‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งยืนตาม ‘ศาลปกครองชั้นต้น’ สั่งทุเลาการบังคับ TOR ประมูลแบบเรียน ‘สกสค.’ ปี 66 วงเงิน 974 ล้าน เฉพาะในส่วนการกำหนดเกณฑ์ ‘คุณสมบัติ’ ของผู้ยื่นข้อเสนอฯ 3 ข้อ ชี้เป็นการกำหนดคุณสมบัติ ‘เกินไปกว่าหลักความโปร่งใส-มีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
.....................................
จากกรณีที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ต่อศาลปกครองกลาง ในคดีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีการประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ รวม 29.77 ล้านเล่ม ราคากลาง 974.79 ล้านบาท
โดยบริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ สกสค. เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 ลงวันที่ 11 ม.ค.2566 จำนวน 84 รายการ พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้ สกสค.กับพวก ประกาศให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการเสนอแบบเรียน รวมทั้งสิ้น 85 รายการ รวมทั้งให้ สกสค.กับพวก ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทฯ เป็นเงิน 252.71 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
นอกจากนี้ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ยังขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ สกสค. เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 11 ม.ค.2566 เฉพาะ 84 รายการ และสั่งให้หยุดกระบวนการลงนามในสัญญาเฉพาะ 84 รายการ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.2566 ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง
ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 14 ธ.ค.2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตาม สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14 พ.ย.2565 เฉพาะส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมถึงคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันในเอกสารประกวดราคา และ TOR
แต่ศาลฯยังให้ สกสค. สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศ สกสค. เรื่องประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการฯ ต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมา สกสค.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตาม สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนฯ ของศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด นั้น (อ่านประกอบ : ‘เอกชน’ฟ้อง‘ศาลปค.’ขอสั่ง‘สกสค.’เพิกถอนประกาศผู้ชนะจ้างพิมพ์‘แบบเรียน’ปี 66-ชดใช้ 252 ล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งตามคำร้องที่ 9/2566 คำสั่งที่ 857/2566 โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องกับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตาม สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ฯ ลงวันที่ 14 พ.ย.2565
เฉพาะส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมถึงคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันในเอกสารประกวดราคา และ TOR ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ทั้งนี้ สกสค. ยังคงสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศประกวดราคาพิพาทต่อไปได้ เว้นแต่เฉพาะในส่วนคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคา
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาฯในข้อ 13 ของเอกสารประกวดราคาและ TOR นั้น น่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกินไปกว่าหลักความโปร่งใสและหลักการป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน
และเห็นว่า กรณีที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอราคาฯในข้อ 15 และข้อ 20 น่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกินไปกว่าหลักประโยชน์ของ สกสค.และพวก ในการแข่งขันกับบริษัทเอกชนเพื่อการจัดหารายได้ขององค์กร หรือการป้องกันความเสียหายจากพฤติกรรมของผู้ยื่นข้อเสนอฯ แต่กลับมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน
“กรณีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ประกาศที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดในทำนองเดียวกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง และขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายประกาศ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ สกสค.) ได้ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาบางประการว่า ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้มีข้อพิพาทหรือคดีความใดๆ กับองค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในขณะที่ยื่นข้อเสนอ
ต้องไม่เป็นผู้รับจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้กับสำนักพิมพ์รายอื่น ตามฐานข้อมูลบัญชีกำหนดสื่อการเรียนรู้สำหรับเลือกใช้ในสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (http : //academic.obec.go.th/textbook/web/) ซึ่งเป็นคู่แข่งกับองค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในระยะเวลา 2 ปี บัญชีงบประมาณทางราชการนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และต้องไม่มีกรณีพิพาทหรือมีคดีความใดๆ กับองค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในขณะที่ยื่นข้อเสนอราคา
แม้จะเห็นได้ว่า การจัดทำเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ในขณะเดียวกัน หากหน่วยงานของรัฐเห็นว่า มีความจำเป็นต้องกำหนดข้อความหรือรายการเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากแบบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ก็เป็นอำนาจดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐที่จะกระทำได้ก็ตาม แต่การใช้ดุลพินิจ ก็ต้องไม่เป็นไปโดยอำเภอใจ หรือปราศจากเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้
เมื่อพิจารณาความในมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่วางหลักไว้ให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หน่วยงานของรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักความโปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน เมื่อการประกวดราคาเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติดังกล่าว การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องต่อหลักการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
เมื่อการตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันตามข้อ 14 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กำหนดให้การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอว่ามีผลประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
จะเป็นการตรวจสอบเฉพาะในส่วนคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายที่ได้ยื่นข้อเสนอ แต่เฉพาะในการเสนอราคาแต่ละครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นไปเพื่อเปิดโอกาสผู้เสนอแต่ละรายสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม โดยไม่ได้กำหนดถึงขนาดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติโดยไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้มีข้อพิพาทหรือคดีความใดๆ กับองค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในขณะที่ยื่นข้อเสนอ
