‘วิชา’ ชี้หน่วยงานรัฐถอนตัวจากโครงการ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ สะท้อนถึงความถดถอยต่อ ‘คำมั่น’ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน จี้รัฐบาลต้องแน่วแน่ ระบุการไม่ปฏิบัติเท่ากับ ‘ล้มเหลว’ ตั้งแต่แรก ขณะที่ประธานทีดีอาร์ไอ แนะรัฐจัดสรรงบ 0.5% จากงบที่ประหยัดได้จากการเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมไปใช้สนับสนุนการการต่อต้านคอร์รัปชั่น
................
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาเรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม : ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” โดยศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวระหว่างการเสวนาตอนหนึ่ง ว่า หากมีแต่เฉพาะภาครัฐที่ดำเนินการในการป้องกันการทุจริต ก็ไม่มีทางที่จะได้ผล เพราะการทำงานเป็นแบบรูทีน ทำงานตามแบบฟอร์ม ไม่ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่มีพลัง
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีภาคพลเมือง และต้องมีหุ้นส่วนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต และตรงนี้ถือเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
“ถ้าท่านเป็นแต่เพียงราษฎร เป็นแต่ People ธรรมดา คือ เกิดมาแล้วก็อยู่กันไป หายใจทิ้งไปวันๆหนึ่งในที่สุดแล้วก็ไปสู่เชิงตะกอน คือ ความตาย โดยไม่รู้สึกเลยว่า ตัวเองเป็นผู้สามารถสร้างประเทศ ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ทำให้ประเทศเราไม่อายเขา ข้อนี้เป็นข้อที่มีความสำคัญมาก
ตอนที่เราดำเนินการการปฏิรูปประเทศ หลังมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีการคุยกันตลอดเวลาถึงข้อตกลงคุณธรรม และพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ว่ามีผลดีอะไรบ้าง จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้คนไทย และโลกได้รับรู้ว่า ตรงนี้มีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมใสสะอาดขึ้น ปราศจากทุจริตคอร์รัปชัน และทำให้เกิดความหวังว่า คนไทยไม่ใช่สิ้นไร้ไม่ตอก ไม่ใช่ว่าเขาว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามนั้น” ศ.พิเศษ วิชากล่าว
@มีคนต้องการล้มข้อตกลงคุณธรรม-รัฐบาลต้องแน่วแน่
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวต่อว่า คนที่อาจจะไม่พอใจหรือต้องการล้ม หรือไม่อยากปฏิบัติตามข้อตกลงคุณธรรม เป็นเพราะไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของข้อตกลงคุณธรรม โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐ หรือ political will นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อรัฐบาลวางหรือปูพื้นฐานในด้านกฎหมาย เพื่อให้มีการขับเคลื่อนในด้านคุณธรรม จริยธรรมจริงจังแล้ว หากไม่มีการปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าล้มเหลวตั้งแต่แรกแล้ว แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอบคุณภาคธุรกิจที่เป็นตัวหลักในขับเคลื่อนในเรื่องนี้
“รัฐบาลต้องแน่วแน่ว่า เมื่อออกกฎหมายมาแล้ว การปฏิบัติต้องได้ผล ไม่ใช่ว่าล้มลุกคลุกคลานแบบนี้ แล้วหมดแรงไปเอง เช่น กำหนดว่ามีข้อตกลงคุณธรรม แต่ถอนตัวเอาดื้อๆ ซึ่งมีหลายองค์กรเป็นอย่างนั้นด้วย ขอให้ไปบอกประชาชนให้รู้ทีว่ามีองค์กรไหนบ้าง ที่อยู่ดีๆถอนตัวไปเฉยๆ และสิ่งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การล้มเลิกอย่างเดียว แต่แสดงถึงการถดถอยด้านคำมั่นสัญญาด้วยว่า ฉันจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่มันไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องแน่วแน่” ศ.พิเศษ วิชากล่าว
