ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ มีมติ 252 เสียง ต่อ 1 เสียง รับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ’ วาระแรก ขณะที่ ‘สร.รฟท.’ ยื่นหนังสือถึง ‘ชวน’ คัดค้าน ‘ร่าง พ.ร.บ.ฯ’ เหตุยังไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน
................................
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวาระที่ 1 และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... โดยมีเสียงเห็นด้วย 252 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 25 คน
ทั้งนี้ ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ส.ส.ที่ใช้สิทธิอภิปรายส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วยกับหลักการ และสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพราะจะทำให้การพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีเอกภาพ พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ... โดยขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณารายละเอียดต่างๆของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้รอบคอบ เช่น
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงบทบาทการกำกับดูแล (Regulator) ออกจากผู้ให้บริการระบบราง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ โดยตนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 5 ประเด็น คือ 1.จะบูรณาการบริการจัดการระบบการขนส่งทางรางกับระบบการขนส่งอื่นๆ เช่น ถนน น้ำ และอากาศ ได้อย่างไร 2.การเปิดให้เอกชนมีสิทธิ์ใช้ระบบรางมากขึ้นนั้น มีรายละเอียดเป็นอย่างไร
3.คณะกรรมการสืบสวน สอบสวนและป้องกันอุบัติเหตุ อาจไม่มีอิสระในการสืบสวนสอบสวนฯอุบัติเหตุ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงอำนาจ 4.หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ จะมีผลกระทบต่ออำนาจ บทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของรางเดิมอย่างไร และ5.เหตุใดจึงวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรถไฟฟ้า และรถไฟ แตกต่างจากรถราง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พัฒนาระบบขนส่งได้ทุกรูปแบบ
“โชคดีที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ครม.ไม่ได้ล็อกหลักการเอาไว้ เขียนเพียงว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางราง ซึ่งตัวผมเอง และพรรคก้าวไกล สนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนฯรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... แล้วไปหาทางออกร่วมกันในวาระที่ 2 เพื่อให้ได้กฎหมายที่ดีที่สุดต่อประชาชน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
ด้าน นายกองตรี อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพราะเป็นร่างกฎหมายที่จะช่วยคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง อย่างไรก็ตาม ตนเป็นห่วงว่า การเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมประกอบกิจการขนส่งทางรางนั้น หากไม่ดำเนินการอย่างรอบคอบ จะทำให้ภาคเอกชนบางรายเข้ามาผูกขาดในกิจการขนส่งทางราง และอาจกำหนดค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมได้
ขณะที่ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สิ่งที่ตนกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกับคณะกรรมการฯ และหัวหน้าหน่วยงาน เช่น รมว.คมนาคม ในการดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงต้องพิจารณารายละเอียดให้ลึกซึ้ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่าบริการ รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องการทับซ้อนกับอำนาจของกฎหมายฉบับอื่นๆด้วย
“ที่ผ่านมามีการให้สัมปทานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง ซึ่งมีผลผูกพันตามสัญญาจนถึงขณะนี้มากมายหลายสัมปทานด้วยกัน เมื่อกฎหมายฉบับนี้ผ่านแล้ว จึงต้องดูว่าจะไปกระทบหรือทำให้รัฐเสียโอกาสหรือเสียเปรียบคู่สัญญาที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และปัจจุบันเรามีการรถไฟฯ (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพฯที่ดูแลรถไฟฟ้าสายสีเขียว แล้วหน่วยงานต่างๆเหล่านี้จะต้องดำเนินการอย่างไร” นายประเดิมชัย ระบุ
วันเดียวกัน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. และคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ยังไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อย่างครบถ้วน
นายสราวุธ กล่าวว่า สาเหตุที่ สร.รฟท. ต้องยื่นหนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... เนื่องจาก 1.กระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ อย่างรอบด้าน โดยมีการรับฟังความคิดร่าง พ.ร.บ. ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น 2.การให้อำนาจกับกรมการขนส่งทางรางเกินกว่าการกำกับดูแลมาตรฐานต่างๆ
และ 3.มีบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพ.ร.บ.การจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 และพ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 รวมถึงซ้ำซ้อน ขัดแย้งกับบรรดาสิทธิ และอำนาจของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543
อย่างไรก็ดี นายสราวุธ ระบุว่า หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ทาง สร.รฟท. ก็หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... จะนำข้อสังเกตของ สร.รฟท.ไปพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ
อ่านประกอบ :
เปิดเนื้อหา! ‘ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ’ ให้อำนาจรัฐแก้ปม’สัมปทาน’รถไฟฟ้าสายสีเขียว?
จับตา 3 ทางจบปัญหารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ม.44-พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-คืน รฟม.
กรมรางเล็งปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง-ใช้มาตรการภาษีจูงใจคนใช้บริการ