‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ‘ทุเลาการบังคับ’ คำสั่งคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ กรณีมีคำสั่งให้ 'รฟท.' เดินหน้าประมูลสัญญา 3-1 โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครราชสีมา
....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 3/2564 ระหว่าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทนเอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา)
โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น กรณีคณะกรรมการฯมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ตามมาตรา 119 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
สำหรับคดีนี้ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด ซึ่งทำสัญญาร่วมค้าอันมีลักษณะเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ฟ้องว่า รฟท. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 3 คน กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีคำสั่ง ลว. 29 ส.ค.2562 อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กนบ) 0405.2/ว 410 ลว. 24 ต.ค. 2560 ให้แก่ บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (กลุ่มบริษัท นภาก่อสร้างและพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) ในฐานะผู้ร้องสอด เป็นการเฉพาะราย
นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงานนั้น ฟังขึ้น ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลว. 21 ต.ค.2563 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟท.) กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดี (บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด) ได้มีหนังสือโต้แย้งคัดค้านไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟท.) แต่ไม่เป็นผล ทำให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ได้รับความเสียหาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟไทย–จีน สัญญา 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ–หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ–นครราชสีมา) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เนื่องจากเห็นว่าการทุเลาบังคับคดีในครั้งนี้ ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ และไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะของการรถไฟฯ
อย่างไรก็ดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (รฟท.) และผู้ร้องสอด (บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. อนุมัติผลการประมูลสัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยอนุมัติให้ ITD-CREC No.10JV เป็นผู้ชนะประมูล โดยเสนอราคาที่ 9,349 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 11,386 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลาง 2,037 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ITD-CREC No.10JV ไม่ใช่กลุ่มที่เสนอราคาต่ำ แต่เป็น บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด และพันธมิตรจากประเทศมาเลเซีย) ที่เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,330 ล้านบาท โดยเสนอราคาต่ำกว่า ITD-CREC No.10JV ประมาณ 19 ล้านบาท และเนื่องจากบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ เพราะเอกสารการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ไม่ถูกต้อง จึงถูกตัดสิทธิไป
ต่อมา บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ยื่นอุทธรณ์ผลการประมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยว่าบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด มีคุณสมบัติถูกต้อง และให้ รฟท. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทนเอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลฯพิจารณาว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่มีคำวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของบริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด ในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหนังสือรับรองผลงานนั้น ฟังขึ้น ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กอร) 0405.5/52945 ลว. 21 ต.ค.2563 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.เบรกสร้าง‘ไฮสปีดเทรน’ไทย-จีน สัญญา 3-1 เหตุคำสั่ง กก.อุทธรณ์ฯอาจมิชอบ
ลุ้น 'ศาลปค.สูงสุด' ชี้ขาดเดินหน้าสัญญา 3-1 รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช 31 พ.ค.นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/