"...แต่ภาพสะท้อนสำคัญ คือ การตรวจสอบการทุจริตการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการยังไม่มีระบบที่ช่วยสนับสนุนการตรวจสอบ และการวิเคราะห์การทุจริต ที่เป็นระบบอัจฉริยะ ยังคงต้องพึ่งพาการตรวจสอบแบบ Post audit ซึ่งต้องใช้ บุคลากรเป็นจำนวนมากและสามารถตรวจสอบได้น้อย..."
.....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา รับทราบรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และรายงานผลการประเมินตนเองของคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ในรายงานผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการดังกล่าว มีการรายงานผลการตรวจสอบ ประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลในการดำเนินงานสวัสดิการภาครัฐ : ระบบหลักประกันสุขภาพ (ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@'อนุ ค.ต.ป.'ตรวจสอบระบบป้องกันทุจริตระบบหลักประกันสุขภาพ
คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) โดย คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ร่วมกับ ค.ต.ป. ประจำกระทรวง ได้ตรวจสอบประเด็นความมีประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูลในการดำเนินงานสวัสดิการภาครัฐ ในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพ (ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ)
ในประเด็นที่ว่า ระบบสารสนเทศที่ใช้สนับสนุนภารกิจของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง (บก.) สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ใช้บริการอยู่มากน้อยเพียงใด และสามารถยกระดับให้สูงขึ้น เพื่อจัดบริการให้กับประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนระบบงานมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และมีระบบที่ดีในการป้องกันทุจริตได้หรือไม่
โดย อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ได้รายงานผลการตรวจสอบ และมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
@‘สปสช.’ยังไม่มีระบบตรวจสอบ-วิเคราะห์การทุจริตแบบ ‘อัจฉริยะ’
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (งบบัตรทอง)
จากผลการตรวจสอบของ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงสาธารณสุข และการตรวจเยี่ยมของ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า สปสช. มีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยที่สุดและสามารถต่อยอด เพื่อบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก สปสช. มีการลงทุนเกี่ยวกับระบบสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ
1.การทุจริตที่เกิดขึ้นจากกรณีที่หน่วยบริการสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จ ถึงแม้ว่า สปสช. จะได้ยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขกับหน่วยบริการที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ รวมทั้งดำเนินการ ทางแพ่ง อาญา และทางปกครอง ไปแล้วก็ตาม
แต่ภาพสะท้อนสำคัญ คือ การตรวจสอบการทุจริตการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการยังไม่มีระบบที่ช่วยสนับสนุนการตรวจสอบ และการวิเคราะห์การทุจริต ที่เป็นระบบอัจฉริยะ ยังคงต้องพึ่งพาการตรวจสอบแบบ Post audit ซึ่งต้องใช้ บุคลากรเป็นจำนวนมากและสามารถตรวจสอบได้น้อย
อย่างไรก็ดี สปสช. ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และมีแผนงานที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องการทุจริตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แจ้งให้ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงสาธารณสุข และ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ทราบว่าจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
2.โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Cloud Service) ยังคงพบปัญหาว่า ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ไม่สามารถตอบสนองความ ต้องการของ สปสช. ได้เนื่องจาก ปริมาณข้อมูลของ สปสช. มีเป็นจำนวนมาก ซึ่งในประเด็นดังกล่าวยังไม่มีความ ชัดเจนถึงข้อสรุปว่าจะดำเนินงานไปในทิศทางใด
ข้อเสนอแนะต่อ สปสช. มีดังนี้
1.พัฒนาระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fraud Detection and Fraud Analytics) ทั้งในระดับบุคคลและระดับ หน่วยบริการเพื่อใช้ในการตรวจสอบเรียกคืนเงิน จากสถานพยาบาล โดยการใช้เทคโนโลยีทางด้าน AI และ Machine Learning มาช่วยในการวิเคราะห์ และตรวจจับการทุจริต
2.ดำเนินการหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เพื่อหา ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์กลางภาครัฐโดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
3.เร่งรัดแผนงานดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุจริต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการพิสูจน์ อัตลักษณ์บุคคลก่อนเข้ารับบริการ และรายงานเรื่องดังกล่าวให้ ค.ต.ป. กระทรวงสาธารสุข เพื่อนำเสนอให้ ค.ต.ป. รายงานต่อ ครม.เพื่อทราบต่อไป
@บุคลากรแพทย์ไม่พอตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาล ‘สปส.’
