ศพจ.เดินหน้าแก้ปัญหาความยากจน 4 แนวทาง พุ่งเป้ากลุ่มเป้าหมาย 6.5 แสนคน ที่ต้องแก้ปัญหาเร่งด่วน พบ 11 ล้านครัวเรือน อยู่ภาวะ 'เปราะบาง-รายได้น้อย’
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งส่วนราชการต่างๆเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือน ม.ค.2566 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เสนอ
โดยในส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นั้น พบว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ ศจพ. ต้องดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน มีจำนวน 655,365 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตกเกณฑ์มิติความขัดสน
2.กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง มีจำนวน 11,023,225 ครัวเรือน หรือ 33,384,526 คน ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากครอบครัว และ/หรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 3.กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม มีจำนวน 13,220,965 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และได้รับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ตกเกณฑ์มิติความขัดสนหรือไม่มีข้อมูลมิติความขัดสน
และ 4.กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ TPMAP ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ฐานข้อมูลที่ได้บูรณาการกับหน่วยงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลระดับพื้นที่ โดยจะต้องคำเนินการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อนำผู้ที่ตกหล่นเข้าในระบบต่อไป
ทั้งนี้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จะมีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) เพื่อให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้ คจพ.ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวตามแนวทางของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ ตามมติ คพจ. ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การสร้างงานและสร้างรายได้ โดยสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรม ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ 2.การมีแนวทางหรือมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.การดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลจากระบบบริหารจัดการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 4.การจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับครัวเรือนและบุคคล
อ่านประกอบ :
‘ประวิตร’ ขอกา ‘พลังประชารัฐ’ 2 ใบ ข้ามความขัดแย้ง-ยากจน
รัฐบาลเผยสถานการณ์ความยากจนดีขึ้น-อัตราว่างงานลดลง ชี้เป็นผลจากนโยบายช่วยเหลือ
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
“ยากจนข้นแค้น” “ยากจนเหลือทนทาน”
เปิดแผนแม่บทเฉพาะกิจ ‘โควิด’ ตั้งเป้า 2 ปี ‘ดัน 5 เครื่องยนต์ศก.ใหม่-ลดยากจน’