‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดตัดสินคดี ‘ไชน่า เรลเวย์ฯ’ ฟ้อง ‘รฟท.-พวก’ ออกคำสั่งกรณีการประมูลสัญญาที่ 3-1 รถไฟความเร็วสูง ‘กรุงเทพ-โคราช’ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 10 ม.ค.นี้
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 3/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 1541/2564 ระหว่าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงานของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ว่า
คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 เรื่อง กำหนดแบบประกาศและเอกสารเชิญชวนในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุฯ
และหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 289 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้า ให้แก่บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (ผู้ร้องสอด) เป็นการเฉพาะราย ผู้ร้องสอดจึงถือเป็นกิจการร่วมค้าที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นผลงานในการยื่นประกวดราคาได้ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาพิพากษาเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ทั้งนี้ ให้คำสั่งศาลที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 มีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ในกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์ หรือจนกว่าศาลมีคำสั่งถึงที่สุดไม่รับอุทธรณ์ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ หากศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผู้ชนะการเสนอราคา ตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เรื่อง ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2563 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามประกาศประกวดราคาฉบับดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการกิจการสาธารณะซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บรรลุผลโดยเร็วต่อไป
เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจยกเว้นหรือผ่อนผันเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ แต่มิได้บัญญัติให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นหรือผ่อนผันให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเป็นการเฉพาะ
อีกทั้งหนังสือคณะกรรมการนโยบายฯ ด่วนที่สุด ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ออกโดยใช้อำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ ตามมาตรา 24 (6) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ในการกำหนดแบบเอกสารซื้อหรือจ้างพร้อมประกาศเชิญชวน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น การยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือดังกล่าว
จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ โดยเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่มีอำนาจในการยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่าข้อกำหนดใดมีความไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือเป็นเหตุให้เกิดข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ย่อมมีอำนาจที่จะทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกเพิกถอนข้อกำหนดนั้นได้ แล้วจึงออกข้อกำหนดขึ้นใหม่เพื่อใช้บังคับกับผู้ยื่นข้อเสนอราคาอย่างเท่าเทียม
มิใช่ยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการเฉพาะรายมิเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงแน่นอนแห่งนิติสถานะ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการนโยบายฯ ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นกิจการร่วมค้าให้แก่ผู้ร้องสอดเป็นการเฉพาะราย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้ร้องสอดจึงมีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ผู้ร้องสอดในนาม “บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด” จึงต้องมีผลงานก่อสร้างในนามบริษัทดังกล่าว โดยไม่สามารถนำผลงานก่อสร้างของผู้ถือหุ้นมาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของผู้ร้องสอดได้
เมื่อผู้ร้องสอดยื่นข้อเสนอราคาโดยใช้ผลงานก่อสร้างของบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี จำกัด โดยไม่ได้ยื่นผลงานก่อสร้างที่ทำในนามบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ร้องสอดประสงค์จะเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ แต่เมื่อบริษัทผู้ร้องสอดมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้ถือหุ้น จึงต้องถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกของกิจการร่วมค้า
เมื่อประกาศและเอกสารประกวดราคาฯ กำหนดให้สมาชิกของกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ทุกรายต้องเป็นนิติบุคคล และต้องมีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง แต่ผู้ร้องสอดมีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และไม่ได้มีอาชีพรับจ้างตามที่ประกวดราคาจ้าง ผู้ร้องสอดจึงไม่มีคุณสมบัติในการยื่นข้อเสนอราคาในนามกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องสอด โดยพิจารณาคุณสมบัติของผู้ร้องสอดตามหนังสือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/037996 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ซึ่งอนุมัติยกเว้นให้ผู้ร้องสอดเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ และพิจารณาต่อไปว่า ผู้ร้องสอดสามารถนำผลงานของผู้ร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาใช้แสดงเป็นผลงานในการยื่นประกวดราคา
จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องสอด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.สูงสุด’ สั่งชะลอประมูล ‘สัญญา 3-1’ รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช
ศาล ปค.เบรกสร้าง‘ไฮสปีดเทรน’ไทย-จีน สัญญา 3-1 เหตุคำสั่ง กก.อุทธรณ์ฯอาจมิชอบ
ลุ้น 'ศาลปค.สูงสุด' ชี้ขาดเดินหน้าสัญญา 3-1 รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช 31 พ.ค.นี้