ระบบประกันสังคม
จากผลการตรวจสอบของ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงแรงงาน และการตรวจเยี่ยมของ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 พบว่า ระบบสารสนเทศของ สปส. เป็นระบบที่ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงาน จึงมีความจำเป็น อย่างยิ่งที่ต้องยกระดับระบบสารสนเทศใหม่เพื่อทดแทนระบบเดิม อย่างไรก็ดี มีข้อค้นพบสำคัญ คือ
1.สปส. อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสารสนเทศใหม่เพื่อมาทดแทนระบบเก่า บน Mainframe ซึ่งใช้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง สปส. ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบว่า การพัฒนา ระบบสารสนเทศเพื่อทดแทนระบบบน Mainframe ไม่มีการพัฒนาให้ครอบคลุมการให้บริการทั้งหมด เช่น ระบบ e-Service ซึ่งทำให้ระบบสารสนเทศของสำนักงานประกันสังคมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รวมทั้งยุ่งยาก ต่อการบำรุงรักษา
ตลอดจนยังมีประเด็นปลีกย่อยในทางเทคนิคที่ควรพัฒนาให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างและนายจ้าง เช่น การยื่นคำร้องกรณีต่างๆ ของผู้ประกันตน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การยกระดับระบบสารสนเทศใหม่ของ สปส. ยังคงอยู่ระหว่างดำเนินการ (ขณะที่จัดทำรายงานยังดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จ)
2.การตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เกินสิทธิ มีเพียงร้อยละ 10 ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจสอบมีไม่เพียงพอ
ข้อเสนอแนะต่อ สปส. มีดังนี้
1.การยกระดับระบบสารสนเทศใหม่ของ สปส. ควรมีการพัฒนาระบบด้วยเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกัน เพื่อให้การใช้งานระบบมีความเป็นศูนย์กลางช่วยลดรอยต่อของระบบงานไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูล ผ่าน Web Service หรือ API รวมถึงการออกแบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูล ที่เกี่ยวข้องในระบบงานต่างๆ ร่วมกันได้ โดยที่จะไม่เกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูล อีกทั้งข้อมูลในระบบจะถูกต้อง เชื่อถือได้และเป็นมาตรฐานเดียวกัน
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับ DR Site กล่าวคือ ระบบป้องกันความเสียหาย จากการสูญเสีย ข้อมูล หรือซอฟต์แวร์ป้องกันความผิดพลาดจากผู้ใช้งานที่สามารถส่งผลต่อข้อมูลหรือระบบขององค์กร เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างต่อเนื่อง มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 Hardware ที่ใช้ควรมีความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลข้าม Site ได้โดยมีการใช้ Bandwidth ที่ต่ำ เพื่อให้สามารถใช้งานอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย หรือสามารถ Backup ข้อมูล หรือส่งผ่านข้อมูล แบบ Real time ได้
1.2 Software ระบบงานทั้งหมด ควรติดตั้งอยู่บนเทคโนโลยีที่เป็น Virtual machine เพื่อที่จะสามารถเพิ่มหรือลดจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน หรือสามารถเพิ่ม Performance ให้กับ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน ได้เมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มโดยไม่ต้องหยุดระบบ
สำหรับ Database ที่ใช้ควรที่จะสามารถใช้งานบนเทคโนโลยีที่เป็น Virtual machine ได้ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน และสามารถ Replication ข้อมูลระหว่าง DC และ DR โดยไม่ต้อง Replication เป็นส่วน ๆ ระหว่างระบบงานและ Database ซึ่งเทคโนโลยีข้างต้น ระบบสามารถรองรับการทำ DR Site ได้ทั้ง แบบ Hot Site และ Warm Site และ จะประหยัดค่า License และค่า Hardware
2.พัฒนาระบบการตรวจสอบการในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fraud Detection and Fraud Analytics) ทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการเพื่อใช้ในการตรวจสอบเรียกคืนเงินจาก สถานพยาบาล
โดยการใช้เทคโนโลยีทางด้าน AI และ Machine Learning มาช่วยในการวิเคราะห์และตรวจจับ การทุจริต ตลอดจนควรมีการพัฒนาระบบการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลก่อนเข้ารับบริการเพื่อเพิ่มความรัดกุมในการ ป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้
@แนะ‘กรมบัญชีกลาง’นำ AI มาช่วยวิเคราะห์-ตรวจจับการทุจริต
ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
จากผลการตรวจสอบของ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงการคลัง และการตรวจเยี่ยมของ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า ระบบสารสนเทศในปัจจุบันสามารถตอบสนองความต้องการ พื้นฐานของหน่วยงานได้ โดยที่ในระบบหลักประกันสุขภาพ 3 ระบบใหญ่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เป็นเพียงระบบเดียวที่มีการกำหนดให้มีการแสดงตนผ่านเครื่องรับรายการบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับระบบ Fraud Detection เพื่อป้องกันการทุจริต
โดยที่กรมบัญชีกลาง (บก.) ได้กำหนดมาตรการหรือแนวทางเมื่อมี การตรวจสอบ พบว่า มีการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลไปอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิ และการเรียกคืนเงิน ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.3/ว 199 ลงวันที่ 7 เม.ย.2564 โดยนำข้อแนะนำของ อ.ค.ต.ป. ในประเด็นการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการ เป็นส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์ และได้แจ้งเวียนให้ทุกหน่วยงานทราบแล้ว อย่างไรก็ดี มีข้อค้นพบสำคัญ คือ
1.ระบบ Fraud Detection การตรวจสอบการทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการ ยังไม่มีระบบที่ช่วยสนับสนุนการตรวจสอบและการวิเคราะห์การทุจริต ที่เป็นอัจฉริยะ
2.ระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบ Medical Benefit Data Base (MBDB) ยังไม่ติดตั้งบน DR Site จึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก
ข้อเสนอแนะต่อกรมบัญชีกลาง มีดังนี้
1.พัฒนาระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fraud Detection and Fraud Analytics) ทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการเพื่อใช้ในการตรวจสอบเรียกคืนเงินจากสถานพยาบาล โดยการใช้เทคโนโลยีทางด้าน AI และ Machine Learning มาช่วยในการวิเคราะห์และตรวจจับการทุจริต
2.เสนอแผนงานและโครงการต่ออธิบดีกรมบัญชีกลางในฐานะหัวหน้าส่วนราชการเพื่อ ยกระดับระบบสารสนเทศโดยเฉพาะประเด็นการทำ DR Site เพื่อป้องกันปัญหาความเสียหายจากการสูญเสียข้อมูล
@แนะเพิ่มรอบการรายงานผลการเบิกจ่ายเป็นทุก 7 วัน
นอกจากนี้ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 มีความเห็นว่า นอกจากการให้ความสำคัญเกี่ยวกับระบบสารสนเทศแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลบุคคลและฐานข้อมูลค่ารักษาพยาบาล ระหว่างหน่วยงาน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง (บก.)
เพราะการที่รอบระยะเวลาการประมวลผล (แจ้งสถานพยาบาล) ถูกกำหนดเป็นทุก 15 วัน นั้น ทำให้ระบบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของทั้ง 3 ระบบย่อมมีความเสี่ยง กรณีที่บุคคลได้เปลี่ยนสถานะแห่งสิทธิไปแล้ว อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 จึงมีข้อเสนอเสนอว่า
1.ควรมอบหมายให้ สปสช. สปส. และ บก. ยกระดับการดำเนินการในการกำหนดรอบ ของการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และประมวลผลเพื่อแจ้งต่อสถานพยาบาลทั่วประเทศให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยร่วมกันทบทวนระยะเวลาเพื่อกำหนดรอบการประมวลผลข้อมูลสถานะของบุคคลในระบบฐานข้อมูลให้เร็วขึ้น เช่น จากเดิมทุก ๆ 15 วัน เป็นทุก ๆ 7 วัน หรือ ประมวลผลทุกวันทำการ เป็นต้น
โดยขอให้ทั้ง 3 หน่วยงาน วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย รวมถึงต้นทุนการดำเนินการ และความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้บริหารสูงสุด ของแต่ละหน่วยงานเพื่อตัดสินใจต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของฐานข้อมูล และลดความเสี่ยง ในการใช้สิทธิการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
