ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดี สิริพงศ์ หรือศุภกิจ ริยะการธีรโชติหรือริยะการ' อดีตสรรพากรพื้นที่กทม. 22 ฟ้องกรมสรรพากรปมออกคำสั่งชดใช้ค่าเสียหายโกงคืนภาษี 854 ล้านโดยมิชอบ ชี้ชัดปมให้นักวิชาการสรรพากรลงนามแทน-ธนาคารไม่ได้ระงับการจ่ายเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เอกชนฟังไม่ขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 1610/2560 ระหว่าง นายสิริพงศ์ หรือศุภกิจ ริยะการธีรโชติ หรือริยะการ (ผู้ฟ้องคดี) อดีตสรรพากรพื้นที่ กทม. 22 กับ กรมสรรพากร (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (นายศิริพงษ์) ฟ้องว่า กรมสรรพากร (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคำสั่ง ที่ 233/2560 ลงวันที่ 9 พ.ค.2560 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 854,951,021.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีกล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีขณะดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ได้อนุมัติให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างเดือน พ.ค.2555 ถึงเดือน ต.ค.2555 ให้แก่กลุ่มนิติบุคคลที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงส่งเรื่องให้รองปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
โดยรายละเอียดอันเป็นต้นเหตุของการยกฟ้องนั้นศาลเห็นว่า
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า นางลัดดา บวรสมบัติ เป็นผู้ลงนามสั่งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือนภาษีแรกของบริษัท จํานวน 17 ราย จากทั้งหมด 25 ราย โดยระบุตําแหน่งว่า นักวิชาการ สรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 พร้อมกับ ลงนามในแบบ ภ.พ. 72 (ใบแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งให้บริษัทผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งคิดเป็น เงินภาษีจํานวน 169,206,194.33 บาท โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้มอบอํานาจให้นางลัดดาเป็นผู้ลงนาม สั่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2539 นั้น
ศาลเห็นว่า ตามสํานวนการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัททั้ง 30 ราย ไม่ปรากฏว่านางลัดดา เป็นผู้ลงนามอนุมัติให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานผลการตรวจภาษีมูลค่าเพิ่ม (ต. 17) แต่อย่างใด นางลัดดาเพียงแต่ลงนามในหนังสือแจ้งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 72) เพื่อแจ้งบริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีอนุมัติให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มในรายงานผลการตรวจภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้ไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
กรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําแถลงเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ธนาคารได้ระงับการจ่ายเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท ดี.เอส.ที.เทรดดิ้ง จํากัด ที่ขอคืนภาษี
ข้อเท็จจริงปรากฏตามคําชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดี ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 พร้อมเอกสาร หลักฐานว่า บริษัท ดี.เอส.ที.เทรดดิ้ง จํากัด ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สําหรับเดือนภาษีพฤศจิกายน 2555 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2555 และเดือนภาษีมกราคม 2556 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2556 และได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ บริษัททั้ง 4 เดือนภาษี
ดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง และจากการตรวจสอบรายการเดินบัญชีเงินฝาก ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาสีลม ประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเลขที่ 022-6-04641-9 ชื่อบัญชีสํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบางรัก 3 ปรากฏว่า เช็คหมายเลข 0482454 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 จํานวนเงิน 37,225,513.47 บาท และเช็ค หมายเลข 0482455 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 จํานวนเงิน 33,761,016.18 บาท ได้ถูกเรียกเก็บเงินตามเช็คแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2556โดยมีการหักเงินออกจากบัญชีในวันดังกล่าว และธนาคารไม่ได้มีการระงับการจ่ายเงินตามเช็คแต่อย่างใด
ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ สําหรับข้ออ้างประการอื่น ๆ ของ ผู้ฟ้องคดีนั้นไม่ทําให้คําวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ฟ้องคดีที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้วเปลี่ยนแปลงไปศาลจึงไม่จําต้องวินิจฉัย
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยอธิบดีกรมสรรพากรมีคําสั่งกรมสรรพากร ที่ 233/2560 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคําสั่งกรมสรรพากร ที่ 649/2560 เรื่อง แก้ไขคําสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ให้ผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นเงิน 854,943,021.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทําละเมิด จึงมิใช่ การกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
