ศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องคดี กรมสรรพากร -อธิบดี สั่ง 'สาธิต รังคสิริ' ชดใช้เงิน 854 ล้าน โดยมิชอบ กรณีทุจริตคืนภาษี 3.2 พันล้าน ชี้เป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุเจ้าตัวมีพฤติการณ์ร่วมรู้เห็นกระทำความผิดได้รับผลประโยชน์เป็นทองคำแท่ง -ทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เป็นโจทก์ กรมสรรพากร และอธิบดีกรมสรรพากร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 -2 กรณีขอให้เพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากรที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2560 ที่ให้ นายสาธิต ชดใช้เงินจำนวน 854,943,021.65 บาท จากเหตุร่วมกับนายสิริพงศ์ หรือศุภกิจ ริยะการธีรโชติ หรือริยะการ อดีตสรรพากรพื้นที่ 22 กรุงเทพมหานคร ทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 3,206 ล้านบาท เมื่อปี 2555-2556
คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ระบุว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงสรุปความได้ว่า นายสาธิต รังคสิริ (ผู้ฟ้องคดี) เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กรมสรรพากร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) โดยอธิบดีกรมสรรพากร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สืบเนื่องมาจากกระทรวงการคลังได้มีหนังสือ ลงวันที่ 12 มกราคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร และนายสิริพงศ์ หรือศุภกิจ ริยะการธีรโชติ หรือริยะการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (สท.กทม.22) เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยให้ผู้ถูกกล่าวหาชดใช้ค่าเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
ต่อมา คณะกรรมการฯ ได้เสนอรายงานผลการสอบสวน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวที่มีมติให้ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 3 ของจำนวนร้อยละ 80 จากมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินจำนวน 854,943,021.65 บาท เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และได้รายงานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบ
จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 854,943,021.65 บาท ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 10 มกราคม 2561 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกรมสรรพากร ที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งพิพาทเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่ผู้ฟ้องคดีอ้างถึงเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของขั้นตอนการออกคำสั่งดังกล่าว กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ดังนี้
(1) นางสาว ข. ประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่เป็นกลาง เนื่องจากนางสาว ข. เคยตรวจสอบการทำงานของ สท.กทม.22 และได้มีหนังสือรายงานความเห็นเป็นโทษเสนอต่อผู้ฟ้องคดี เห็นว่า หนังสือของนางสาว ข. เป็นเพียงการรายงานให้ผู้ฟ้องคดีทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของ สท.กทม.22 และได้เสนอความเห็นให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้มีความเห็นสอดคล้องกับที่เสนอ กรณีจึงไม่มีเหตุความไม่เป็นกลาง
(2) ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. มีนามสกุลเดียวกันจึงต้องห้ามตามหลักความเป็นกลาง เห็นว่า ปัญหาเรื่องความเป็นกลางต้องเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาทางปกครองกับคู่กรณีผู้จะถูกพิจารณา ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองจึงมิใช่กรณีต้องห้ามตามหลักความเป็นกลาง
(3) ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งละเมิด เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (4) คำสั่งพิพาทไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า คำสั่งดังกล่าวได้จัดให้มีเหตุผลซึ่งมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจไว้โดยชอบแล้ว (5) คำสั่งพิพาทออกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 จึงไม่ชอบเพราะเหตุอายุความในการออกคำสั่ง เห็นว่า คดีนี้เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดทางอาญา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 อายุความสองปีจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว กรณีจึงไม่มีเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย (6) ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้กำกับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้ทำการสอบจนยุติในทุกประเด็น เห็นว่า รายงานการสอบข้อเท็จจริงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว (7) ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เปิดเผยสำนวนการสอบสวนข้อเท็จจริง จึงไม่เป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เห็นว่า เป็นการขอให้เปิดเผยหลังจากที่ได้มีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540
@ สาธิต รังคสิริ
กรณีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า มีกลุ่มบริษัทจำนวน 25 บริษัท เป็นผู้ประกอบการส่งออกเศษโลหะและแร่โลหะที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริงแต่ได้ยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนาย ศ. อนุมัติให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าว ต่อมา เมื่อนางสาว ข. ได้มีหนังสือรายงานให้ผู้ฟ้องคดีรับทราบถึงความผิดปกติของการคืนภาษีของ สท.กทม.22 ผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีย่อมมีอำนาจบังคับบัญชาจึงต้องตรวจสอบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคืนภาษีให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย โดยให้ระงับยับยั้งการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้ทันที เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากถ้อยคำของพยานและผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาย ศ. ซึ่งให้ถ้อยคำว่า ผู้ฟ้องคดีได้ฝากรายชื่อกลุ่มบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการอ้างฝ่ายเดียว