2.ควรมอบหมายให้ สปสช. เร่งรัดการดำเนินการเกี่บวกับแผนปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำมาตรฐานข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างหน่วยงานได้
3.ควรมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทสำคัญ ในการสร้าง Big data (health information) เพื่อใช้ในการวางแผนงานบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ข้อเสนอ ของ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ที่ขอให้ปรับรอบการประมวลผลให้เร็วขึ้นจะสามารถลดความสูญเสียเงิน งบประมาณที่เบิกไปอยางไม่ถูกต้องได้ สำหรับการป้องกันการทุจริต นั้น การใช้กลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วม กับระบบและจัดให้มีการพิสูจน์ตัวตนหรืออัตลักษณ์ของบุคคลก่อนเข้ารับบริการจะช่วยให้เกิดความรัดกุม...ซึ่งระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องเร่งดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว
ส่วนการพัฒนาระบบการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล (Fraud Detection and Fraud Analytics) ทั้ง ในระดับบุคคลและระดับหน่วยบริการเพื่อใช้ในการตรวจสอบเรียกคืนเงินจากสถานพยาบาล โดยการใช้เทคโนโลยี ทางด้าน AI และ Machine Learning มาช่วยในการวิเคราะห์และตรวจจับการทุจริต หรือ การเบิก ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ สามารถใช้จัดทำระบบสารสนเทศเป็นระบบเดียวที่ใช้ร่วมกันได้
หากได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานข้อมูลการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และปรับใช้หลักเกณฑ์ การเบิกค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนรูปแบบ วิธีการ ให้เหมือนกัน จะช่วยประหยัดงบประมาณ ในการดำเนินงานเรื่องดังกล่าว และสามารถกำกับ ควบคุมการเบิกค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
โดย อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 เห็นควรมอบหมายให้ สปสช. เป็นเจ้าภาพในการจัดทำข้อเสนอการจัดทำระบบ Fraud Detection and Fraud Analytics โดยการมีส่วนร่วม กับ สปส. และกรมบัญชีกลาง
และในประเด็นสำคัญที่สุด คือ การสร้างมูลค่าของข้อมูลสุขภาพ ในปัจจุบันข้อมูลสุขภาพ ทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลค่ารักษาพยาบาล ข้อมูลสุขภาพของแต่บุคคล ถูกจัดเก็บแบบแยกส่วนการรวบรวมข้อมูล ให้เกิด Big data นั้น จะยังผลประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 เห็นควรมอบหมาย ให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลัก หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยการทำ Big data จะต้องคำนึงถึง ความปลอดภัยและการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบด้วย โดยทั้งสองกรณีให้รายงาน ต่อ ค.ต.ป. ประจำกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรายงานต่อ ค.ต.ป. และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป” อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ให้ความเห็น
เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ หรือ ค.ต.ป. ต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการปิดช่องโหว่การทุจริตการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งแต่ละปีพบว่ามีการเบิกจ่ายงบค่ารักษาพยาบาลไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท เลยทีเดียว
ข้อมูลเพิ่มเติม : อ.ค.ต.ป. เฉพาะกิจ คณะที่ 4 ยังได้เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์และรูปแบบของการบริหารจัดการของทั้ง 3 ระบบ มีรายละเอียด ดังนี้
อ่านประกอบ :
กรมบัญชีกลางเผย ขรก.ป่วยโควิดแยกกักตัวที่บ้าน เบิกค่ารักษาเหมาจ่ายได้ 1 พันบาท
เสียงเตือน‘สตง.-TDRI’อุดช่องโหว่ ค่ารักษาพยาบาล‘ขรก.’ ปีงบ 64 เบิก 8.5 หมื่นล.พุ่ง 19%
กรมบัญชีกลางเผยข้าราชการเสี่ยงหรือติดโควิดเบิกตรงได้ ไม่ต้องทดรองจ่าย
แก้เกณฑ์เบิกจ่ายตรง! 'กรมบัญชีกลาง' คุมค่ารักษาพยาบาล 7.4 หมื่นล้าน-พบทุจริตฟันอาญา
กรมบัญชีกลาง ชี้แจงข่าวลือ ยืนยัน! 'ขรก.' ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเหมือนเดิม