"...2.1 เงินหลวงขาดหายมากขนาดนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนรู้เห็นอะไรที่ตกหล่นจนผิดสังเกต บ้างเลยหรือ? กปภ. รัฐวิสาหกิจของชาติเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยได้ปันผลครบถ้วนตามจริงไหม? ถ้ายึดหลักเงินหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ กรณีนี้จะมีการสอบสวนย้อนหลังหรือไม่..."
การประมูลโครงการบริหารระบบท่อส่งน้ำ EEC มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทที่สังคมกำลังจับตา มีประเด็นที่สังคมไทยควรติดตาม ดังนี้
1. มีสินบนตลอดเส้นทางท่อส่งน้ำยาว 120 กม. พาดผ่าน 3 จังหวัด ชลบุรี - ระยอง – จันทบุรี หรือไม่?
เป็นที่รู้กันดีว่า โครงการก่อสร้างบนที่สาธารณะทั้งถนน สะพาน วางท่อประปา ท่อก๊าซ สายไฟฟ้าหรือสายสัญญาณ ล้วนต้องใช้ทุนและคอนเนคชั่นอย่างมากเพื่อ “เคลียร์พื้นที่” กับผู้มีอำนาจในการอนุญาตอนุมัติตลอดเส้นทาง เช่น อบต. อบจ. เทศบาล หน่วยงานด้านโยธา ชลประทาน เจ้าท่า ทางหลวง หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA, EHIA) เป็นต้น
นอกจากอำนาจตามกฎหมายแล้ว ผู้มีอำนาจในพื้นที่ยังมีส่วนช่วยในการทำประชาพิจารณ์แบบหวังผล และคอยดูแลมิให้ชาวบ้านร้องเรียนอีกด้วย
พฤติกรรมเช่นนี้สังคมควรได้รับรู้ แต่โครงการนี้มีการโปรยสินบนหรือไม่ ผมยังไม่มีข้อมูลครับ
2. การประมูลครั้งล่าสุดของโครงการนี้ได้เผยความจริงที่น่าพิศวงให้เห็น เมื่อผู้ชนะการประมูลรายใหม่เสนอผลประโยชน์ให้รัฐมากถึง 25,600 ล้านบาทจาก ขณะที่ผู้ประกอบการรายเดิมที่แพ้การประมูลเสนอให้ราว 24,000 ล้านบาท จากเดิมที่เคยจ่ายเพียง 552 ล้านบาทเท่านั้น แปลว่าจู่ๆ 30 ปีต่อจากนี้ เขามั่นใจว่าโครงการเดียวกันนี้จะมีกำไรมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมาถึง 23,400 ล้านบาทอย่างนั้นหรือ? ผู้ประมูลทั้งสองรายมีแรงจูงใจหรือเหตุผลอะไรที่สังคมยังไม่รู้หรือเปล่า
ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ
2.1 เงินหลวงขาดหายมากขนาดนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนรู้เห็นอะไรที่ตกหล่นจนผิดสังเกต บ้างเลยหรือ? กปภ. รัฐวิสาหกิจของชาติเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยได้ปันผลครบถ้วนตามจริงไหม? ถ้ายึดหลักเงินหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ กรณีนี้จะมีการสอบสวนย้อนหลังหรือไม่
2.2 มีผู้ให้ความเห็นว่า ยอดเงินที่เอกชนทั้งสองรายเสนอให้รัฐต่างกันเพียง 1,500 ล้านบาท ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่า เอกชนรายเดิมที่แพ้ประมูลมี กปภ. ถือหุ้นอยู่ 40% หากบริษัทมีกำไรย่อมต้องแบ่งให้ กปภ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อรวมกับเงินที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานแล้วรัฐย่อมได้เงินมากกว่า 1,500 ล้านบาท
ประเด็นนี้ ถ้าจะมองเพียงตัวเลขก็ใช่อยู่ แต่ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ กำหนดไว้ว่า ในการประมูลงานหน่วยงานรัฐจะนำผลประโยชน์หรือข้อเสนออื่นมาคิดรวมกันไม่ได้ เว้นแต่หน่วยงานจะอ้างอำนาจคณะกรรมการ อีอีซี ซึ่งผมนึกไม่ออกว่าจะมีปาฏิหารย์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่!!
3. ตามข่าวที่ปรากฏ โครงการนี้ไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่ใช้วิธีคัดเลือกจากเอกชน 5 ราย ทั้งที่ประเทศไทยมีผู้นักลงทุนและผู้รับเหมาจำนวนมากที่ทำงานประเภทนี้ได้ นี่อาจเป็นประเด็นความชอบธรรมในการประมูล
4. ข้อเสนอต่อ คณะกรรมการ อีอีซี น้ำที่นำมาขายผ่านระบบท่อของโครงการนี้แม้ต้องซื้อจากกรมชลประทาน แต่ก็คือน้ำจากธรรมชาติจากแม่น้ำลำคลองและแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติ แม้จะสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นบ้างแต่ก็เป็นน้ำที่ถูกชักมาจากห้วยหนองคลองบึงโดยรอบ น้ำจึงเป็นสาธารณะสมบัติของประชาชน
ดังนั้นคณะกรรมการ อีอีซี จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลกับสังคมด้วย ‘ความรับผิดชอบ’ ว่า
4.1 มีการศึกษาที่ชัดเจนและกำหนดกติกาไว้หรือไม่ว่า น้ำที่ผันไป อีอีซี จะปันมาจากแหล่งใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ แต่ละแหล่งทำได้มากแค่ไหนจึงจะไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนใกล้เคียง
4.2 มีหลักประกันอย่างไรแก่ประชาชน ว่าจะมีการแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม ระหว่างน้ำกินน้ำใช้ของชุมชน น้ำเพื่ออุตสาหกรรม และน้ำเพื่อการเกษตร ตลอดเส้นทางท่อส่งน้ำและในเขต อีอีซี เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งน้ำที่มักเป็นปัญหาขัดแย้งเสมอในยามน้ำแล้ง
การให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสเช่นนี้ สมควรที่คณะกรรมการ อีอีซี ต้องปฏิบัติกับโครงการทุกประเภทที่เกิดขึ้นแล้วและจะมีขึ้นในวันข้างหน้า
หลังจากนี้ คู่แข่งขันอาจตอบโต้กันโดยอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 เรื่องรัฐต้องปกป้องระบบสาธารณูปโภคมิให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนเกินร้อยละ 51 มาตรา 75 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ห้ามมิให้รัฐเข้าแข่งขันกับเอกชน เพราะคู่แข่งรายหนึ่งมี กปภ. ถือหุ้นด้วย เป็นต้น
สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลสั่งชะลอการทำสัญญากับผู้ชนะการประมูลคืออะไรนั้น เป็นเรื่องที่ท่านนายกฯ และกรมธนารักษ์ ต้องชี้แจงให้กระจ่างเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือต่อประชาชนและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ครับ
มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)