‘ศาลปค.กลาง’ ให้โอกาส ‘กทม.-อนันดา-รฟม.’ ร่วมกันแก้ไขปมก่อสร้าง ‘แอชตัน-อโศก’ ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ห่วงลูกบ้าน 668 ห้องเดือดร้อน แต่หากแก้ไขไม่ได้ ให้รื้อถอนเฉพาะส่วนอาคารที่ก่อสร้างไม่ชอบ
..........................................
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 450/2560 ระหว่าง สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (ฟ้องขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร)
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 42 ในการออกคำสั่งกับบริษัท อนันดาฯ ให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40 เมตร) ให้แล้วเสร็จ ภายใน 90 วัน
ทั้งนี้ นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาท ให้เป็นไปตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
“คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ภายหลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักการโยธา) ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ได้ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ เลขที่ 18/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ตามแบบ กทม. 6 ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด)
ในการก่อสร้างอาคารตึก 7 ชั้น จำนวน 1 หลัง พื้นที่ 10,013 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัย จำนวน 23 ห้อง สำนักงาน จอดรถยนต์ บนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2345 โฉนดที่ดินเลขที่ 2451 โฉนดที่ดินเลขที่ 2452 และโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และต่อมาผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนหรือรายการคำนวณให้ถูกต้อง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แจ้งข้อทักท้วงแล้ว
และได้ยื่นแจ้งความประสงค์จะทำการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารเป็นอาคารชนิดตึก 50 ชั้น จำนวน 2 หลัง พื้นที่ 55,206.10 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอาคารชุดอยู่อาศัยจำนวน 783 ห้อง สำนักงาน จอดรถยนต์ พื้นที่ 1,512 ตารางเมตร และป้าย (บนผนังอาคาร) จำนวน 1 ป้าย เพื่อใช้เป็นป้ายชื่ออาคาร พื้นที่ 5 ตารางเมตร บนที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ เป็นครั้งที่สอง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกใบรับแจ้งเลขที่ 69/2558 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ตามแบบ กทม. 6 ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) และต่อมาผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ยื่นแจ้งฯ ตามมาตรา 39 ทวิ เป็นครั้งที่สาม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกใบรับแจ้งฯตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 และใบรับแจ้งฯตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 129/2560 ลงวันที่ 17พฤศจิกายน 2560 ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ซึ่งภายหลังผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ดำเนินการตามข้อทักท้วงแล้ว จึงได้ทำการก่อสร้างโครงการ
โดยในระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการของผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ผู้ฟ้องคดี (สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้ตรวจสอบแผ่นพับโฆษณาของโครงการดังกล่าวพบว่า ทางเข้าออกไปยังถนนอโศกมนตรี กว้าง 13 เมตร โดยเป็นถนนกว้าง 8 เมตร และเป็นทางเท้าด้านหนึ่งกว้าง 2 เมตร อีกด้านหนึ่งกว้าง 3 เมตร
ซึ่งขัดต่อข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12.00 เมตร ติดถนนขึ้นไปต้องติดถนนสาธารณะที่มีความกว้างไม่น้อยกว่า 18เมตร และขัดต่อข้อ 3 ของกฎกระทรวงดังกล่าว ที่ไม่จัดให้มีผิวถนนที่มีผิวการจราจรกว้างไม่ถึง 6 เมตร ที่ปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคารเพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวก
อีกทั้งการอนุญาตให้ใช้ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนอโศกมนตรี เป็นการกระทำนอกเหนือวัตถุประสงค์ในการเวนคืนเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล จึงไม่อาจกระทำได้ อันเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ในการก่อสร้างอาคารโครงการดังกล่าว ยังทำให้ตัวอาคารที่ทำการและรั้วคอนกรีต รวมทั้งเรือนคำเที่ยงของผู้ฟ้องคดี (สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์) ได้รับความเสียหายแตกร้าว ผู้ฟ้องคดี จึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอให้พิจารณาว่าการก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ของผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นไปตามข้อ 2 วรรคสอง และข้อ 3 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หรือไม่
หากไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการกับผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 แต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ และไม่ได้แจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีทราบ นั้น
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีหน้าที่ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการก่สร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารว่า น่าจะก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (1) ได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ลูกจ้างหรือบริวารของบุคคลดังกล่าว ระงับการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับอาคารพิพาทของผู้ร้องสอดที่ 2
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องเรียนนั้น โครงการแอชตัน-อโศก ของผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นอาคารที่ได้แจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิและอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร
การร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความกว้างของที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ของผู้ร้องสอดที่ 1 ว่าเป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 6 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับระยะระหว่างอาคารกับถนน ทางเท้าหรือที่สาธารณะ ตามหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ อย่างไร
จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้มีหนังสือแจ้งข้อทักท้วงภายหลังจากที่ได้ออกใบรับแจ้งและผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ได้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนหรือรายการคำนวณให้ถูกต้อง ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แจ้งข้อทักท้วงแล้ว หรือแม้แต่จะไม่มีการทักท้วงภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ที่จะให้ถือว่าการดำเนินการนั้น ๆได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ตามมาตรา 39 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522ก็ตาม
แต่ผลของบทบัญญัติดังกล่าว ก็มิได้ครอบคลุมถึงการกระทำเกี่ยวกับระยะระหว่างอาคารกับถนน ทางเท้าหรือที่สาธารณะ และการกระทำที่เกี่ยวกับบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารชนิดใดหรือประเภทใด ที่เป็นการผ่าฝืนกฎกระทรวง ประกาศ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามนัยมาตรา 39 ตรี วรรคสาม (2) และ (3) อันจะถือเป็นข้อยกเว้นของการได้รับอนุญาตจากเจ้าหนักงานท้องถิ่นกรณีไม่มีข้อทักท้วงโดยปริยาย
ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้อำนวยการเขตวัฒนา) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร การสั่งห้ามใช้หรือเข้าไปในส่วนใดๆ ของอาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว การสั่งให้ยื่นคำขออนุญาตหรือการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง การสั่งให้รื้อถอนอาคารตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 46 เพื่อดำเนินการใดๆ กับผู้ร้องสอดที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าการยื่นแจ้งความประสงค์เพื่อทำการก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นไปตามกฎกระทรวงฯ และข้อบัญญัติท้องถิ่นฯ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม มิได้ตรวจสอบตามข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีว่า พบอาคารของผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) ก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคารอันเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อตรวจสอบและแจ้งตอบข้อร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี และมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารพิพาท ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน หากพบว่ามีการกระทำตามข้อร้องเรียนดังกล่าวจริง
โดยขณะที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องเรียนถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างโครงการของผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดติดต่อกับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งทำให้มีเศษวัสดุจากการก่อสร้างตกหล่นเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และทำให้ตัวอาคารที่ทำการ รั้วคอนกรีต รวมทั้งเรือนคำเที่ยง ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องระยะระหว่างอาคารกับถนน ทางเท้า หรือที่สาธารณะว่า การก่อสร้างอาคารของผู้ร้องสอดที่ 3 เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และอาคารพิพาทได้มีการก่อสร้างโครงสร้างสูงเกินกว่า 30 ชั้น แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งได้รับหนังสือร้องเรียนของผู้ฟ้องคดีแล้วตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 กลับมิได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้ร้องสอดที่ 1ตามอำนาจหน้าที่ จนกระทั่งผู้ร้องสอดที่ 1 ก่อสร้างอาคารดังกล่าวจนแล้วเสร็จ
จึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการออกคำสั่งให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ส่วนที่ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อ 6 วรรคสอง ของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522….
อย่างไรก็ดี เมื่อคดีนี้ศาลได้วินิจฉัยในเบื้องต้นแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น จึงต้องใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณีดำเนินการกับผู้ร้องสอดที่ 1
สำหรับกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ และจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 42 ในการมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดที่ 1 ดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ก็ให้ดำเนินการแต่เฉพาะส่วนที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือในส่วนอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40 เมตรภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนดต่อไป
แต่เนื่องจากปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้มีการโอนขายให้แก่ประชาชนไปแล้วจำนวน 668 ห้อง จากการก่อสร้างห้องพักอาศัยจำนวนทั้งสิ้น 783 ห้อง ปรากฎตามคำให้การของผู้ร้องสอดที่ 3
ย่อมเห็นได้ว่า หากศาลจะมีคำบังคับดังกล่าว โดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เจ้าหน้าที่ผู้ออกใบรับแจ้งฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ได้หาวิธีการเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนและเสียหายให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 3 เจ้าของร่วม ที่ได้ซื้อห้องชุดในโครงการของผู้ร้องสอดที่ 2 ผู้ที่เชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งตามใบรับแจ้งฯ ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่ต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมอาคารของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ตามที่ศาลได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น
ประกอบกับประเด็นพิพาทสำคัญที่เป็นสาเหตุให้อาคารโครงการแอชตัน -โศกนี้ ถือเป็นการก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร คือการที่ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าวไม่มีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ตามที่กำหนดในข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
แต่โดยที่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า สภาพที่ดินที่ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการของผู้ร้องสอดที่ 2 มีความกว้าง 13 เมตร กล่าวคือเป็นทางจำเป็นกว้าง 6.40 เมตร รวมกับที่ดินกว้าง 6.60 เมตร ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอดที่ 2 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23189 โดยที่ดินติดถนนสาธารณะ (ถนนโศกมนตรี) ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่น (ถนนสุขุมวิท) ที่มีเขตทางกว้าง 30.00 เมตร
