“…สตง. มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบปัญหาเชิงระบบ ว่า มีปัญหาช่องโหว่ ในจุดไหนบ้างที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข อุดรอยรั่วไม่ให้เกิดการรั่วไหลของเงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปโจมตีการใช้จ่ายเงินของข้าราชการ เพราะ สตง. เองก็มีสถานะเป็นข้าราชการเหมือนกัน จึงเข้าใจเรื่องสิทธิการเบิกจ่ายเงินดี…”
................................
เป็นเสียงเตือนไปถึงรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ และกระทรวงการคลัง
เมื่อ ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ตั้งแต่ปีงบ 2547–2562 ค่ารักษาพยาบาลของ ‘ข้าราชการ’ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพิ่มจาก 16,994.30 ล้านบาท ในปีงบ 2547 เป็น 74,818.00 ล้านบาท ในปีงบ 2562 หรือเพิ่มขึ้น 4.4 เท่าตัวในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญในขณะที่สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ มีกลุ่มเป้าหมายเพียง 4.5 ล้านคน (ณ วันที่ 30 ก.ย.2562) ซึ่งเป็นสัดส่วนของประชากรที่น้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพอื่น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยต่อหัวที่สูงกว่า
สตง.ยังพบว่าการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการมี ‘ช่องโหว่’ หลายเรื่อง
เช่น สถานพยาบาลของรัฐ ‘ส่วนใหญ่’ ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง ทำให้ผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการฯ ณ สถานพยาบาลของรัฐที่ไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง จะต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ซึ่งเป็นภาระของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง
อีกทั้งเป็นภาระของส่วนราชการเจ้าสังกัด ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายฯ และยังทำให้มีความเสี่ยงในการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องตามระเบียบฯที่กระทรวงการคลังกำหนด เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจสอบเอกสารหลักฐานก่อนการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
จึงอาจเกิดการรั่วไหลของงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการได้
ขณะเดียวกัน ผลการตรวจสอบธุรกรรมก่อนการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (Pre-audit) ของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง โดยสำนักสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบรายละเอียดข้อมูลการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ‘ไม่ถูกต้อง’
เนื่องจากมี ‘ข้อจำกัด’ ด้านการบริหารจัดการของสถานพยาบาล เช่น สถานพยาบาลไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการเบิกจ่ายก่อนส่งเบิก และบุคลากรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบ หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายฯ หรือยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนในหลักเกณฑ์ใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ จากตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หลังการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (Post-audit) ของสถานพยาบาลที่เข้าระบบเบิกจ่ายตรง โดยสำนักวิจัยเพื่อพัฒนาการตรวจสอบการบริการสาธารณสุข (สพตส.) พบการเบิกจ่ายไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
เช่น เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลซ้ำซ้อน เบิกเกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด การเบิกค่ายาโดยไม่มีบันทึกการตรวจรักษา การส่งข้อมูลโรคร่วมจำนวนมากโดยไม่พบการวินิจฉัยโดยแพทย์เจ้าของไข้หรือไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนการวินิจฉัย ซึ่งทำให้เบิกค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าที่ควรจะเป็น
สตง. มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ และหน่วยงานที่กำกับดูแล อาทิ ให้จัดให้มีการสำรวจข้อมูลหรือประเมินผลสถานพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรงและไม่เข้าร่วมระบบเบิกจ่ายตรง และจัดให้มีการส่งผลการตรวจสอบ Pre-audit และ Post-audit ให้หน่วยงานเจ้าสังกัดของสถานพยาบาล เป็นต้น
“การตรวจสอบในเรื่องนี้ของ สตง. มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การตรวจสอบปัญหาเชิงระบบ ว่า มีปัญหาช่องโหว่ ในจุดไหนบ้างที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข อุดรอยรั่วไม่ให้เกิดการรั่วไหลของเงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปโจมตีการใช้จ่ายเงินของข้าราชการ เพราะ สตง. เองก็มีสถานะเป็นข้าราชการเหมือนกัน จึงเข้าใจเรื่องสิทธิการเบิกจ่ายเงินดี” ประจักษ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
(ประจักษ์ บุญยัง)
@งบค่ารักษาพยาบาล ‘ข้าราชการ’ ปีงบ 64 พุ่ง 8.5 หมื่นล้าน
ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดในปีงบ 2564 ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 8.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปีงบ 2563 ที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการอยู่ที่ 7.12 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 19.38%
โดยในปีงบ 2564 เดิมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการฯ ไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ วงเงิน 7.4 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฎว่างบประมาณที่จัดสรรไว้ดังกล่าวไม่เพียงพอ
กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ และครม. ต้องอนุมัติจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ เพิ่มเติมอีก 1.1 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ส่องงบกลาง! รายการเงิน 'ฉุกเฉินฯ' ปีงบ 64 'บิ๊กตู่-ครม.’ จัดสรร 1 แสนล. ทำอะไรบ้าง?)