ศ.พิเศษ วิชา ย้ำด้วยว่า ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งมีพื้นฐานจากแนวคิด Island Integrity (เกาะแห่งคุณธรรม) ที่มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งป้องกันการทุจริตนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายอยู่ที่ภาครัฐโดยตรง เพราะการร้องตะโกนว่าภาครัฐอย่าทุจริต ไม่เคยได้ผล แต่ต้องให้ฝ่ายเอกชนที่เคยจ่ายสินบนมาโดยตลอด ต้องไม่จ่ายสินบน และต้องไปคุยกับภาครัฐด้วยว่า จะไม่จ่ายสินบนแล้ว จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว ภาครัฐจะเปลี่ยนด้วยหรือไม่
“การนำ (ข้อตกลงคุณธรรม) เข้ามา จะเป็นการเปลี่ยน Monument of corruption (อนุสรณ์สถานแห่งการคอร์รัปชัน) ที่มีอยู่ทั่วไปประเทศไทยเลย อย่างตอนลงสนามบินก็เห็นแล้ว คาอยู่อย่างนี้ โฮปเวลล์ หรือ โฮปเลสก็ไม่รู้ นั่นเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการทุจริต มันเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และไม่เคยได้ใช้เลย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเราอยู่กับตัวอย่างนี้อย่างแยแส ไม่รู้สึกรู้สึกรู้สาอะไรเลย
ผมว่าไม่มีประเทศไหนที่ด้านชาขนาดนี้ ไม่ได้รู้สึกเลยว่า นี่ต้องมีคนรับผิดชอบ ไม่ใครก็ใคร ไม่ใช่ทิ้งอนุสรณ์สถานไว้แบบนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการ คือ อนุสรณ์สถานแห่งความซื่อตรง ขอให้เกิดอนุสรณ์สถานแห่งความซื่อตรงเถอะ ซึ่งถ้ามีการก่อสร้างสะพานก็ได้ ถนนหนทางก็ดี อาคารที่ทำการก็ดี ที่มีการใช้เงินคุ้มค่า และไม่ได้จ่ายสินบน นั่นจะแสดงให้เห็นถึงฝีมือของภาคธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ” ศ.พิเศษ วิชากล่าว
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวว่า ต้องผลักดันให้ข้อตกลงคุณธรรมลงไปสู่ชุมชนท้องถิ่น เพราะถ้าชุมชนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว และมีคำมั่นว่าชุมชนจะไม่มีการทุจริต สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘คำปฏิญาณคุณธรรม’ คือ เมื่อมีผู้นำขึ้นมาก็ประกาศว่าจะไม่รับสินบน โดยเฉพาะหากผู้บัญชาการกองทัพ หรือผู้นำฝ่ายบริหาร คือ นายกฯ ประกาศว่ารัฐบาลนี้จะไม่รับสินบนและไม่เรียกรับสินบน อย่างนี้เรียกได้ว่า จิตวิญญาณคุณธรรมได้ฝังในประเทศไทยโดยสมบูรณ์แล้ว
@ข้อตกลงคุณธรรมช่วยรัฐประหยัดปีละ 1 หมื่นล้าน
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การนำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆนั้น พบว่าได้ผลดีในต่างประเทศ และสำหรับประเทศไทยเองก็มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จริง โดยผลศึกษาของทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า การทำข้อตกลงบันทึกคุณธรรมมาใช้ดังกล่าว ส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
“ถ้าโครงการไหนมีแข่งขันมาก ราคาก็ลดจากราคากลางได้มาก เช่น ถ้าแข่งขันโดยใช้วิธีอี-บิดดิ้ง ไม่ใช่วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษ ซึ่งปล่อยให้เอกชนฟันราคา พบว่าจะสามารถลดราคาจากราคากลางลงได้ 12% และถ้านำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ร่วมด้วยจะลดราคาลงได้อีก 14% หรือรวมแล้ว 26% ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2558-62) หรือประหยัดได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวว่า เมื่อการใช้ข้อตกลงคุณธรรมสามารถทำให้ภาครัฐประหยัดงบได้จริง ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้มีการใช้แนวทางนี้เป็นแนวทางหลักในการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่ว่าเลือกจะทำก็ได้ หรือไม่ทำก็ได้ และต้องขยายผลให้กว้างออกไป