แต่จากพฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ไม่ระงับยับยั้งให้ชะลอการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่นางสาว ข. ได้เสนอความเห็นก็ดี การที่ผู้ฟ้องคดีได้เข้าตรวจเยี่ยม สท.กทม.22 โดยให้แนวปฏิบัติกรณีการคืนภาษีให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องชะลอไว้เป็นเวลา 6 เดือนก็ดี และรวมถึงการที่กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้โอนเงินจำนวน 179,869,250 บาท เพื่อเป็นค่าซื้อทองคำแท่งในชื่อของผู้ฟ้องคดีก็ดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่า ทองคำแท่งดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ฟ้องคดีได้มาโดยชอบจากทางทำมาหาได้ทางอื่น จึงฟังได้ว่าเป็นทองคำแท่งที่ได้รับมาเกี่ยวโยงกับเงินของกลุ่มบริษัทดังกล่าว อีกทั้ง ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าทรัพย์สินตามรายการสั่งซื้อทองคำแท่งในชื่อของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงและพฤติการณ์แห่งการกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงเชื่อได้ว่า ผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้ใช้หรือร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดเพื่อให้นาย ศ. คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มบริษัทที่ได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไปโดยมิชอบทั้งสิ้น 3,206,066,331.17 บาท
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีที่เป็นผู้ใช้หรือร่วมรู้เห็นการกระทำความผิดดังกล่าว เพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์เป็นทองคำแท่ง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ถือได้ว่าเป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ราชการและเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วยความจงใจ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
กรณีมีปัญหาที่ต้องพิจารณาในประการสุดท้ายว่า ผู้ฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพียงใด เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้มีมติให้จัดกลุ่มผู้ที่ต้องรับผิด โดยกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีกับผู้ต้องรับผิดอีก 2 คน อยู่ในกลุ่มกระทำการไปด้วยมีเจตนาหรือจงใจทุจริต ให้ชดใช้ในอัตราร้อยละ 80 ของความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จึงเป็นการกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดโดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรม และให้รับผิดเฉพาะส่วนของตนตามมาตรา 8 วรรคสองและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้ว อีกทั้ง ยังมิได้กำหนดสัดส่วนความรับผิดที่สูงเกินไปกว่าที่กำหนดตามหนังสือกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 25 กันยายน 2550 นอกจากนี้ ข้ออ้างต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดี ยังถือไม่ได้ว่าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือระบบงานส่วนรวมที่จะต้องหักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วยตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ 650/2560 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงินจำนวน 854,943,021.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายกฟ้อง./
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 1610/2560 ระหว่าง นายสิริพงศ์ หรือศุภกิจ ริยะการธีรโชติ หรือริยะการ (ผู้ฟ้องคดี) อดีตสรรพากรพื้นที่ กทม. 22 กับ กรมสรรพากร (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว
ขณะที่คดีในส่วนของ นายพายุ สุขสดเขียว อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 และ นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาตัดสินให้กรมสรรพากรชนะ ขณะที่ นายพายุ และ นายป้อมเพชร ได้อุทธรณ์สู้คดีต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยเฉพาะคดีในส่วน นายพายุ สุขสดเขียว วงเงินความเสียหายที่ต้องชดใช้ คิดเป็นจำนวนเงิน 456,311,568.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร่อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดแก่กรมสรรพากร
- สรรพากรชนะ! ศาลปค.กลางยกฟ้อง คดี 'สิริพงษ์' ถูกสั่งให้ชดใช้เงินคืนภาษีแวตเท็จ854 ล.
- ยอด 456 ล.-ยกฟ้องไปแล้ว 2! ศาลปค.ให้อดีตขรก.สรรพากรแพ้คดีชดใช้เงินโกงคืนภาษี 4.3 พันล.
อ่านประกอบ :
- พลิกคดีคืนภาษีฉาว 4.3 พันล.! ก่อนคุกตลอดชีวิต‘สาธิต’-ทองแท่ง 600 ล.ตกเป็นของแผ่นดิน
- ทองแท่ง 600 ล.ตกเป็นของแผ่นดิน! อุทธรณ์พิพากษาแก้‘สาธิต’ได้มาจากร่ำรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- ทองปริศนา 600 ล.โผล่? เบื้องหลังคดีรวยผิดปกติ‘สาธิต’-ป.ป.ช.ส่งเก็บที่ ธปท.
- ครั้งแรก! ป.ป.ช.ตรวจนับทองแท่ง 594 ล.‘สาธิต รังคสิริ’ของกลางคดีรวยผิดปกติ
- อัยการส่งฟ้อง‘สาธิต-พวก’คดีแวต 4.3 พันล.-ศาลสั่งยึดทรัพย์‘สุวัฒน์’ 596 ล.ของแผ่นดิน
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- พิพากษายึด 31 ล.‘อดีตซี 9’รวยผิดปกติคดีคืนภาษี-อสส.สั่งฟ้องอาญา‘สาธิต-พวก’แล้ว
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- EXCLUSIVE: พฤติการณ์ 32 บ.คืนภาษีเท็จในสำนวน ก.คลังก่อนสั่ง ‘สาธิต-พวก’ชดใช้ 4 พันล.
- ป.ป.ช.-อัยการตั้งคณะทำงานร่วมฯ ‘สาธิต-พวก’คดีทุจริตคืนภาษี ปมรวยผิดปกติไต่สวนในศาลแล้ว
- สั่ง‘สาธิต-อดีตซี 8-9’ชดใช้ 4 พันล.! เปิดผลสอบ กก.รับผิดทางละเมิด ก.คลังคดีคืนภาษี
- ปิดคดีทุจริตคืนภาษี 4.3 พันล.ฟัน 6 ขรก. 28 เอกชน-4 บิ๊กรวยผิดปกติ 1.3 พันล.