสั่งที่ 115/2559 ,คำสั่งที่ 116/2559 และคำสั่งที่ 117/2559 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1-7 (นายประพัฒน์และพวก) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรมควบคุมมลพิษ รวมเป็นเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน พ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด (28 ก.พ.2546) จึงขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมควบคุมผลพิษดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลับ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
“เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและเสนอแนะการบริหารสัญญาโครงการฯ ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0010/พิเศษ ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 เสนอรายงานผลการตรวจสอบสัญญาของโครงการฯ ต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยมีความเห็นเสนอให้กล่าวอ้างความไม่บริบูรณ์แห่งสัญญาด้วยเหตุเป็นโมมะมาตั้งแต่แรก ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งการในวันเดียวกัน เห็นชอบและมอบให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการ แล้วได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546
ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีหนังสือ ที่ ทส 0301/1330 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 แจ้งกิจการร่วมค้าฯ ซึ่งเป็นคู่สัญญาว่า นิติกรรมเป็นโมฆะด้วยเหตุตามความเห็นของผู้พ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 และให้กิจการร่วมค้าฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการโดยสิ้นเชิง เป็นเหตุให้กิจการร่วมค้าฯยกขึ้นอ้างเป็นเหตุบอกเลิกสัญญา ทำให้การดำเนินการก่อสร้างโครงการตามสัญญาต้องยุติลง และโครงการไม่อาจสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ ย่อมเป็นเหตุให้กรมควบคุมมลพิษได้รับความเสียหายแล้ว
จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อให้เสียหายแก่ทรัพย์สินของกรมควบคุมมลพิษ อันถือเป็นการกระทำละเมิด
เมื่อการดำเนินการกล่าวอ้างนิติกรรมเป็นโมฆะ และให้กิจการร่วมค้าฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการโดยสิ้นเชิง ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 ได้มีรายงานผลการตรวจสอบสัญญาของโครงการฯ เสนอต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งนิติกรรมเป็นโมฆะและให้กิจการร่วมค้าฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการโดยสิ้นเชิง
การแจ้งนิติกรรมเป็นโมฆะและให้กิจการร่วมค้าฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ ในโครงการโดยสิ้นเชิงดังกล่าว จึงมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญากับกิจการร่วมค้าๆ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จึงเป็นวันที่กรมควบคุมมลพิษได้รับความเสียหายจากการ กระทำของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ครบองค์ประกอบฐานละเมิด ดังนั้น วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2546 จึงเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) กระทำละมิดต่อกรมควบคุมมลพิษ
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมควบคุมมลพิษ แล้วผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมควบคุมมลพิษ
ดังนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 คำสั่งที่ 115/2559 ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 คำสั่งที่ 116/2559 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 คำสั่งที่ 117/2559 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพ้นสิบ (10) ปี นับแต่วันทำละเมิด จึงขาดอายุความแล้ว ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กรมควบคุมผลพิษดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลับ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
สำหรับข้ออ้างอื่นๆ ของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด (7) และข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (2) นั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก เพราะไม่มีผลทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ 115/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำสั่งกรมควบคุมมลพิษที่ 116/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ 117/2559 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ลับ ที่ 4/2559 ลงวันที่ 2 กันยายน 2559 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งเจ็ด โดยให้การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1877/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 1833/2565 ลงวันที่ 30 ส.ค.2565 ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดี (นายประพัฒน์และพวก) ฟ้องว่าอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ 115/2559 , 116/2559 และ 117/2559 ลงวันที่ 11 พ.ค.2559 ให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีกรมควบคุมมลพิษต้องชำระเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.487-488/2557 ในโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ และผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 อุทธรณ์คำสั่ง
ต่อมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ 4/2559 ลงวันที่ 2 ก.ย.2559 ให้ยกอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
สำหรับคำสั่งกรมควบคุมมลพิษ ที่ 115/2559 , 116/2559 และ 117/2559 ลงวันที่ 11 พ.ค.2559 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1-7 (นายประพัฒน์และพวก) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กรมควบคุมมลพิษ รวมแล้วประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย คำสั่งที่ 115/2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่ 1 เป็นเงิน 852.06 ล้านบาท และ 7.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่ 2 เป็นเงิน 4,526.78 ล้านบาท และ 36.40 ล้านเหรียญสหรัฐ
คำสั่งที่ 116/2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 7 (นายสิรภพ หรือสุรเชษฐ์ ดวงสอดศรี ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ,นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 4, นายยงยุทธ ศรีสัตยาชน ผู้ฟ้องคดีที่ 5, นายเสมอ ลิ้มชูวงศ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 6 และนายธิติ หรือมนู กนกทวีฐากร หรือทองศรี ผู้ฟ้องคดที่ 7) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่ 1 เป็นเงินคนละ 113.60 ล้านบาท และ 9.78 แสนเหรียญสหรัฐ ส่วนที่ 2 เป็นเงินคนละ 603.57 ล้านบาท และ 4.85 ล้านเหรียญสหรัฐ
และคำสั่งที่ 117/2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่ 1 เป็นเงิน 1,420.11 ล้านบาท และ 12.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่ 2 เป็นเงิน 7,544.64 ล้านบาท และ 60.67 ล้านเหรียญสหรัฐ
อ่านประกอบ :
เรียก'ประพัฒน์' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6 พันล. ต้นเหตุให้รัฐ'เสียค่าโง่' คลองด่าน