“มีความพยายามที่จะล้มเลิกข้อตกลงคุณธรรมเหมือนกัน คนที่อาจจะอยากเลิกคงจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ คนที่เสียประโยชน์เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชันลดลงไป พวกนี้ก็เข้าใจได้ว่าทำไมจึงอยากเลิก ซึ่งวิธีการคงต้องต่อสู้กันว่า มันเลิกไม่ได้ มีประโยชน์ ลดได้จริง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเข้าใจผิดและอยากจะล้ม เพราะแม้ว่าเขาจะไม่ชอบคอร์รัปชันเหมือนเรา แต่เขาไม่ชอบคำว่าคุณธรรม ซึ่งเป็นปฏิกิริยาโต้กลับของวาทกรรมคนดี
เราจึงต้องสื่อสารว่า Integrity Pact ไม่ใช่คุณธรรมตามความหมายของศาสนา ไม่ใช่ว่าคนดี คนไม่ดี แต่หมายถึงการออกแบบระบบที่ดี ที่แม้ว่ามีคนอยากทุจริตคอร์รัปชัน แต่ในระบบที่มีคนสังเกตการณ์เยอะ คนจะโกงก็โกงไม่ได้ ผมอยากให้พวกเราใช้คำอธิบายเชิงระบบมากขึ้น เช่น พูดว่า Integrity Pact มันช่วยเพิ่มความโปร่งใส…ลองดูก็ได้ ถ้าไปพูดคำว่าคนดีกับเด็กๆ ถูกเด็กเขาหัวเราะนะ จริงๆคนดีกับระบบดี เป็นของที่ต้องสร้างไปด้วยกันได้” นายสมเกียรติกล่าว
(สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์)
@เสนอรัฐจัดสรรงบสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชัน
นายสมเกียรติ เสนอว่า การทำให้โครงการข้อตกลงคุณธรรมมีความยั่งยืนในระยะยาว จะต้องมีการสนับสนุนด้านทรัพยากรด้วย เช่น หากการทำข้อตกลงคุณธรรมทำให้ภาครัฐประหยัดงบได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท ถ้าหักเงินออกมา 0.5% หรือ 50 ล้านบาท มาใช้เป็นทรัพยากรสนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย อาทิ การมีค่ารถให้อาสาสมัคร มีการทำระบบฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการลงทุนของภาครัฐที่คุ้มค่ามาก เท่ากับลงทุนแล้วได้กำไร 200 เท่า
พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติ เกษมสันต์ นายกสถาปนิก กล่าวว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างมีหลายเรื่อง เช่น เราต้องแยกว่า เรื่องใดเป็นการทุจริตและเรื่องใดเป็นการทำผิดระเบียบ ซึ่งจะต้องนิยามให้ชัดเจนว่า การทุจริต คือ การรับสินบนอย่างเดียวใช่หรือไม่หรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายด้วย เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าเป็นเรื่องการผิดระเบียบ ซึ่งทำให้คนไม่กล้าทำงาน จึงต้องหาวิธีตรวจสอบและแยกระหว่างคนทุจริตกับคนทำผิดระเบียบออกจากกัน
“พอมีกติกาใหม่ออกมา ก็จะมีคนหาวิธีที่จะไม่ปฏิบัติตามกติกาใหม่ เลี่ยงกติกาใหม่ ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาถึงขั้นที่ว่าโกงได้ โดยไม่ผิดระเบียบ” พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติกล่าว
น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และอดีตผอ.การยาสูบ กล่าวว่า โรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรของโรงงาน ซึ่งทำให้ประหยัดงบได้ 31% และปัจจุบันโรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับอีกหลายโครงการ เช่น การสร้างบ้านพัก เป็นต้น
@ดึงโครงการกองทัพ-กรุงเทพฯกลับเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
ศ.พิเศษ วิชา ยังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีที่กองทัพบกและกองทัพอากาศได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามโครงการข้อตกลงคุณธรรมในโครงการจัดซื้ออาวุธ 4 โครงการ มูลค่านับพันล้านบาท และกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถอนโครงการกำจัดขยะ 2 โครงการ มูลค่ารวม 7,758 ล้านบาทออกจากข้อตกลงคุณธรรม ว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า หน่วยงานดังกล่าวไม่มีความเต็มใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมตั้งแต่แรก