อนึ่งสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งให้กลุ่มอดีตข้าราชการกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมวงเงินกว่า 4,300 ล้านบาท ร่วมกันชดใช้ความเสียหายให้กรมสรรพากร หลังจากที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดฯ ของกระทรวงการคลัง ได้สรุปผลการสอบสวน ว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร 12 คน เกี่ยวข้องกับกรณีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ และต้องรับผิดชดใช้สินไหมทดแทนฯให้กรมสรรพากร
อย่างไรก็ตาม อดีตเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร 11 ราย ซึ่งรวมถึงนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ฯดังกล่าว ส่วนนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากร กทม. พื้นที่ 22 นั้น ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งธนบุรี เนื่องจากในช่วงที่กระทำความผิดนั้น ได้ถูกกรมสรรพากรไล่ออกจากราชการด้วยความผิดอื่นไปก่อนแล้ว จึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
ขณะที่ล่าสุดศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปแล้วในคดี 2 คดี คือ คดีของนายพายุ สุขสดเขียว อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 และนายป้อมเพชร วิทยารักษ์ โดยศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้กรมสรรพากรชนะ และให้ทั้ง 2 ราย ชดใช้สินไหมฯให้กรมสรรพากร โดยเฉพาะกรณีนายพายุ สุขสดเขียว นั้น กรมสรรพากรได้มีคำสั่งให้ชดใช้สินไหม เป็นจำนวนเงิน 456,311,568.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร่อยละ 7.5 ต่อปี
อย่างไรก็ดี ทั้งนายพายุ และนายป้อมเพชร ได้อุทธรณ์สู้คดีต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มรวมวงเงินกว่า 4,300 ล้านบาท นั้น คณะกรรมการสอบสวนฯของกระทรวงการคลัง สรุปผลการสอบสวนฯว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง 12 ราย และต้องร่วมกันรับผิดชดใช้สินไหมฯกรณีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมูลค่ารวม 4,300 ล้านบาท ได้แก่
1.นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร
2.นายศุภกิจหรือสิริพงส์ ริยะการ ธีระโชติ อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากร กทม. พื้นที่ 22 และเจ้าหน้าที่ สท.กทม. 22 อีก 4 คน
3.นายพายุ สุขสดเขียว และเจ้าหน้าที่ สท.สมุทรปราการ อีก 3 คน
4.นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากร กทม. พื้นที่ 22
5.นายวิชเยนทร์ อิ่มอ้วน
ทั้งนี้ ต่อมากระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งไล่นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ,นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตข้าราชการระดับ 8 สำนักงานสรรพกร กทม. พื้นที่ 27 ,นายพายุ สุขสดเขียว อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 และนายศุภกิจ ริยะการ อดีตข้าราชการระดับ 9 สรรพากร กทม. พื้นที่ 22 ออกจากราชการ
พร้อมทั้งมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดฯ เจ้าหน้าที่รวม 12 ราย ได้แก่ นายสาธิต ,นายศุภกิจ ,นายพายุ นายสุวัฒน์ ,นายเหมือน สุขน้อย ,นางกรพินธุ์ ปิ่นมี ,น.ส.จารุณี ฉิมคล้าย ,นายมานิตย์ พลเรือน ,น.ส.อารีย์วรรณ เถาสุวรรณ์ ,นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ,นายวิชเยนทร์ อิ่มอ้วน และนางศศิพิมพ์ บรรดาเสียง
โดยคณะกรรมการฯ พบว่า นายสาธิต ,นายศุภกิจ ,นายพายุ และนายสุวัฒน์ มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จ อย่างน้อย 32 บริษัท และมีการโอนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นเท็จจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้เข้าสู่บัญชีของนายสาธิต ,นายศุภกิจ ,นายพายุ และนายสุวัฒน์โดยตรง และมีการนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน รวมถึงโอนให้เครือญาติอีกหลายครั้ง ได้แก่
กรณีการอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จในเขตพื้นที่ สรรพากร กทม. พื้นที่ 22 นั้น มีผู้ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย 3 ราย ได้แก่ นายสาธิต ,นายศุภกิจ และนายสุวัฒน์ โดยต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 80 ของจำนวนค่าเสียหาย หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3,206,036,331 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
และกรณีการอนุมัติคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จในเขตพื้นที่ สรรพากรสมุทรปราการ พื้นที่ 1 มีผู้ต้องรับผิดชอบ 2 ราย ได้แก่ นายพายุ และนายสุวัฒน์ โดยต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 80 ของจำนวนค่าเสียหาย หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,311,254,590 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมความเสียหายที่นายสาธิต ,นายศุภกิจ ,นายพายุ และนายสุวัฒน์ ต้องชดใช้คืนแก่กระทรวงการคลังทั้งสิ้น 4,517,290,921 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
อย่างไรก็ดี หลังจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดฯ มีมติให้นายสาธิต ,นายศุภกิจ ,นายพายุ และนายสุวัฒน์ ต้องชดใช้ความเสียหายทางละเมิดฯ 4,500 ล้านบาทแล้ว กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งให้อดีตเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทั้ง 4 ราย ชดใช้ค่าเสียหาย แต่เนื่องจากคำสั่งให้ชดใช้สินไหมฯไม่สามารถบังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาบางรายได้ กรมสรรพากรจึงได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งฯ