“…ในกรณีที่ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางดังกล่าว กระทำความผิดใดตามพระราชบัญญัตินี้ที่ถือเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางได้ หากเป็นการกระทำของผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถ ให้สั่งเพิกถอนสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางนั้นได้…”
..................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระแรก ในสมัยประชุมนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ครม.รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ให้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในวาระเรื่องเร่งด่วน นั้น
นอกจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะทำให้การบริหารจัดการระบบรางของทั้งประเทศ โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล มีการบริหารจัดการ 'แบบรวมศูนย์' แล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหารถไฟฟ้า 'สายสีเขียว' ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนที่เป็น 'ไข่แดง' หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ 'บีทีเอส' ในปี 2572 รวมถึง 'ส่วนต่อขยาย' ต่างๆ ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... ที่สำนักงานงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจเสร็จแล้ว (เรื่องเสร็จที่ 148/2565) และครม.มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 10 หมวด และบทเฉพาะกาล เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบ ดังนี้
@ตั้ง'คกก.นโยบายการขนส่งทางราง' นายกฯนั่งหัวโต๊ะ
หมวดที่ 1 คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง
ให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง’ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ
เช่น กำหนด ‘นโยบายแผนพัฒนาการขนส่งทางราง’ เสนอต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ ,พิจารณาและให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และเมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้เจ้าของโครงการเสนอโครงการดังกล่าวต่อ ครม. เพื่อดำเนินการต่อไป
เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์ จากการประกอบกิจการขนส่งทางรางต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ,เสนอแนวทางในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางรางต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ
เสนอแนวทางในการเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางบกอื่น รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ
กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าบริการอื่น รวมถึงกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร หรือได้รับการลดหย่อนค่าโดยสาร และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าบริการอื่น เป็นต้น
@
หมวดที่ 2 การจัดทำโครงการการขนส่งทางราง
ส่วนที่ 1 การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
ให้ ‘กรมการขนส่งทางราง’ จัดทำ ‘แผนพัฒนาการขนส่งทางราง’ เพื่อเป็นแผนแม่บทในการกำหนดนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เป็นเอกภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
-แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง ได้แก่ แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในระดับประเทศ
-แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในเขตเมือง ได้แก่ แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
-แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในเขตภูมิภาค ได้แก่ แผนการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางในเขตภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ขณะเดียวกัน ให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในการกำหนดแนวเส้นทางการขนส่งทางรางให้เหมาะสมแก่การบริการสาธารณะและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน
ซึ่งเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 16 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง ให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจสำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในการกำหนดแนวเส้นทางการขนส่งทางรางให้เหมาะสมแก่การบริการสาธารณะและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน
การดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ให้กรมการขนส่งทางรางจัดทำประกาศเพื่อกำหนดพื้นที่ที่จะทำการสำรวจ โดยปิดไว้ ณ บริเวณที่จะทำการสำรวจ และ ณ ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านที่บริเวณที่จะทำการสำรวจตั้งอยู่และให้ประกาศในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมการขนส่งทางรางเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวกด้วย….”