ส่งผลให้งบรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการฯ เพิ่มเป็น 8.5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ในปีงบ 2565 นั้น แม้ว่ารัฐบาลได้ตั้งงบสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ที่วงเงิน 7.4 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังเป็นคำถามว่า งบประมาณที่ตั้งไว้จะมีเพียงพอหรือไม่ และหากไม่เพียงพอ ก็ต้องนำงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ มาใช้จ่ายเหมือนในปีงบ 2564 อีก
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2565 สำนักงบประมาณ)
@แนวโน้ม ‘ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ’ เพิ่มขึ้น ‘ทบต้น’ ใน 7-8 ปี
“งบ (ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆอยู่แล้ว ถ้าถามว่า รับไหวหรือรับไม่ไหว ตรงนี้เป็นเรื่องรัฐบาลต้องพิจารณา เพราะรัฐบาลมีอำนาจ แต่ไม่มีเงิน ต้องเอาเงินมาจากการเก็บภาษี หรือกู้เงินมา ซึ่งถ้าการจัดเก็บภาษีไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลทำงานลำบาก
โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายประจำ อาทิ เงินเดือนข้าราชการ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ถ้าเพิ่มขึ้นไปเยอะๆ จะเหลืองบไปทำอย่างอื่นน้อยลง” วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบสวัสดิการสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ มากว่า 20 ปี กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
วิโรจน์ บอกว่า แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการจะ ‘ช้าลง’ เมื่อเทียบกับในอดีต คือ จากเดิมที่ใช้เวลาเพียง 5-6 ปี งบส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น ‘เท่าตัว’ หรือ ‘ทบต้น’ เช่น จาก 2 หมื่นล้านบาทเป็น 4 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันการที่งบฯจะเพิ่มขึ้น ‘ทบต้น’ ต้องใช้เวลา 7-8 ปี เนื่องจากภาครัฐพยายามควบคุมงบส่วนนี้
“เขา (กรมบัญชีกลาง) ก็พยายามคุมในแบบของเขา เช่น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลคนไข้ใน มีการนำระบบ DRG (เงินค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยภายในตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม) มาใช้ หรือการให้ข้าราชการเข้ามาร่วมจ่าย ซึ่งมีค่อนข้างมาก เขาพยายามไม่ให้วิ่งขึ้นเร็ว เหมือนกับสมัยก่อน ที่ผ่านไป 5-6 ปี ค่ารักษาฯจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว” วิโรจน์ กล่าว
(วิโรจน์ ณ ระนอง)
@เสนอปรับปรุง ‘กติกา’ เบิกจ่ายงบรักษาพยาบาลข้าราชการ
วิโรจน์ ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบระบบการเบิกจ่ายงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ กับการเบิกจ่ายในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) หรืองบบัตรทอง และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม (สปส.) จะพบว่าการเบิกจ่ายงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ‘คุมงบได้ยากกว่า’ และหากงบไม่พอ ก็เอางบส่วนอื่นมาโปะ
“การเบิกค่ารักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นแบบ ‘ตั้งเบิกจ่าย’ ตามสิทธิ์ และมีการตั้งราคารายการค่ารักษาแต่ละรายการเอาไว้ แต่ปัญหา คือ สามารถไปหาหมอโดยไม่จำกัด เช่น ถ้าไปที่หนึ่งแล้วรักษาไม่ถูกใจ ก็จะไปรักษาอีกที่หนึ่ง ทำให้คุมงบได้ยาก แตกต่างจากระบบบัตรทอง และประกันสังคม ที่ตั้งงบเป็นรายหัวและถัวงบไม่ให้เกินกว่างบรวมที่ตั้งไว้” วิโรจน์ ย้ำ