ดังนั้น การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามข้อ 13 ของประกาศ จึงน่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกินไปกว่าหลักความโปร่งใสและหลักการป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือร่วมกันระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละราย และอาจมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
สำหรับความในข้อ 15 และข้อ 20 ของประกาศ เมื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ของขอบเขตของงาน ที่กำหนดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) โดยองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด มีภารกิจและจำหน่ายหนังสือแบบเรียนในปีการศึกษา 2566 องค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงจำเป็นต้องพิมพ์หนังสือแบบเรียนให้แล้วเสร็จและจัดส่งให้ถึงโรงเรียนก่อนเปิดภาคเรียนในส่วนที่เกินกำลังการผลิตขององค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงจำเป็นต้องจ้างพิมพ์ภายนอก
ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (เลขาธิการ สกสค.) ให้ถ้อยคำต่อศาลปกครองชั้นต้นในวันไต่สวนว่า ในการประกวดราคาจ้างบริษัทผู้ผลิตหนังสือแบบเรียน เป็นการจ้างในลักษณะจ้างผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นการจ้างผลิตเฉพาะในส่วนที่เกินขีดความสามารถในการผลิตของโรงพิมพ์ขององค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
โดยให้ผลิตเฉพาะเนื้อหาข้างในเล่ม ส่วนปกหนังสือ ทางองค์การค้าของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นผู้ผลิตและพิมพ์ โดยโรงพิมพ์ของตนเอง การจ้างบริษัทผู้ผลิตหนังสือแบบเรียนตามประกาศ จึงเป็นเพียงการว่าจ้างผู้รับจ้าง ซึ่งประกอบกิจการผลิตสิ่งพิมพ์ให้ผลิตหนังสือแบบเยนอันมีลักษณะเป็นการจ้างทำของ
การกำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามข้อ 15 และข้อ 20 ของประกาศ จึงน่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกินไปกว่าหลักประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในการแข่งขันกับบริษัทเอกชนเพื่อการจัดหารายได้ขององค์กร หรือการป้องกันความเสียหายจากพฤติกรรมของผู้ยื่นข้อเสนอที่มีข้อพิพาทหรือคดีความใดๆ กับองค์กร หรือผู้ยื่นข้อเสนอที่มีผลประโยชน์ร่วมกับผู้มีข้อพิพาทหรือคดีความใดๆกับองค์กร ซึ่งเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามที่มีกฎหมายบัญญัติรับรองไว้ แต่กลับมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน
ดังนั้น ประกาศที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง และขอบเขตของงาน จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ฟังไม่ขึ้น
กรณีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า หากยังคงให้ประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังหรือไม่
เห็นว่า ความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง มิได้หมายถึงแต่ความเสียหายในเชิงทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดี (บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ) ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ความเสียหายเท่านั้น แต่การที่ยังคงให้ประกาศประกวดราคาพิพาท เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้อื่นเสนอตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 มีผลใช้บังคับต่อไป และแม้ผู้ฟ้องคดีได้เข้ายื่นข้อเสนอในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 แต่ผู้ฟ้องคดีย่อมขาดคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 และไม่อาจได้รับการประกาศให้เป็นผู้ชนะได้อย่างแน่แท้
จึงฟังได้ว่า ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ และไม่ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันอย่างเป็นธรรม เป็นความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ฟังไม่ขึ้น
กรณีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาประการสุดท้ายว่า หากมีการทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือไม่
เห็นว่า ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิพาทเพียงว่าประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง และขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเห็นว่าข้อพิพาทในคดีนี้มีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอข้างต้นเท่านั้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง และขอบเขตของงาน โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังสามารถจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศประกวดราคาต่อไปได้
คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น จึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นได้มีโอกาสเข้าเสนอราคาเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะได้พิจารณาผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและสามารถได้ราคาในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมอันตอบสนองวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี (สกสค.) ที่เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14พฤศจิกายน 2565 เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ในเอกสารประกวดราคาจ้าง และขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายประกาศประกวดราคา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
แต่ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สกสค.) ยังคงสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศประกวดราคาพิพาทต่อไปได้เว้นแต่เฉพาะในส่วนคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาข้างต้น นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น” คำสั่งตามคำร้องที่ 9/2566 คำสั่งที่ 857/2566 ของศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 24 พ.ค.2566 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ สกสค. เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ฯ ลงวันที่ 14 พ.ย.2565 เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 ของศาลปกครองสูงสุดนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 ของ สกสค.แต่อย่างใด
ทั้งนี้ เนื่องจากในการเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในการประมูลดังกล่าว สกสค.ไม่ได้นำคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อ มาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคา
กระทั่งต่อมาในวันที่ 11 ม.ค.2566 สกสค.ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยมีผู้ชนะประมูลงานรวม 5 ราย ได้แก่ บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์กรุ๊ป จำกัด ,บริษัท อุดมศึกษา จำกัด , บริษัท วรรณชาติเพรส ( 2020 ) จำกัด ,บริษัท เอ็ม.ซี.ดี. การพิมพ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด แต่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด เห็นว่า ไม่ได้ความเป็นธรรมจากการประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลของ สกสค. จึงไปยื่นฟ้อง สกสค.ต่อศาลปกครอง
อ่านประกอบ :
กระดาษแพงขึ้น! เปิดข้อมูล‘สกสค.’จ้าง 4 เอกชนพิมพ์‘แบบเรียน’ปี 66 สูงกว่าราคากลาง 61 ล.
‘เอกชน’ฟ้อง‘ศาลปค.’ขอสั่ง‘สกสค.’เพิกถอนประกาศผู้ชนะจ้างพิมพ์‘แบบเรียน’ปี 66-ชดใช้ 252 ล.