เปิดแนวทางจัดทำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ การจัดซื้อจัดจ้างฯโครงการอื่นนอกเหนือ ‘พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ’ พบเขียนกติกาให้ ‘หน่วยงาน’ วางหลักเกณฑ์-เลือกผู้สังเกตการณ์เอง และกำหนดค่าตอบแทนให้ 'ผู้สังเกตการณ์' ได้ด้วย ขณะที่ ‘สศช.’ ชี้ปัจจัยที่ทำให้การทำข้อตกลงคุณธรรมสำเร็จ ‘ผู้สังเกตการณ์’ ต้องเป็นกลาง-ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย
..........................
สืบเนื่องจากกรณีที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เขียนบทความเรื่อง ‘มติ ครม. ล่าสุดว่าด้วย ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ฉบับ ‘หมกเม็ด’?’ โดยมีเนื้อหาว่า ข้อตกลงคุณธรรมฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 ซึ่งบังคับใช้กับโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ,พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนฯ (PPP) และการประมูลให้สัมปทานกับเอกชนที่เป็นการหารายได้ ซึ่งไม่ใช่การจัดซื้อ เป็นต้น
ได้กำหนดเงื่อนไขให้หน่วยงานที่นำข้อตกลงคุณธรรมฉบับดังกล่าวไปปฏิบัติ สามารถกำหนดกติกา รูปแบบแนวทางปฏิบัติ การเปิดเผยข้อมูล และคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้สังเกตการณ์ได้เอง เป็นต้น แตกต่างจากแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้กำกับดูแลอยู่ ซึ่งเป็นการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามกติกาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของรัฐ พ.ศ.2560 และเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำหรับแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมฉบับที่ ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2564 มีชื่อว่า “แนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม” โดยมีเนื้อหาว่า
กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือมีลักษณะการร่วมลงทุน นำการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างและปรับใช้อย่างเหมาะสม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1.แนวทางการดำเนินงาน
1.1 หน่วยงานกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐแจ้งโครงการที่จะเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม และต้องให้ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบตลอดจนเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
1.2 หน่วยงานมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม รวบรวมโครงการ และคัดเลือกโครงการเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม รวมถึงคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าเป็นผู้สังเกตการณ์โครงการที่เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.3 หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม จะต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้อื่นเสนอราคาว่าต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.4 เมื่อได้ผู้ชนะการเสนอราคาแล้ว หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ ผู้รับจ้าง ผู้สังเกตการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประชุมแผนปฏิบัติการ (Kickoff Meeting) ร่วมกัน และหลังจากนั้นผู้สังเกตการณ์จะเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
1.5 การประเมินผลโครงการตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด เพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการข้อตกลงคุณธรรมให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นต่อไป
2.การแต่งตั้งคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบ
หน่วยงานอาจกำหนดคณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม โดยให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบที่หน่วยงานแต่งตั้งกำกับ ดูแล และกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติแนวทางการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมตามที่หน่วยงานกำหนด
3.การคัดเลือกภาคประชาชนเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์
ให้คณะกรรมการหรือผู้รับผิดชอบตามที่หน่วยงานกำหนด ดำเนินการในการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยผู้สังเกตการณ์จะต้องเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมวิชาชีพ หรือภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้น โดยจะต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานกำหนด
4.ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรม
หน่วยงานอาจกำหนดอัตราค่าตอบแทนสำหรับผู้สังเกตการณ์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจในด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ผู้สังเกตการณ์ได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากผู้สังเกตการณ์มีภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการเป็นจำนวนมากและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง ดังนั้น หน่วยงานที่กำกับดูแลจะต้องขอจัดตั้งการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากเงินงบประมาณในการดำเนินงานข้อตกลงคุณธรรมโดยตรง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว กระทรวงต่างๆได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ครม. โดยเห็นว่าแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าว จะทำให้จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยให้การใช้จ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งช่วยให้ดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณเห็นว่า การนำแนวทางจัดทำข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าวมาใช้ ควรจัดทำข้อกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน ดัชนี และตัวชี้วัดของข้อตกลงคุณธรรมให้ชัดเจนในทางปฏิบัติ เพื่อให้สะท้อนถึงดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ของไทยในอันดับที่ดีขึ้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า “สมควรกำหนดให้ชัดเจนว่า จะนำไปใช้ในกรณีใดเพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติ"
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นตอนหนึ่งว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การจัดทำข้อตกลงคุณธรรมประสบความสำเร็จได้ คือ ผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลาง และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องวางระบบการคัดสรรและประเมินผู้สังเกตการณ์ให้ครบวงจร รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ ตลอดจนควรให้มีระบบการรายงานผลการดำเนินงานให้ ครม. ทราบต่อไป
อ่านประกอบ :
‘มติ ครม. ล่าสุดว่าด้วย ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ฉบับ ‘หมกเม็ด’?’
เพื่อความโปร่งใส! ครม.สั่งทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องทำ'ข้อตกลงคุณธรรม'
เผย 12 โครงการร่วม ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ปีงบ 64-ซื้อเครื่องบินโจมตีเบา 4.5 พันล.เข้าด้วย
ไม่ปฏิบัติเท่ากับล้มเหลว! ‘วิชา’ ชี้ภาครัฐถอนตัวจาก ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ สะท้อนถดถอยต้านทุจริต
จูบปากกันแน่น-กทม. ถอน2โครงการขยะ 8,000 ล้านจาก’ข้อตกลงคุณธรรม’
จัดซื้ออาวุธ ทบ. -ทอ. เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรม! ค.ป.ท. ช่วยยกเว้น ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
เปิดข้อมูล 4 โครงการ จัดซื้ออาวุธ 'ทบ.-ทอ.' เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรรม-ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เตรียมเปิดตัว 'ACT Ai' เครื่องมือตรวจสอบงบฯแผนฟื้นฟูศก.15 ก.ย.นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/