ทั้งนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้งบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป วิโรจน์ เสนอว่า ภาครัฐและกรมบัญชีกลาง ควรทบทวนกติกาหรือกลไกการเบิกจ่ายงบส่วนนี้ เช่น การเปลี่ยนกติกาในการจ่ายเงินบางอย่าง ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดสถานพยาบาลในการรักษาพยาบาลของข้าราชการแต่ละราย เป็นต้น
“ในระบบประกันสังคม และระบบบัตรทอง ค่าใช้จ่ายจะถูกคุมโดยอัตราเหมาจ่ายรายหัว และเราจะไปหลายๆที่ไม่ได้ แต่ข้าราชการจะได้สิทธิกว้างกว่า ดังนั้น ถ้าจะคุม ต้องเปลี่ยนกติกาในการจ่ายเงินบางอย่าง หรืออาจจะต้องเข้าคุมเรื่องสถานพยาบาล เพราะมีบางคนไปหาหมอเดือนละ 10 กว่าครั้ง โดยเปลี่ยนสถานพยาบาลไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ภาครัฐไม่ควรนำระบบเหมาจ่ายมาใช้กับข้าราชการ เพราะแม้ว่าระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่มีอยู่ จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าระบบอื่นๆ แต่ส่วนหนึ่งก็เพื่อดึงคนให้อยู่ในระบบ เช่น หมอ หรือพยาบาล เป็นต้น เพียงแต่มีช่องโหว่ที่จะต้องเข้าไปควบคุมในรายละเอียด” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ ยังเสนอว่า หากกรมบัญชีกลาง ‘ไม่เก่ง’ หรือไม่เชี่ยวชาญ ในเรื่องการควบคุมประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบรักษาพยาบาลข้าราชการ น่าจะนำระบบการบริหารหลังบ้าน (back office) ของ สปสช. มาใช้ หรือนำระบบบริหารของบริษัทประกันฯมาปรับใช้ เพราะหากระบบบริหารมีความรัดกุม ก็จะพบช่องโหว่และเข้าไปแก้ปัญหาได้เร็ว
@ห่วง ‘งบกองทัพ’ เพิ่มมากกว่า ‘งบรักษาพยาบาลข้าราชการ’
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปหรือไม่ที่ภาครัฐจะใช้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการภายใต้บริษัทประกันภัยเอกชน วิโรจน์ กล่าวว่า ทำได้ แต่มีข้อจำกัด เพราะปัญหาของประกันเอกชน คือ มีเพดานค่ารักษาพยาบาลเอาไว้ หากค่าใช้จ่ายสูงจนชนเพดาน ข้าราชการจะต้องจ่ายเอง
“ถ้าใช้ระบบทำประกันสุขภาพให้ช้าราชการ ในรายที่มีค่าใช้จ่ายไม่มาก อาจจะ OK แต่ถ้าเป็นรายที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประกันเอกชนจะไม่ครอบคลุม และในทางปฏิบัติ มีความเป็นไปได้ว่าคุณภาพการรักษาพยาบาลอาจแย่กว่าเดิม เพราะถ้าโรงพยาบาลให้บริการในระดับเดียวกับข้าราชการได้รับอยู่ เขาจะขาดทุน” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่อยู่ที่เฉลี่ย 2 หมื่นบาท/คน/ปี ซึ่งสูงกว่างบเหมาจ่ายรายหัวในระบบบัตรทอง 4 เท่าตัว แม้จะลดลงจากในอดีตที่เคยห่างกัน 5 เท่าตัว แต่ก็ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังอยู่ระดับที่สูง
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นสิ่งน่ากังวลน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณกองทัพ
“งบรักษาพยาบาลข้าราชการที่เพิ่มเป็น 8 หมื่นล้านบาท ผมมองว่าไม่น่ากังวลเท่างบกองทัพที่เพิ่มขึ้นเป็นแสนล้าน งบพวกนั้นน่าห่วงกว่า เพราะเป็นการใช้จ่ายแบบอิรุ่ยฉุยแฉก” วิโรจน์ กล่าว
จากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่า ‘กรมบัญชีกลาง’ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการเบิกจ่ายงบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ จะมีแนวทางการ ‘อุดช่องโหว่’ การเบิกจ่ายงบในส่วนนี้ อย่างไร
อ่านประกอบ :
กรมบัญชีกลางเผยข้าราชการเสี่ยงหรือติดโควิดเบิกตรงได้ ไม่ต้องทดรองจ่าย
แก้เกณฑ์เบิกจ่ายตรง! 'กรมบัญชีกลาง' คุมค่ารักษาพยาบาล 7.4 หมื่นล้าน-พบทุจริตฟันอาญา
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงข่าวลือ ยืนยัน! 'ขรก.' ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม