‘ก.แรงงาน’ เปิดรับฟังความเห็น ‘ร่างกฎทรวงฯ’ เพิ่มเพดานค่าจ้าง ‘ประกันสังคม’ เผย ม.ค.2567 ปรับ 'ค่าจ้างขั้นสูง' เป็น 17,500 บาท ก่อนเพิ่มเป็น 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป
.......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ... ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th ทั้งนี้ หลังจากปิดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 28 ก.พ.2566 แล้ว กระทรวงฯจะนำความเห็นต่างๆไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงดังกล่าว ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยจะมีการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้
(1) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท
(2) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2570 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท
(3) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท
รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ที่ผ่านมา กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดค่าจ้างขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ไว้ที่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.2538 จนถึงปัจจุบัน แต่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นไปตามมาตรฐานเพดานค่าจ้างขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
จึงเห็นสมควรให้ปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อความเพียงพอของสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินทดแทนการขาดรายได้ และเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนรองรับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น รวมทั้งเพื่อการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ การปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงดังกล่าว จะทำให้ทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานที่ใช้ในการคำนวณเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะคำนวณจากค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ดังนี้
(1) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(2) เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(3) เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(4) เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(5) เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
(6) เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน
สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า การปรับค่าจ้างขั้นสูงภายใต้ร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว จะทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567-31 ธ.ค.2569 ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนมากกว่า 17,500 บาท จะส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือนละ 875 บาท จากเดิม 750 บาท (ฐานค่าจ้าง 15,000 บาท) แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนขาดรายได้กรณีว่างงานจะเพิ่มเป็นเดือนละ 8,750 บาท จากเดิม 7,500 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างขั้นสูงดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นด้วย เช่น กรณีปรับฐานค่าจ้างเป็น 17,500 บาท และส่งเงินเข้ากองทุนฯ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้เงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้าง หรือ 3,500 บาท/เดือน แต่หากส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกๆ 1 ปี เช่น หากส่งเงินสมทบเป็นเวลา 30 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ คิดเป็น 42.5% ของค่าจ้าง หรือ 7,437.5 บาท/เดือน
หรือกรณีการปรับฐานค่าจ้างเป็น 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบเพิ่มเป็นเดือน 1,150 บาท นั้น ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ 15 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าจ้าง หรือ 4,600 บาท/เดือน แต่หากส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกๆ 1 ปี เช่น หากส่งเงินสมทบเป็นเวลา 30 ปี จะได้เงินบำนาญชราภาพ คิดเป็น 42.5% ของค่าจ้าง หรือ 9,775 บาท/เดือน เป็นต้น
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงฯ และนำร่างกฎกระทรวงฯไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ขณะที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน พบว่าผู้ประกันไม่น้อยกว่า 70% เห็นด้วยกับการปรับฐานค่าจ้างดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการประกันสังคมยอมรับว่า การปรับฐานค่าจ้างครั้งนี้ จะทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบ เนื่องจากต้องส่งเงินสมทบในส่วนนายจ้างเพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงทยอยปรับฐานค่าจ้างแบบขั้นบันได เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว
ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ระบุว่า ณ เดือน พ.ค.2565 มีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 หรือ ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีนายจ้างฯในระบบทั้งหมด 11,250,428 ราย โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย ,คลอดบุตร ,ทุพพลภาพ ,ตาย ,สงเคราะห์บุตร ,ชราภาพ และว่างงาน
อ่านเพิ่มเติม : การรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ...
อ่านประกอบ :
2 ปี วิกฤติโควิด สะเทือนฐานะ 'กองทุนประกันสังคม' ชงขยับ 'เพดานค่าจ้าง' แบบขั้นบันได
รายงาน ค.ต.ป.!ชี้ช่องโหว่ทุจริต เบิกค่ารักษาพยาบาล‘ประกันสังคม-บัตรทอง-สวัสดิการ ขรก.’
กรมบัญชีกลางเผย ขรก.ป่วยโควิดแยกกักตัวที่บ้าน เบิกค่ารักษาเหมาจ่ายได้ 1 พันบาท
เสียงเตือน‘สตง.-TDRI’อุดช่องโหว่ ค่ารักษาพยาบาล‘ขรก.’ ปีงบ 64 เบิก 8.5 หมื่นล.พุ่ง 19%
กรมบัญชีกลางเผยข้าราชการเสี่ยงหรือติดโควิดเบิกตรงได้ ไม่ต้องทดรองจ่าย
แก้เกณฑ์เบิกจ่ายตรง! 'กรมบัญชีกลาง' คุมค่ารักษาพยาบาล 7.4 หมื่นล้าน-พบทุจริตฟันอาญา
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงข่าวลือ ยืนยัน! 'ขรก.' ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม