เปิดเบื้องหลัง ‘กลุ่มทรู’ พึ่งศาลทรัพย์สินฯสั่งห้าม AIS PLAYBOX ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เหตุ ‘กสทช.’ มีหนังสือแจ้ง ‘กกท.’ สั่งอนุญาตให้ IPTV ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้ พร้อมจี้เปิดสัญญาลิขสิทธิ์บอลโลก ‘ฟีฟ่า-เอกชนรายอื่น’
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX แพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของ ‘กลุ่มทรู’ ในฐานะผู้ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช. 2305/53355 แจ้งไปยังนายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
โดยหนังสือฉบับนี้ระบุว่า ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 32/2565 เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย.2565 ได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป กรณีการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)
โดยมีมติว่าตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปฯกำหนดให้ผู้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง
มีหน้าที่จะต้องนำพาสัญญาณของรายการโทรทัศน์ของบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ไปออกอากาศให้ผู้ใช้บริการของตนได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไปจะต้องให้บริการโทรทัศน์ตามผังรายการโดยมีเนื้อหาเดียวกันทุกช่องทาง
ดังนั้น การที่กลุ่มทรูแจ้งให้ผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เผยแพร่รายการของกิจการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ไม่รวมถึง IPTV จึงเป็นการขัดต่อประกาศฯ ข้อ 6 ที่ต้องการให้ออกอากาศผ่านทุกช่องทาง
จึงเห็นชอบการแจ้งตอบแนวทางการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ดังนี้
1.ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 6 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
2.ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และควบคุมการออกอากาศการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปให้ออกอากาศเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
3.ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 4 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
@สั่ง ‘กกท.’ โชว์สัญญา-เงื่อนไขลิขสิทธิ์บอลโลก ‘ฟีฟ่า-เอกชนรายอื่น’
กสทช.ยังขอให้ กกท. ชี้แจงรายละเอียดของสัญญาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 ที่จัดทำกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) รวมทั้งสัญญาหรือข้อตกลงและเงื่อนไขทางลิขสิทธิ์ที่จัดทำขึ้นกับเอกชนรายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งขอให้ กกท.ดำเนินการให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฯ ให้เป็นไปตามระเบียบและประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เกิดความเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง
รวมทั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เงื่อนไข การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลโลกที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลง (MOU) การรับเงินสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
“ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการเชิญ กกท. กลุ่มทรู และสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯ เข้าชี้แจงข้อมูล ซึ่ง กกท.ชี้แจงต่อที่ประชุม โดยยืนยันการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จะปฏิบัติตามกฎ must carry และ must have ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด พร้อมกันนั้น กกท.ยอมรับว่าได้มอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฯให้กลุ่มทรูเพื่อแลกกับเงินสนับสนุนจำนวน 300 ล้านบาท
แบ่งเป็น 200 ล้านบาท สำหรับ terrestrial (การถ่ายทอดสดการแข่งขันบนระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน) และ 100 ล้านบาท สำหรับ PAY TV (บริการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) แต่พอที่ประชุมฯสอบถามถึงสัญญากับกลุ่มทรูว่าเป็นอย่างไร ทาง กกท.บอกยังไม่เสร็จ และยืนยันการให้ว่าเป็นการให้สิทธิ์แบบ exclusive sub licensing (การอนุญาตให้ใช้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวจากผู้ได้ลิขสิทธิ์)” แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
@'กสทช.'ยกคำขอ ‘ทรู วิชั่นส์’ ขอถ่ายทอดสดบอลโลก 64 แมทช์
ขณะเดียวกัน นายไตรรัตน์ ยังทำหนังสือด่วนที่สุดที่ กทช 2304/53396 ลงวันที่ 24 พ.ย.2565 ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู
โดยมีเนื้อหาว่า ตามหนังสือที่ บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด แจ้งความประสงค์ที่จะขออนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพรได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555
เพื่อถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ครบทั้ง 64 คู่ ผ่านโครงข่ายที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ในระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบไอพีทีวี ทางช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องรายการ True Sport 2 และช่องรายการ True Sport 5
เนื่องจากบริษัทในกลุ่มทรู ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ได้ร่วมให้การสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด FIFA World Cup Final 2022 แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และ กกท. ได้มอบสิทธิการถ่ายทอดและสิทธิประโยชน์ด้านสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่บริษัทในกลุ่มทรู ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ขอเรียนว่า ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 32/2565 เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 พิจารณาเห็นว่า เนื่องจาก กกท. ผู้ได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย FIFA World Cup Final 2022 ในประเทศไทย และ สำนักงาน กสทช. กับ กกท. ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการแข่งขันดังกล่าว
โดยกำหนดให้มีการออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้ง 64 คู่ ให้แก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ซึ่งการที่ กกท. ได้ดำเนินการมอบสิทธิให้แก่โทรทัศน์ที่ให้บริการที่เป็นการทั่วไปแล้ว
จึงถือว่า กกท. ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 แล้ว ดังนั้น ที่ประชุมจึงไม่พิจารณาคำร้องขอของบริษัทฯ
นอกจากนี้ นายไตรรัตน์ ได้ทำหนังสืออีก 1 ฉบับ คือ หนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53370 ลงวันที่ 24 พ.ย.2565 แจ้งไปยังผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) โดยแจ้งว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2565 ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบแนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป และผู้ได้รับใบอนุญาตฯมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปด้วย
@ศาลทรัพย์สินฯ สั่ง SBN ห้ามถ่ายทอดสดฯผ่านกล่อง AIS PLAYBOX
ทั้งนี้ หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือ 3 ฉบับดังกล่าวไปให้กับ กกท. ,กลุ่มทรู และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มทรูได้ยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งห้ามไม่ให้ IPTV แพร่ภาพสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิ ซึ่งก็คือกลุ่มทรู
กระทั่งต่อมาในวันที่ 26 พ.ย.2565 กลุ่มทรู เผยแพร่เอกสารข่าวโดยระบุว่า หลังจากมีความกังวลต่อการที่ผู้ให้บริการกล่อง IPTV หลายรายได้อ้างประกาศ Must Carry และดำเนินการแพร่ภาพสัญญาณการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิในลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะส่งผลกระทบถึงโอกาสในการรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) ในประเทศไทย นั้น
กลุ่มทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022) แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในระบบ IPTV และระบบ OTT ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่ประการใด จึงได้ดำเนินการปกป้องสิทธิตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาโดยยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเตอร์เน็ตรายหนึ่งที่ให้บริการผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราวด้วย
ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 พ.ย.2565 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯได้มีคำสั่งห้ามบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ผู้ให้บริการ AIS PLAYBOX แพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มทรูในฐานะผู้ได้รับสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
จากมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวกลุ่มทรูจึงขอแจ้งผู้ให้บริการโทรทัศน์ในระบบ IPTVและระบบ OTT ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างถูกต้องทั้งหมดระงับการแพร่เสียงและแพร่ภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย(FIFA World Cup Final 2022) ในทันที ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกับคำสั่งศาลดังกล่าวและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
“จากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯในครั้งนี้ กลุ่มทรูขอชี้แจงว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิในการรับชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของประชาชนทั่วไป คนไทยยังคงสามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายผ่านการให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป (ฟรีทีวี) ได้ตามปกติ รวมทั้งยังสามารถรับชมการแข่งขันได้ทุกแมตช์ผ่านผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (Pay TV) ในระบบเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียมที่ผ่านการเข้ารหัสสัญญาณตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว” เอกสารข่าวของกลุ่มทรูระบุ
อ่านประกอบ :
เปิดละเอียด! MOU หนุนค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-‘กสทช.’คุมจัดสรรถ่ายทอดสด-มีรายได้ต้องคืน‘กทปส.’
‘กลุ่มทรู’ มอบสิทธิ์ ‘ทีวีดิจิทัล’ ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แบบคู่ขนาน 16 แมทช์
'กกท.' แจงปม TRUE ยิงสดฟุตบอลโลก 32 แมทช์-แจ้ง IPTV ยื่นขอสิทธิ์ถ่ายทอดผ่าน'มือถือ'
'สมาคมโทรทัศน์ดิจิตอล' ร้อง กสทช.จัดสรรบอลโลกไม่เป็นธรรมหลัง 'ทรู' ได้สิทธิ์ 32 แมทช์
ฉายบอลโลกได้ข้อสรุปแบบเฉพาะหน้า! ตัวแทนสมาคมทีวีเผยต้องจับสลากแบ่งตารางถ่ายทอดสด
ดราม่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ใครคือต้นเหตุ?
เจาะลึก บ.อินฟรอนท์ นายหน้าลิขสิทธิ์บอลโลก 1.6 พันล.-หลานอดีต ปธ.ฟีฟ่านั่ง CEO
'จะให้ได้ราคาเหมาะสมที่สุด'-'ก้องศักด' ขอคำแนะนำฟีฟ่า หลังเจรจานายหน้าบอลโลกไม่ลงตัว
‘กสทช.-กกท.’ เซ็น MOU สนับสนุนเงิน ‘กทปส.’ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ฯถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
เบื้องลึก 'มติ กสทช.' เคาะ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-'เสียงข้างน้อย' เตือนขัด กม.
มติ 4 ต่อ 2 เสียง ! ‘กสทช.’อนุมัติใช้เงิน‘กทปส.’ 600 ล. สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก