ที่ประชุม ‘ศบศ.’ เห็นชอบ 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ลงทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ‘ต่างชาติ’ ที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม พำนักในไทย ‘บิ๊กตู่’ ชี้จำเป็นต้องแก้ ‘ระเบียบ-กฎหมาย’ ที่ล่าสมัย ขณะที่ ‘สศช.’ ย้ำจีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.2% มองปีหน้าโต 3.5-4.5%
.................................
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ประชุมคณกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 4 มาตรการ ประกอบด้วย
1.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย 2.มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส 3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ และ 4.มาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะกลับมาขยายตัวที่ 1.2% เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 3/64 ติดลบน้อยกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2565 สศช.คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0% ของ GDP
“นายกฯยังกล่าวถึงการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ว่า ได้ดำเนินการทันที โดยสั่งห้ามการเดินทางจากประเทศเสี่ยงทันที และขณะนี้สามารถติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้ได้ครบหมดแล้ว เพื่อนำมาตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุม ทั้งนี้ คณะแพทย์ยังยืนยันว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากไวรัสโควิด-19 สายเดลต้าและโอไมครอน ได้ จึงอยากขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนด้วย” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ศบศ. ว่า วันนี้เป็นการประชุม ศบศ.เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ซึ่งเราต้องเร่งพัฒนา ซอฟท์พาวเวอร์ หรือ บทบาทในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมาตรการแรงดึงดูดที่จะทำให้คนมาลงทุนในประเทศไทย คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเรา แม้กระทั่งในเรื่องการถ่ายทำภาพยนตร์ก็มีการหารือทุกอัน
“ปัญหาหลัก คือ กฎระเบียบเดิมๆ ของเรา หรือกฎหมายที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่อย่างนั้น การลงทุนต่างๆ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หลายกฎหมายมีความล้าสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เรามีศักยภาพมากกว่า ก็ขอฝากไปยังประชาชนให้ทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลก็จะพยายามทำอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนโดยรวม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำว่า รัฐบาลต้องการพลิกโฉมประเทศ ฉะนั้น จะต้องทำทุกด้าน เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว เนื่องจากโลกไร้พรมแดน และมีหลายฝ่ายในโลกนี้ ก็ต้องแสวงหาประโยชน์จากทุกอันให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะมาพัฒนาประเทศ ที่จะมาดูแลผู้มีรายได้น้อย หรือมาลงทุนในด้านอื่นๆ ซึ่งศักยภาพของเรามีเยอะมาก วันนี้ก็มีการพูดถึงการองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในระบบ Cloud Computing และ Big Data ซึ่งมีการลงทุนและวิจัยหลายอย่างในประเทศไทย เราจะต้องหามาตรการที่จะลดปัญหาอุปสรรค ระหว่างกันให้มากที่สุด
“จากการประชุมร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน ธุรกิจข้ามชาติ เขายินดีลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หากเราปรับอัตราและมาตรการต่างๆให้เหมาะสม ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากพวกเรา และเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตรงนี้คือเรื่องความก้าวหน้าของประเทศไทย ที่จะพลิกโฉมประเทศไทยให้เร็วที่สุด และเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ถึงแม้ในช่วงนี้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดก็ตาม
แม้แต่เรื่องปัญหาแรงงานการตกงาน การจ้างงาน ตัวเลขมีชี้ชัดออกมา โดยเราบริหารข้อมูลโดยมี Big Data เข้ามาช่วย รวมถึงการบริหารงานในภาครัฐเพื่อลดเวลา ลดภาระประชาชน ของผู้ประกอบการให้มากที่สุด โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม นั้นคือการปฏิรูประบบราชการ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ที่ ศบศ. มีมติเห็นชอบดังกล่าว มีแนวทางสำคัญ ดังนี้
1.การกำหนดประเภทการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) โดยกระทรวงมหาดไทยเสนอร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ให้แก่คนต่างด้าวใน 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ซึ่งครอบคลุมคุณสมบัติ และแนวทางการยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติและคำขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท LTR ที่สำคัญ
อาทิ (1) วีซ่า LTR จะครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ 5 ปี และยื่นคำขอรับรองคุณสมบัติเพื่อขออยู่ต่อได้อีก 5 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้าออกราชอาณาจักร โดยรวมถึงคนต่างด้าวและผู้ติดตามซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (อายุไม่เกิน 20 ปี) จำนวนไม่เกิน 4 คน (2) กำหนดให้แจ้งที่พำนักอาศัยต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อพำนักครบ 1 ปี จากเดิมที่ต้องดำเนินการทุกรอบ 90 วัน(3) ได้รับอนุญาตให้ทำงานครั้งละ 5 ปีภายหลังได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และ (4) หากมีความประสงค์จะขอรับการตรวจลงตราเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์อื่น ให้สามารถกระทำได้ เป็นต้น
2.การให้สิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. พิจารณาโดยเร็วต่อไป
3.การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรมสรรพากรเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้ถือวีซ่า LTR โดยมีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ และกลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศและนำเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน
และการกำหนดให้ชาวต่างชาติผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษซึ่งทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร ขณะที่การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่ประชุมมอบหมายให้กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกในการจัดทำแนวทางการเดินทางพิเศษสำหรับผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักอาศัยระยะยาว (LTR) เป็นการเฉพาะ โดยจะเทียบเคียงกับสถานะการเดินทางทางการทูต (Diplomatic passport) และมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติเป็นการเฉพาะต่อไป
4.การจัดตั้งศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว รวมทั้งครอบคลุมการดำเนินภารกิจในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิงรุกและอำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาแก่ชาวต่างชาติที่ได้รับวีซ่า LTR เพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิสนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย แนวทางการดำเนินการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศ โดยเฉพาะการให้บริการ Data hosting services แก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ ,แนวทางการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมกิจกรรมกิจการคลาวด์เซอร์วิสในอนาคต
และแนวทางการสร้างความชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ให้บริการคลาวด์เกี่ยวกับการให้ข้อมูลของผู้ใช้บริการต่อเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการผลักดันนโยบายเกี่ยวกับบทบาทของผู้ให้บริการภาคเอกชนต่อการพัฒนาบริการคลาวด์ของภาครัฐ และหากได้ข้อยุติแล้ว ให้ สกท. เสนอต่อที่ประชุม ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป
ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ นั้น ที่ประชุมมอบหมายให้สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพให้แก่ผู้ประกอบการไทย
และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมาถ่ายทำในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยขยายผลไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านอื่น ๆ เพื่อผลักดัน Soft power ของไทยต่อไป
ข่าวประกอบ :
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
'บิ๊กตู่'เรียก ศบศ.ถกด่วน หามาตรการเยียวยาร้านอาหาร-ปิดแคมป์คนงาน
คุมเข้มโควิด! กทม.-ปริมณฑล ห้ามนั่งกินในร้าน-ปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน เริ่ม 28 มิ.ย.