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 19 บัญญัติว่า “เมื่อกรมการขนส่งทางรางได้จัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเสร็จแล้ว ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ ให้กรมการขนส่งทางรางจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบและต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
ให้กรมการขนส่งทางรางรวบรวมและจัดทำข้อสรุปความคิดเห็นที่ได้รับตามวรรคหนึ่ง เพื่อประกอบการพิจารณาแผนพัฒนาการขนส่งทางรางของคณะกรรมการ”
@ลงทุนโครงการใหม่ หาก ครม.อนุมัติ ต้องปฏิบัติตาม กม.ร่วมทุนฯ
ส่วนที่ 2 การเสนอโครงการการขนส่งทางราง
การดำเนินการเสนอโครงการขนส่งทางของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ประสงค์จะจัดท าโครงการเกี่ยวกิจการขนส่งทางราง นั้น
หน่วยงานเจ้าของโครงการ จะต้องจัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ แล้วเสนอโครงการต่อกรมการขนส่งทางราง เพื่อพิจารณาเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง เพื่อเสนอต่อ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป และเมื่อแผนพัฒนาการขนส่งทางรางดังกล่าวได้รับการอนุมัติ กรมการขนส่งทางราง จะดำเนินการจัดสรรโครงการตามแผนให้แก่หน่วยงานต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบต่อไป
โดยเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ. มาตรา 21 ที่บัญญัติว่า “การดำเนินกิจการขนส่งทางราง อาจดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือให้มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้”
ขณะที่ในมาตรา 22 บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการเสนอโครงการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีรายการ ดังต่อไปนี้
ก.กรณีรถไฟและรถไฟฟ้า
(1) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ
(2) ขอบเขตของโครงการ
(3) ระยะเวลาของโครงการ
(4) ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาของโครงการ
(5) แหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ
(6) ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ซึ่งเกี่ยวข้อง
(7) การจัดให้มีสถานีเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางและการใช้สถานีร่วมกันกับเส้นทางอื่น
(8) การจัดให้มีสถานีสับเปลี่ยนรถขนส่งทางรางที่เหมาะสมกับปริมาณคนโดยสารหรือในกรณีการเชื่อมต่อการเดินทาง
(9) การให้ใช้เส้นทางร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น
(10) ระบบตั๋วร่วมกับเส้นทางอื่นกับระบบบริการขนส่งสาธารณะอื่น
(11) อัตราค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง ค่าบริการอื่น และหลักเกณฑ์การขึ้นค่าโดยสารที่จัดให้เป็นระบบเครือข่ายร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น
(12) ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นแก่ผู้ใช้บริการ
(13) แผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง
(14) ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อสาธารณะตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ข.กรณีรถราง ต้องมีรายการตามที่กำหนดไว้ตาม ก. (1) (2) (3) (4) (5) และ (6)
ในการนี้ หากมีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กำหนดสัดส่วนการลงทุนของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ด้วย”
ส่วนในมาตรา 23 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ให้มีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ให้เจ้าของโครงการเสนอโครงการขนส่งทางรางต่อคณะรัฐมนตรี โดยนอกจากรายการตามมาตรา 22 แล้ว ให้มีรายการดังต่อไปนี้เพิ่มด้วย
(1) ระยะเวลาการให้สัมปทาน
(2) ความคุ้มค่าในการลงทุน
(3) การให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ
(4) ส่วนแบ่งรายได้ ในกรณีที่รายได้ของเอกชนได้เกินกว่าการประมาณการในการให้สัมปทาน (ถ้ามี)
(5) เอกชนต้องมีคุณสมบัติที่จะได้รับใบอนุญาตตามหมวด 4
(6) สิทธิของบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงาน
(7) การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีที่จะต้องเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ถ้ามี)
(8) สิทธิในการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟ หรือรถไฟฟ้า หรือรถราง
(9) เงื่อนไขอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการให้สัมปทานตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
และมาตรา 24 บัญญัติว่า “เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกับโครงการขนส่งทางรางตามมาตรา 23 แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน”
นอกจากนี้ มาตรา 25 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินโครงการขนส่งทางรางหรือประกอบกิจการขนส่งทางรางเพื่อกิจการของตน โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนและดำเนินกิจการบนพื้นที่ของเอกชนทั้งหมด เอกชนไม่ต้องเสนอโครงการขนส่งทางรางตามส่วนนี้ แต่ต้องแจ้งให้กรมขนส่งทางรางทราบถึงการดำเนินโครงการขนส่งทางรางหรือการประกอบกิจการขนส่งทางรางนั้น โดยหากมีการก่อสร้างรางเพื่อการขนส่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีก่อน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขนส่งทางรางหรือการประกอบกิจการขนส่งทางรางของเอกชนจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการขนส่งทางรางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย...”