ซึ่งหากพิจารณาในทางพฤตินัย ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และสอดคล้องกับเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัย และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร เป็นต้น กรณีที่เป็นการก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ จึงเห็นว่าประเด็นดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเสียทีเดียว
ในการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามผู้ร้องสอดที่ 1 และผู้ร้องสอดที่ 2 จะได้ไปร่วมปรึกษาหาวิธีการแก้ไขให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าวมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร โดยการจัดหาที่ดินด้วยวิธีใดอันชอบด้วยกฎหมาย เพื่อทำให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารพิพาทเป็นไปตามข้อ 6 วรรคสองของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ได้กำหนดไว้
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา) ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อผู้ร้องสอดที่ 1 สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 42 ในการออกคำสั่งกับผู้ร้องสอดที่ 1 ให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40 เมตร) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
ทั้งนี้ นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ร้องสอดที่ 1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด) และผู้ร้องสอดที่ 2 (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.) ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาทให้เป็นไปตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก” ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 450/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 2413/2565 ลงวันที่ 24 พ.ย.2565 ระบุ
สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดี (สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์) ฟ้องว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ไม่ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กรณีบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (ผู้ร้องสอด) ได้ก่อสร้างอาคารโครงการแอชตัน-อโศก โดยไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ทำให้อาคาร เรือนไม้ รั้วคอนกรีตของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดีจึงได้มีหนังสือ ลว. 31 ต.ค. 2559 ร้องเรียนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว และใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งการให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารโครงการดังกล่าวแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท อนันดา เอ็มเอ็ฟ เอเชีย อโศก จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ออกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาว่า จากกรณีที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน อโศก ส่วนที่ก่อสร้างขึ้นมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบริษัท อนันดา เอ็มเอ็ฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้รับแจ้งจากศาลปกครองกลางให้เข้าเป็นคู่ความในฐานะผู้ร้องสอด เนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสียต่อกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางได้กำหนดนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 14 พ.ย.2565 และตุลาการผู้แถลงคดีได้แสดงความเห็น ใน 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กรณีพิพาทเกี่ยวกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง เป็นกรณีที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารชุด พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 40 ถึงมาตรา 43 จึงเป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) และที่ 3 (ผู้อำนวยการเขตวัฒนา) และผู้ร้องสอดที่1 (บริษัท อนันดา เอ็มเอ็ฟ เอเชีย อโศก จำกัด) จะต้องไปพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้อง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง
ประเด็นที่ 2 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 กับ ผู้ร้องสอดที่ 1 พิจารณาแก้ไขโครงการแอชตัน อโศก ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ ความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้มีผลผูกพันตุลาการเจ้าของสำนวนคดีและคู่พิพาทแต่อย่างใด ซึ่งศาลปกครองกลางได้กำหนดนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 24 พ.ย.2565
อนึ่ง คดีดังกล่าวเป็นเพียงการพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งยังไม่ถึงที่สุด คู่พิพาทยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดได้ อย่างไรก็ดี คดีในประเด็นดังกล่าวมานั้น เป็นประเด็นเดียวกับคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาภายในปี พ.ศ.2565
อ่านประกอบ :
‘ศาลปค.กลาง’ นัดชี้ขาดคดี ‘สยามสมาคมฯ’ ฟ้องรื้อถอนคอนโดหรู ‘แอชตัน-อโศก’ 24 พ.ย.นี้
‘ศาลปค.สูงสุด’ นัดพิจารณาคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 20 ก.ย.นี้
ร้องทบทวนหลักเกณฑ์! ‘สมาคมอาคารชุดฯ’ ชี้ถอนใบอนุญาต ‘แอชตัน อโศก’ กระทบวงกว้าง
พลิกปูมอาณาจักร'อนันดาฯ' บ.ย่อย 76 แห่ง ทุน 3.2 หมื่นล. ก่อนศาลฯสั่งคดี'แอชตัน อโศก'
ชี้เป้าโยธา กทม.- รฟม.! 'ศรีสุวรรณ' ตามเอาผิด ขรก.อนุญาตสร้างคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’
'ศาลปกครอง' สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯคอนโดหรู ‘แอชตัน อโศก’ 50 ชั้น-'อนันดาฯ'ยื่นอุทธรณ์
เมื่อแอชตัน คอนโด 50 ชั้น อโศก เสร็จแล้ว แต่โอนไม่ได้
แนะชงครม.แก้ปัญหาแอชตันคอนโด! ต่อตระกูล ยันผู้ว่าฯรฟม.ไม่มีอำนาจให้สิทธิ์ทำทางเข้า-ออก
สตง.สอบพบ รฟม. ให้สิทธิเอกชนใช้ปย.ที่ดินทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอความเห็นชอบ 'ครม.'
ปูดผู้บริหารฯอุบเงียบผลสอบ! เผยเบื้องหลัง รฟม.ให้สิทธิบ.ใช้ที่ทำทางเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.
โยนรฟม.แจงเอง!บมจ.อนันดาฯยันทำถูกต้องปมสตง.สอบใช้ปย.ที่ดินเข้า-ออกคอนโดหรูไม่ขอครม.