"...แนวทางการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างนั้น จะทำแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ โดยจะปรับขึ้นแบบ ‘ขั้นบันได’ และทุกๆปีจะมีการประกาศให้ ‘ผู้ประกันตน’ และ ‘นายจ้าง’ ทราบล่วงหน้าก่อนจะปรับขึ้นเพดานค่าจ้างเท่าไหร่ ซึ่งในเบื้องต้น สปส. ได้จัดทำข้อเสนอการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างไว้ 2 แนวทาง..."
..............................
ในห้วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ตลอด 2 ปีเศษที่ผ่านมา
ต้องถือว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือและเยียวยา ‘ผู้ประกันตน’ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยกรณี ‘ว่างงาน’ อันเนื่องมาจากสถานประกอบการปิดกิจการ หรือหยุดกิจการชั่วคราว เพราะโควิด-19 รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับผู้ประกันตน
ส่งผลให้ในช่วงปีงบ 2563 และ 2564 กองทุนประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายรวมกันสูงถึงเกือบ 6 แสนล้านบาท
ในขณะที่กองทุนฯมีรายได้ลดลง จากการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของผู้ประกันตน มาตรา 33 จากอัตรา 5% ต่อเดือน เหลือเพียง 0.5-1% ต่อเดือน ในแต่ละช่วงเวลา และการปรับลดอัตราเงินสมทบฯผู้ประกันตน มาตรา 39 จากอัตรา 9% ต่อเดือน เหลือ 1.9% ต่อเดือน
กระทั่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับ ‘ความยั่งยืน’ ของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว
@ปีงบ 63-64 ‘กองทุนประกันสังคม’ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มกว่า 5.9 แสนล้าน
จากข้อมูล ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี 2564’ ของกระทรวงการคลังที่รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบเมื่อเร็วๆนี้ พบว่า ในปีงบ 2563 กองทุนประกันสังคม มีรายได้รวม 294,680 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3.27% และปีงบ 2564 กองทุนฯมีรายได้รวมอยู่ที่ 271,743 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 7.78%
โดยมีสาเหตุจากการลดลงของรายได้จากเงินสมทบ ตามมาตรา 33 และ 39 ตามมาตรการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นายจ้างและผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรงกรณีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
ขณะที่ในปีงบ 2563 กองทุนฯมีค่าใช้จ่าย 323,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31.83% เนื่องจากมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ 39 ในกรณีเสียชีวิต รวมถึงการปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพราะการถูกเลิกจ้าง การลาออกจากงาน การสิ้นสุดสัญญาจ้าง และเหตุสุดวิสัย
ส่วนในปีงบ 2564 กองทุนฯมีค่าใช้จ่าย 267,431 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 17.24% โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มหนี้สินประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ ค่าประโยชน์ทดแทน 7 กรณี และค่าบริการทางการแพทย์สถานพยาบาล
จึงเท่ากับว่าในปีงบ 2563 และ 2564 กองทุนประกันสังคม มีค่าใช้จ่ายรวมกันสูงถึง 590,584 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงปีงบ 2559-2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ค่าใช้จ่ายของกองทุนฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยค่าใช้จ่ายกองทุนฯ เพิ่มจากระดับ 193,632 ล้านบาท ในปีงบ 2559 เป็น 245,129 ล้านบาท ในปีงบ 2562
(ที่มา : รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี 2564)
@‘สปส.’ชงปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง-อัตราเงินสมทบชราภาพ’
“จากนโยบายการลดอัตราเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้กับนายจ้าง และผู้ประกันตนรวมทั้งหมด 15 เดือน ในช่วงปีบัญชี 2563 และ 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง และผู้ประกันตนจากการระบาดของโรค COVID-19 สำนักงานประกันสังคมได้วิเคราะห์ ว่า เงินสมทบทั้งหมดจะลดลงประมาณ 109,183 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพของกองทุน และไม่เป็นภาระของประเทศในอนาคต จึงเห็นว่าต้องมีการปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง’ ซึ่งจะทำให้กองทุนมีรายรับมากขึ้น และผู้ประกันตน จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากฐานค่าจ้างที่ปรับเพิ่ม
พร้อมทั้งปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีการประเมินสถานะกองทุนชราภาพ พบว่า อัตราเงินสมทบกรณีชราภาพที่กองทุนประกันสังคมควรจัดเก็บเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 15.66 ในขณะที่มีการจัดเก็บเงินสมทบเพียงร้อยละ 6 จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบเพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราที่แท้จริง
ทั้งนี้ หากสามารถเริ่มการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพได้เร็ว จะทำให้การเพิ่มอัตราเงินสมทบเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากชะลอการเพิ่มอัตราออกไป จะทำให้ในอนาคตจะต้องเพิ่มอัตราอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้กองทุนมีเงินเพียงพอจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนตามที่กฎหมายกำหนด” รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี 2564 ระบุ
@‘คลัง’มองรายได้กองทุนฯลดต่อเนื่อง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ-โควิด
กระทรวงการคลัง ประเมินด้วยว่า ปัญหาสังคมผู้สูงอายุยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้ประกันตนใหม่วัยแรงงานเข้าสู่ระบบลดลง และผู้ประกันตนเดิมมีอายุที่ยาวนานขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะส่งผล 3-5 ปี นั้น จะทำให้รายได้ของกองทุนประกันสังคมลดลง ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ส่งผลให้ในระยะยาวจะเป็นภาระให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินสมทบให้กับกองทุนประกัน สังคมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต
นอกจากนี้ จากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีงบประมาณ 2564 จากการกำหนดเงื่อนไขสำหรับกลุ่มผู้มีอาชีพอิสระในการรับเงินเยียวยาในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ให้ต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 นั้น อาจทำให้รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น
@เสนอ 'สูตรแรก' ปรับ‘เพดานค่าจ้าง’ ตามการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ
ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ขณะนี้ สปส. อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนวทางการปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง’ เพื่อเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯพิจารณา ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ก่อนเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม พิจารณาต่อไป
ส่วนแนวทางการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างนั้น จะทำแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ โดยจะปรับขึ้นแบบ ‘ขั้นบันได’ และทุกๆปีจะมีการประกาศให้ ‘ผู้ประกันตน’ และ ‘นายจ้าง’ ทราบล่วงหน้าก่อนจะปรับขึ้นเพดานค่าจ้างเท่าไหร่ ซึ่งในเบื้องต้น สปส. ได้จัดทำข้อเสนอการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างไว้ 2 แนวทาง คือ
แนวทางแรก การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ซึ่งได้ศึกษาตัวอย่างมาจากต่างประเทศ คือ การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ตามการปรับเพิ่มของ ‘ฐานค่าจ้างขั้นต่ำ’ เช่น หากมีการประกาศปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้น 5% ก็จะมีการเสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างของเงินสมทบกองทุนฯเพิ่มขึ้นในอัตรา 5% เช่นกัน