@กำหนดกรรมสิทธิ์ใน 'โครงสร้างพื้นฐานทางราง' เป็นของรัฐ
ส่วนที่ 3 การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง
ให้หน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโครงการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง ซึ่งจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์ มีอำนาจในการเวนคืนหรือกำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำ เนินกิจการขนส่งทางรางอันถือเป็นกิจการสาธารณะประโยชน์ และกำหนดเขตปลอดภัยในระหว่างการจัดสร้างโครงการการขนส่งทางราง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในระหว่างการจัดสร้างโครงการ
และในการกำกับดูแล ‘การจัดสร้าง’ ระบบการขนส่งทางราง นั้น กรมการขนส่งทางรางจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการได้ในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นก่อนเริ่มดำเนินการจัดสร้าง ในระหว่างการจัดสร้าง รวมถึงเมื่อมีการจัดสร้างแล้วเสร็จต้องมีการทดสอบโครงสร้างและระบบก่อนการใช้งานจริง เมื่อมั่นใจว่าโครงสร้างและระบบการขนส่งทางรางมีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานจึงจะอนุญาตให้เปิดให้บริการแก่ประชาชน
นอกจากนี้ เพื่อให้กิจการเดินรถขนส่งทางรางซึ่งเป็นบริการสาธารณะต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก จึงกำหนดให้กรรมสิทธิ์ในรางและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง ‘ตกเป็นของรัฐ’ และ ‘ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี’
โดย ร่าง พ.ร.บ. มาตรา 32 ได้บัญญัติว่า “ให้กรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐานทางรางเป็นของรัฐ เมื่อ
(1) ได้มีการจัดสร้างแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่กำหนด ในกรณีที่เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง
(2) ได้มีการอนุญาตให้เดินรถขนส่งทางราง ในกรณีที่เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง”
และมาตรา 33 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินที่ใช้ในการให้บริการขนส่งสาธารณะทางราง ไม่ว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชน ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”
@ให้อำนาจ 'คกก.นโยบายการขนส่งทางราง' กำหนดค่าโดยสาร 'ขั้นสูง'
หมวด 3 เขตระบบรถขนส่งทางราง และเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง
ในการดูแลความปลอดภัยของการเดินรถขนส่งทางราง และการอำนวยความสะดวกในการบำรุงรักษาระบบการขนส่งทางราง จะมีการประกาศเขตระบบรถขนส่งทางราง และเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง โดยสามารถกำหนดข้อห้ามกระทำการภายในเขตดังกล่าว รวมถึงกำหนดลักษณะการกระทำที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบการขนส่งทางราง
หมวด 4 การกำกับดูแลการประกอบกิจการ
ส่วนที่ 1 การขออนุญาต
กำหนดให้การประกอบกิจการขนส่งทางรางเป็นระบบอนุญาต โดยต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ซึ่งกฎหมายกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางไว้ 4 ประเภท ได้แก่
(1) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง
(2) ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง
(3) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง
(4) ใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวเนื่องอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ทั้งนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ,ใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางแต่ละประเภทให้มีอายุตามที่กฎหมายกำหนด และการต่ออายุใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ อธิบดีมีอำนาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
ส่วนที่ 2 หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง
ผู้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการขนส่งทางรางมีหน้าที่ต้องประกอบกิจการตามประเภทและเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ต้องดำเนินการประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐาน ,กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประจำหน้าที่ จัดส่งรายงานประกอบกิจการตามกำหนด ,ให้บริการอย่างเสมอภาค ,รายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ,จัดให้มีประกันภัย ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้
ส่วนที่ 3 การกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าบริการ
กำหนดให้กิจการขนส่งทางรางเพื่อการพาณิชย์เป็นบริการสาธารณะ เพื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ การเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่น แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
และให้มีขั้นตอนการทบทวนอัตราขั้นสูง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของข้อเท็จจริงในหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดอัตราขั้นสูงอย่างมีนัยสำคัญ หรือเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้ได้รับใบอนุญาต โดยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอทบทวนอัตราขั้นสูง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
โดยในร่าง พ.ร.บ. มาตรา 63 บัญญัติว่า “ผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าบริการอื่นในการขนส่งทางรางจากการประกอบกิจการขนส่งทางราง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามอัตราที่ผู้ได้รับใบอนุญาตกำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าบริการอื่นของผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ และต้องสอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจและประเภทของการให้บริการ...”