“เดิมเขาอาจเข้ามา เพราะมีการบังคับของฝ่ายอื่นๆ ซึ่งเจ้าตัวไม่สมัครใจ จึงเกิดการถอนตัวทีหลัง เพราะเห็นว่าจะกระทบถึงประโยชน์หรือผลประโยชน์ของท่าน เนื่องจากเมื่อท่านลงนามแล้ว จะต้องไม่รับสินบน ไม่เกี่ยวกับสินบนใดๆ และผู้สังเกตการณ์จะเป็นตัวช่วย หรือเป็นแรงกดดัน หรือตั้งข้อซักถาม หรือดำเนินการในทางลึกว่า มีอะไรลับลมคมในหรือเปล่าในทำนองอย่างนั้น แล้วเอามาเปิดเผย
ซึ่งผมคิดว่าข้อเปิดเผยเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับในทางราชการแต่อย่างใด แต่เป็นการเปิดเผยในทางวิชาการ เช่น เมื่อมีการเชิญ (ผู้สังเกตการณ์อิสระ) เข้ามา แล้วเกิดมีการล้มกลางคัน ก็ต้องมีข้อสังเกตว่า ติดขัด ตรงไหน อย่างไร แต่เราอย่าไปตั้งธงว่า มีการทุจริตหรือเปล่า ถึงได้ถอนตัวหรือไม่อยากเข้าร่วม และก็เป็นธรรมชาติและวัฒนธรรมของประเทศไทยอยู่แล้วว่า กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในวัฒนธรรมปกปิด ทุกประเทศเป็นอย่างนี้หมด แต่การมีกฎหมายตัวนี้มา เพื่อให้เกิดการเปิดเผยโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอีกแบบ” ศ.พิเศษ วิชากล่าว
(ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ)
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวว่า การผลักดันให้กองทัพและกรุงเทพฯนำโครงการจัดซื้อจัดจ้างเข้าสู่ข้อตกลงคุณธรรมอีกครั้งนั้น ส่วนตัวเห็นว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันหรือผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน จะต้องเข้าไปมีส่วนในการพูดกับหน่วยงานเจ้าของโครงการว่า ติดขัดในเรื่องใด หรือมีอะไรที่ทำให้ไม่ราบรื่นตรงไหนและอย่างไร
“อยากให้เขาช่วยลองไปดูว่า มีติดขัดตรงไหน มีข้ออะไรที่จะเจรจาต่อรองกันได้ เช่น ถ้าเห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเทคนิค เป็นเรื่องความลับ จะลดลงได้ไหมในเรื่องการตรวจสอบ ซึ่งข้อตกลงคุณธรรมไม่ใช่ข้อตกลงที่เป๊ะๆ ไม่ใช่เป็นข้อสัญญาเหมือนสัญญาทั่วๆไป โดยส่วนที่ทางหน่วยงานเห็นว่าเป็นความลับ ก็สามารถเก็บเอาไว้ได้ ห้ามไม่ให้เปิดเผย แต่ไม่ใช่ว่าไม่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมเลย” ศ.พิเศษ วิชากล่าว
ขณะที่นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 1 โครงการ คือ การจัดซื้อดาวเทียมของ GISTDA จากโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมทั้งหมด 118 โครงการ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่ต่อไปนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะพยายามผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อสังเกตการณ์ให้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า นับตั้งแต่มีการนำ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ มาใช้เป็นครั้งเมื่อปี 2558 และปัจจุบันถูกระบุให้เป็นเครื่องมือหลักสำหรับภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พบว่า จนถึงปัจจุบันมีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมทั้งสิ้น 118 โครงการ โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณรวม 1.84 ล้านล้านบาท และทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.06% ของงบประมาณดังกล่าว
อ่านประกอบ :
จูบปากกันแน่น-กทม. ถอน2โครงการขยะ 8,000 ล้านจาก’ข้อตกลงคุณธรรม’
จัดซื้ออาวุธ ทบ. -ทอ. เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรม! ค.ป.ท. ช่วยยกเว้น ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
เปิดข้อมูล 4 โครงการ จัดซื้ออาวุธ 'ทบ.-ทอ.' เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรรม-ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เตรียมเปิดตัว 'ACT Ai' เครื่องมือตรวจสอบงบฯแผนฟื้นฟูศก.15 ก.ย.นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/