“เช่น ถ้าปีนี้มีการเพิ่มฐานค่าจ้าง 5% เราก็จะปรับเพิ่มฐานเงินสมทบ (เพดานค่าจ้าง) ในอัตรา 5% เช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เพดานค่าจ้างเพิ่มจากปัจจุบัน 15,000 บาท เป็น 15,750 บาท และทำให้ผู้ประกันตน (มาตรา 33) ที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 38 บาท จากปัจจุบันที่จ่ายอยู่เดือนละ 750 บาท
แต่ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น ค่าว่างงาน ค่าหยุดงานจากการรักษาตัว และค่าหยุดงานจากการคลอดบุตร เป็นต้น โดยเงินที่เขาจ่ายสมทบเพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 38 บาท นั้น จะทำให้เขาได้เงินทดแทนขาดรายได้เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 375 บาท และวิธีการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มคนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท” ลัดดา กล่าว
อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างตามแนวทางนี้ จะไม่มีการกำหนดว่า ‘เพดานค่าจ้าง’ ต้องไปหยุดอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างจะพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆประกอบ เช่น ภาวะค่าครองชีพ เป็นต้น
(ลัดดา แซ่ลี้)
@ชง'สูตรสอง'ปรับ‘เพดานค่าจ้าง’เดือนละ 1,000 บาทไปจนถึง 2 หมื่น
แนวทางที่สอง การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ตามแนวทางที่ สปส. เคยทำประชาพิจารณ์ไปเมื่อปี 2560 แต่ล้มเลิกไปก่อน คือ การปรับเพดานค่าจ้าง (ผู้ประกันตนมาตรา 33) เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 บาท โดยจะปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท ไปจนถึง 20,000 บาท ซึ่งแนวทางนี้ผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
“แนวทางนี้ เราเคยทำประชาพิจารณ์ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ไปเมื่อปี 2560 โดย 75% เห็นด้วยที่จะเพิ่มเพดานค่าจ้างเป็นแบบขั้นบันได ปีละ 1,000 บาท เริ่มจาก 16,000 บาท ไปจนถึง 20,000 บาท แต่หลังจากที่ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ก็เลิกไป แต่คราวนี้เราจะเอามาคิดใหม่ โดยจะเสนอเป็นหนึ่งในทางเลือกให้คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาด้วย” ลัดดา ระบุ
ลัดดา กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สปส. ได้รับข้อต่อว่าจากผู้ประกันตนที่มีเงินเดือนเกิน 15,000 บาท บางราย ว่า เขาได้เงินเดือน 3 หมื่นบาท แต่เวลาขาดรายได้จะได้รับเงินชดเชย 50% โดยคิดจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งทำให้เขาได้เงินชดเชยจริงๆเพียง 25% ของฐานรายได้จริงเท่านั้น จึงอยากให้มีการปรับฐานเพดานค่าจ้างตรงนี้
ลัดดา ให้ข้อมูลว่า การเสนอปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง’ ในครั้งนี้ จะครอบคลุมผู้ประกันตนเกือบ 13 ล้านคน ได้แก่ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน (เพดานค่าจ้างปัจจุบัน 15,000 บาท) และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน (เพดานค่าจ้างปัจจุบัน 4,800 บาท)
“จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯเพื่อกลั่นกรองในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ก่อนจะเข้าบอร์ดประกันสังคมว่า จะขึ้น (เพดานค่าจ้าง) ปีละเท่าไหร่ และคิดอย่างไร” ลัดดา กล่าวและว่า “ตั้งแต่เปิดประกันสังคมมา เรายังไม่ได้ฐานค่าจ้างส่งเงินประกันสังคมเลย ฐานต่ำยังคงเป็น 1,650 บาท ฐานสูงยังคงเป็น 15,000 บาท แต่สิทธิ์ประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกปี ทุกกรณี”
@สปส.ย้ำปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง’ ช่วยรักษาเสถียรภาพกองทุนฯ
ลัดดา กล่าวถึงผลดีของการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ว่า นอกจากจะทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กรณีเจ็บป่วย การว่างงาน การคลอดบุตร ไปจนถึงบำนาญชราภาพ เช่น กรณีบำนาญชราภาพ ผู้ที่เกษียณอายุแล้วอาจได้รับเงินบำนาญเป็นเดือนละ 5,000 บาท จากปัจจุบัน 4,000 บาท เพราะนำฐานค่าจ้างใหม่ระยะ 5 ปีสุดท้าย มาเฉลี่ย แล้ว
การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างดังกล่าว จะทำให้ ‘กองทุนประกันสังคม’ มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น และทำให้กองทุนฯสามารถวางแผนในการเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆให้กับผู้ประกันตนล่วงหน้าได้ จากการเพิ่มฐานเงินสมทบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
“ถ้ามีการปรับเพิ่มเงินสมทบเมื่อไหร่ ก็จะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เมื่อนั้น ซึ่งจะสอดคล้องกัน จากเดิมที่เราไม่เคยเพิ่มเงินสมทบเลย แต่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์มาโดยตลอด มันเลยไม่สอดคล้องกัน เพราะเงินสมทบได้เท่าเดิม แต่สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้เงินลงทุนกองทุนฯน้อยลง และดอกผลก็อาจจะน้อยลงไปด้วย” ลัดดา กล่าว
ลัดดา ย้ำว่า “ที่เราต้องทำแบบนั้น เพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนให้สอดคล้องกัน โดยจะมีการทำแผน และประกาศ (เพดานค่าจ้าง) ทุกปี”
@‘บอร์ดประกันสังคม’แนะทำความเข้าใจกับ ‘แรงงาน’ ก่อนปรับเพดาน
ขณะที่ อรุณี ศรีโต กรรมการกองทุนประกันสังคม ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา สปส. ได้เสนอให้บอร์ดประกันสังคม พิจารณาปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างของผู้ประกันตน มาตรา 33 จากปัจจุบัน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท รวมถึงปรับเพดานค่าจ้างผู้ประกันตน มาตรา 39 โดยเสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างแบบขั้นบันได แต่บอร์ดได้ขอให้ สปส. ไปสื่อสารเรื่องดังกล่าวให้ผู้ใช้แรงงานได้เข้าใจก่อน
“เขาเสนอบอร์ดมาว่า ขอปรับ (เพดานค่าจ้าง) เป็นขั้นบันได โดยเขามีอนุกรรมการฯที่ได้ไปคิดมาแล้วว่า จะทำอย่างไร แต่เราได้บอกไปว่า ให้ระวังว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่เออออห่อหมกด้วย เพราะแค่ได้ยินว่าเก็บเงินเพิ่ม เขาก็ตกใจแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจอย่างนี้ ค่าแรงงานก็ไม่ขึ้น และ ถ้าไปเก็บ เขาก็อาจจะคิดว่ากองทุนประกันสังคมเอาเงินไปถลุงหมดหรือไม่ อย่างไร
ดังนั้น บอร์ดฯจึงขอให้ สปส. ไปสื่อและไปทำความเข้าใจกับผู้ใช้แรงงาน ให้เขาเข้าใจว่า คนที่ฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท เขาจะไม่กระทบอะไร และการเพิ่มฐานเงิน ก็ต้องไปบอกเขาว่า เป็นการค่อยๆขึ้น เช่น ปีนี้เพิ่มเป็น 16,000 บาท อีก 2 ปี เพิ่มเป็น 17,000 บาท แล้วอีก 10 ปี ถึงจะปรับเพดานเป็น 20,000 บาท เป็นต้น
ถ้าเป็นอย่างนี้เชื่อว่า ผู้ใช้แรงงานน่าจะฟังได้ แรงงานก็ไม่ตกใจเกินไป แล้วก็ต้องไปอธิบายให้เขาเข้าใจด้วยว่า ที่เราต้องปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างนั้น มันเกี่ยวกับบำนาญที่เขาจะได้รับด้วย เพราะถ้าเขาอยากจะได้บำนาญชราภาพเดือนละ 7,000-8,000 บาท ถ้าจะเก็บจากฐานเงินเดือน 15,000 คงไม่ได้หรอก” อรุณี กล่าว
(อรุณี ศรีโต)
อรุณี ยังระบุว่า การเสนอปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พูดกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนโควิดอีก ซึ่งตอนนั้นมีการพูดกันว่า บำนาญชราภาพของผู้ใช้แรงงานน้อยมาก โดยคนที่เกษียณออกงานไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว หากเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้บำนาญอย่างมาก 5,000 บาท แต่หากเป็นมาตรา 39 จะได้บำนาญเดือนละ 1,000 กว่าบาท เท่านั้น
“เดิมทีมีแรงงานกลุ่มรถยนต์ เขามาบอกเราว่า เงินเดือนเขา 2-3 หมื่นบาทแล้ว ถ้าเก็บจากฐานเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ก็ยินดี เพราะเขาต้องการเงินบำนาญตอนปลายทางชีวิตเพิ่มขึ้น จึงได้มีการทำประชาพิจารณ์กัน และแนวทางนี้ กลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300-400 บาท จะไม่กระทบอะไรเลย แต่พอเจอโควิดก็เงียบไป แล้วตอนนี้ก็มีการเสนอขึ้นมาใหม่” อรุณี ระบุ
@‘นักวิชาการ’เห็นด้วยปรับเพิ่ม ‘เพดานค่าจ้าง’ ชี้ได้ประโยชน์ 2 ฝ่าย
ด้าน วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ สปส. ที่จะเสนอให้มีการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง และเห็นว่าข้อเสนอการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท นั้น ยังน้อยเกินไปด้วยซ้ำ