ส่วนที่ 4 การเชื่อมต่อรางเพื่อการขนส่งทางรางร่วมกัน
การเชื่อมต่อรางเพื่อการขนส่งร่วมกัน เจ้าของโครงการ หรือเอกชนเจ้าของรางหรือทางเฉพาะ มีหน้าที่ต้องยินยอมให้มีการเชื่อมต่อรางหรือทางเฉพาะเพื่อการขนส่งร่วมกันเมื่อมีการร้องขอ โดยปฏิบัติต่อผู้ขอเชื่อมต่อทุกรายอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อรางเพื่อการขนส่งทางรางร่วมกันให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
ส่วนที่ 5 การจัดสรรความจุ ตารางเวลาการเดินรถ และเส้นทาง
ให้มีคณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางรางขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ ครม. จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง
โดยมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง ที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ความเหมาะสมของการใช้การประโยชน์ราง กำหนดให้ผู้จัดการโครงสร้างพื้นฐานดำเนินการเพิ่มจำนวนเที่ยวในการให้บริการเดินรถขนส่งทางราง
@ตั้ง 'คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ'-เน้นมาตรการเชิงป้องกัน
หมวด 5 การสอบสวนอุบัติเหตุ
ส่วนที่ 1 คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ
ให้อำนาจรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ กำหนดองค์ประกอบหน้าที่และอำนาจ และวาระของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุ
ส่วนที่ 2 การสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์
การสอบสวนอุบัติเหตุควรเป็นไปโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงเพื่อให้ได้ผลการสอบสวนที่ถูกต้องอันจะส่งผลให้หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวกับการขนส่งทางราง สามารถนำผลรายงานการตรวจสอบ มากำหนดมาตรการเชิงป้องกันได้ถูกต้องเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการและผู้โดยสารต่อไป
ทั้งนี้ ให้การสอบสวนมีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์และหามาตรการป้องกันแทนการมุ่งหาบุคคลมาลงโทษ และต้องดำเนินการแยกออกจากการสอบสวนหรือการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม โดยได้นิยามความหมายของประเภทอุบัติเหตุ ได้แก่ (1) อุบัติเหตุ (2) อุบัติเหตุร้ายแรง และ (3) อุบัติการณ์
หมวด 6 ผู้ตรวจการขนส่งทางราง
กำหนดให้ผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่ตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และมีอำนาจในการเข้าไปในสถานประกอบการ รวมถึงยึดหรืออายัดไว้ซึ่งสิ่งของหรือเอกสารที่อยู่ในสถานประกอบการ เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
หมวด 7 ผู้ประจำหน้าที่
ผู้ที่จะมาเป็นผู้ประจำหน้าที่ในการขนส่งทางราง เช่น พนักงานขับรถขนส่งทางราง ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี คุณสมบัติของผู้ประจำหน้าที่ ประกอบด้วย (1) มีสัญชาติไทย (2) ได้รับใบรับรองจากสถาบันฝึกอบรมที่กรมการขนส่งทางรางรับรอง (3) มีความประพฤติเรียบร้อย (4) มีอายุ สุขภาพร่างกายสมบูรณ์ ส่วนรายละเอียดของคุณสมบัติต่างๆ จะถูกกำหนดไว้ในกฎหมายลำดับรอง
ประเด็นสำคัญอีกเรื่อง คือ การรับรองสถาบันฝึกอบรมผู้ประจำหน้าที่ ให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่ให้การรับรองแก่หน่วยงานที่ประสงค์จะจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมผู้ประจำหน้าที่ โดยผู้ที่เป็นผู้ประจำหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยวินัยด้านความปลอดภัย รวมถึงรักษาสุขภาพร่างกาย ความรู้ความสามารถให้เป็นไปตามที่กำหนด เป็นต้น
หมวด 8 การจดทะเบียนรถขนส่งทางราง
เพื่อให้มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานของ ‘รถขนส่งทางราง’ จะต้องจดทะเบียนรถขนส่งทางรางกับนายทะเบียนของกรมการขนส่งทางราง และรถนั้นจะต้องมีคุณลักษณะตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและผ่านการตรวจสอบรับรองจากนิติบุคคลที่ได้รับการรับรองจากอธิบดี และเมื่อได้แผ่นป้ายทะเบียนแล้วจะต้องติดแผ่นป้ายตามแบบที่กำหนด
หมวด 9 การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ
ให้มีการกำหนดในการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก มีหลักประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกาย และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก จึงมีในเรื่องดังกล่าว
@กำหนดมาตรการลงโทษ ทั้ง 'มาตรการบังคับทางปกครอง-โทษอาญา'
หมวดที่ 10 บทกำหนดโทษ
เพื่อให้กฎหมายมีสภาพบังคับและมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ จึงต้องกำหนดมาตรการดังนี้
1.มาตรการบังคับทางปกครอง กำหนดประเภทของบุคคลที่อาจถูกดำเนินมาตราการลงโทษปรับทางปกครอง 3 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ประจำหน้าที่ (2) ผู้ได้รับใบอนุญาต และ (3) กรรมการ หรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ได้รับใบอนุญาต โดยมีหลักเกณฑ์ในประเด็นต่างๆ เช่น ระดับชั้นของโทษปรับทางปกครอง และการวินิจฉัยโทษปรับทางปกครอง เป็นต้น
2.การกำหนดโทษทางอาญา มีฐานความผิด ในกรณีที่บุคคลใดได้ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับกิจการขนส่งทางราง รวมทั้งโทษที่เกิดจากการกระทำอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบการขนส่งทางราง
@ให้อำนาจรัฐสั่งเพิกถอน 'สัมปทานเดิม' ได้ หากทำผิด กม.
บทเฉพาะกาล
เนื่องจากบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางรางเป็นกฎหมายใหม่ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ในวาระแรก ต้องกำหนดยกเว้นเรื่ององค์ประชุมไว้ และเพื่อให้ไม่กระทบสิทธิกับผู้ประกอบกิจการเดิมที่เป็นหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือผู้รับสัมปทานเดิม รวมถึงผู้ประจำหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่
จึงจำเป็นต้องกำหนดบทเฉพาะกาลในประเด็นต่างๆดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.นี้ อย่างเท่าเทียมกัน ดังต่อไปนี้
-คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการ ประกอบด้วย กรรมการที่กำหนดโดยตำแหน่ง แต่ต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
-บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่ รฟท. และ รฟม. มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้ โดยให้รัฐมนตรีออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้แก่ รฟท. และ รฟม. ภายในระยะเวลา 120 วัน
-ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญารับจ้างเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางแล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ ใช้บังคับให้ผู้ได้รับสัมปทาน หรือผู้ทำสัญญารับจ้างเดินรถกับ รฟท. หรือ รฟม. หรือกรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการขนส่งทางรางตามขอบเขตและสิทธิที่มีอยู่เดิมตามที่ได้รับสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถนั้นต่อไป จนกว่าสัมปทานหรือสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางดังกล่าว ‘กระทำความผิด’ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้สั่งเพิกถอนสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางนั้นได้
โดยร่าง พ.ร.บ. มาตรา 162 บัญญัติว่า “ในกรณีที่การประกอบกิจการขนส่งทางรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการให้สัมปทานหรือทำสัญญาว่าจ้างผู้ใดเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังคงมีสิทธิในการประกอบกิจการขนส่งทางรางตามขอบเขตและสิทธิที่มีอยู่เดิมตามที่ได้รับสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางนั้นต่อไป จนกว่าสัมปทานหรือสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
ให้การประกอบกิจการขนส่งทางรางของผู้ได้รับสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางตามวรรคหนึ่ง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้ และตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้ถือว่าผู้นั้นมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย รวมทั้งในกรณีที่ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางดังกล่าวกระทำความผิดใดตามพระราชบัญญัตินี้ที่ถือเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางได้ หากเป็นการกระทำของผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถ ให้สั่งเพิกถอนสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางนั้นได้
ในกรณีที่ผู้ได้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางตามวรรคหนึ่งรายใดทำความตกลงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานหรือสัญญานั้น ให้เป็นการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางตามพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางให้กับผู้รับสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางนั้น โดยให้ได้รับสิทธิประกอบกิจการขนส่งทางรางตามขอบเขตการให้บริการเดิมที่คู่กรณีได้ตกลงกัน และตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของสัญญาสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
ในกรณีที่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับสัมปทานหรือผู้ทำสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางที่ได้รับการต่ออายุสัญญาสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างการเดินรถขนส่งทางราง ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางตามพระราชบัญญัตินี้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานหรือสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางดังกล่าว และในระหว่างนั้นให้ยังคงให้บริการกิจการขนส่งทางรางต่อไปได้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีต้องพิจารณาคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางรางให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง”
-เพื่อรองรับกรณีที่ยังไม่มีการกำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง ตาม พ.ร.บ.นี้ ให้เขตระบบรถไฟฟ้าและเขตปลอดภัยระบบรถไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นให้ยังคงใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะมีการประกาศกำหนดเขตระบบรถขนส่งทางราง และเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางรางตาม พ.ร.บ.นี้
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ....ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็วๆนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมีข้อสังเกตในหลายประเด็น โดยฉพาะการให้อำนาจ ‘รมว.คมนาคม’ สั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานสัญญาว่าจ้างเดินรถขนส่งทางรางได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘ขัดแย้ง’ กับ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ
อ่านประกอบ :
จับตา 3 ทางจบปัญหารถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ม.44-พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-คืน รฟม.
กรมรางเล็งปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง-ใช้มาตรการภาษีจูงใจคนใช้บริการ