“ตั้งแต่มีการตั้งกองทุนฯมาเป็นเวลา 30 กว่าปี เราไม่มีการปรับ (เพดานค่าจ้าง) เลย และเคยมีงานวิจัย 2-3 ชิ้น ที่ไปคำนวณถึงอนาคตของกองทุนประกันสังคม ก็ได้ผลทำนายคล้ายๆกันว่า อีกซัก 10-20 ปี กองทุนจะอยู่ไม่ไหวด้วยเงินที่เก็บตามอัตราปัจจุบัน และในปัจจุบันเงินเดือนเฉลี่ยของผู้ประกันตนก็ขึ้นมาจากเมื่อ 10 ปีก่อน เยอะแล้ว
อีกทั้งแนวทางการปรับเพดานเงินเดือนดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท กระเทือนอะไร และถ้ามองในระยะยาว เวลาเราพูดถึงผลประโยชน์จากบำนาญชราภาพ เมื่อคุณจ่ายน้อย เขาก็คำนวณเงินชดเชยหรือเงินตอบแทนน้อยตามไปด้วย เพราะขาเข้า 15,000 บาท เวลาขาออกก็คำนวณจาก 15,000 บาท เหมือนกัน” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ เสนอด้วยว่า “การปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง มันเลยเวลาที่จะค่อยๆ ทยอยขึ้นแล้ว ควรจะขึ้นทันทีเป็น 20,000 บาทเลย ซึ่งจะทำให้คนที่มีเงินเดือนเกิน 20,000 บาท จ่ายสมทบเพิ่มขึ้นเพียง 250 บาท ส่วนคนที่เงินเดือนเกิน 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเพิ่มตั้งแต่ 1 บาท ไปจนถึง 250 บาท”
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และมีความเป็นไปได้ในทางการเมือง ตนเห็นว่า ควรมีการปรับเพดานค่าจ้างให้เกิน 20,000 บาท เพราะหากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แล้ว เพดานค่าจ้างควรจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 'เท่าตัว' หรือเพิ่มเป็น 30,000 บาท แล้ว
“ผมเข้าใจว่าไม่มีใครกล้าเสนอเป็น ‘ดับเบิ้ล’ แค่เพดาน 25,000 บาท ก็ยังไม่มีใครกล้าเสนอแล้ว ส่วนเพดานค่าจ้างที่เสนอกันมาที่ตัวเลข 20,000 บาท ก็พูดกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แม้แต่ในรัฐบาล คสช. เอง แต่พอมีเสียงค้านออกมาหน่อย เขาก็ถอยทุกครั้ง ซึ่งตอนนี้เขาน่าจะอ้างเรื่องโควิดกัน” วิโรจน์ กล่าว
(วิโรจน์ ณ ระนอง ที่มาภาพ : TDRI)
ทั้งนี้ วิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีอย่างน้อย 2 เหตุผล ที่ทำให้คนคัดค้านการปรับเพิ่มเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในรูปแบบต่างๆ คือ 1.ไม่ไว้ใจรัฐบาลว่า เมื่อกองทุนฯได้เงินมากขึ้น รัฐบาลจะมีการนำเงินกองทุนไปใช้อย่าง ‘อีลุ่ยฉุยแฉก’ หรือไม่ และ 2.มองว่าเงินสมทบประกันสังคมเป็น ‘ภาษี’ อีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเป็นการบังคับเก็บจากผู้ประกันตน จึงไม่อยากเสียเพิ่ม
“ผมคิดว่ากองทุนฯมีหน้าที่ที่จะต้องบอกสถานะที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองเสนออะไรมา เช่น เสนอเอาเงินกองทุนไปทำโน่น ทำนี่ แล้วต้องทำตามหมด และผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองมากกว่านี้ อย่างเรื่องการปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ซึ่งไม่ Popular (เป็นที่นิยม) นั้น จะต้องมีคนตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยไปเรื่อยๆ” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ ย้ำด้วยว่า “ตอนนี้คนที่ทำงานมา 15 ปี แล้วออกมา จะได้บำนาญเดือนละ 3,000-4,000 บาท เป็นอย่างเก่ง ส่วนคนรุ่นนี้ ถ้าทำงานต่อไปอีก 10 ปี แล้วเกษียณออกมา โดยที่ยังได้รับบำนาญเดือนละ 3,000-4,000 บาท ก็ต้องบอกว่า อยู่ยาก มันจึงมีเหตุผลที่ต้องปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ทั้งเพื่อกองทุนฯ และประโยชน์ของผู้ประกันตนในระยะยาว”
อ่านประกอบ :
รายงาน ค.ต.ป.!ชี้ช่องโหว่ทุจริต เบิกค่ารักษาพยาบาล‘ประกันสังคม-บัตรทอง-สวัสดิการ ขรก.’
กรมบัญชีกลางเผย ขรก.ป่วยโควิดแยกกักตัวที่บ้าน เบิกค่ารักษาเหมาจ่ายได้ 1 พันบาท
เสียงเตือน‘สตง.-TDRI’อุดช่องโหว่ ค่ารักษาพยาบาล‘ขรก.’ ปีงบ 64 เบิก 8.5 หมื่นล.พุ่ง 19%
กรมบัญชีกลางเผยข้าราชการเสี่ยงหรือติดโควิดเบิกตรงได้ ไม่ต้องทดรองจ่าย
แก้เกณฑ์เบิกจ่ายตรง! 'กรมบัญชีกลาง' คุมค่ารักษาพยาบาล 7.4 หมื่นล้าน-พบทุจริตฟันอาญา
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงข่าวลือ ยืนยัน! 'ขรก.' ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม