"...โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 จัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก กองทัพอากาศให้เหตุผลว่า คาดว่าเมื่อบริษัทยื่นข้อเสนอ บริษัทจะแจ้งให้กองทัพอากาศทราบว่า จะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับและต้องลงนามยืนยันการไม่เปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลที่สามทราบ..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง ได้มีมติเห็นชอบให้โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 4 โครงการใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านบาท ประกอบไปด้วย 1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ กองทัพอากาศ 2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ กองทัพอากาศ 3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ กองทัพอากาศ 4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ของกองทัพบก ได้รับพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรม
โดยกองทัพให้เหตุผลความจำเป็นว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน กำหนดไว้ว่า ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3
(อ่านประกอบ : จัดซื้ออาวุธ ทบ. -ทอ. เลี่ยงข้อตกลงคุณธรรม! ค.ป.ท. ช่วยยกเว้น ไม่ต้องมีผู้สังเกตการณ์)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 4 โครงการ พบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
กองทัพอากาศ จำนวน 3 โครงการ
1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วงที่ 2 ) จัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จากประเทศสวีเดน
กองทัพอากาศให้เหตุผลว่า เนื่องจากทางกองทัพอากาศจะต้องลงนามในสัญญา Program security instruction (PSI) ร่วมกับ Forsvarets Materielverk (FMV) โดยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางทหาร และการคุ้มครองข้อมูลในเชิงพาณิชย์
2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4 ) จัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จากประเทศเกาหลี
กองทัพอากาศให้เหตุผลว่า เนื่องจากกองทัพอากาศจะต้องลงนามสัญญาซื้อขายเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ ขั้นต้นพร้อมอะไหล่ อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็น และการฝึกอบรม กับ บริษัท Korea Aerospace Industries Limited ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดจากการร่วมหุ้นระหว่างรัฐบาลเกาหลีกับเอกชน โดยยินยอมจะไม่เปิดเผยข้อมลความลับแก่บุคคลที่ 3
3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 จัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก
กองทัพอากาศให้เหตุผลว่า คาดว่าเมื่อบริษัทยื่นข้อเสนอ บริษัทจะแจ้งให้กองทัพอากาศทราบว่าจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลความลับและต้องลงนามยืนยันการไม่เปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลที่สามทราบ
กองทัพบก จำนวน 1 โครงการ
1. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป จัดซื้อโดยวิธีเฉพะเจาะจงจากประเทศสหรัฐอเมริกา
กองทัพบก ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีพันธะกรณีขออนุญาตส่งออกอย่างถาวรสำหรับสินค้ากลาโหมที่ไม่สามารถจำแนกสาขาการผลิตได้ ข้อมูลทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง และบริการกลาโหม กับกระทรวงต่างประทศ สหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Unical Aviation, INC เป็นผู้ขอใบอนุญาตและกองทัพบกไทย เป็นผู้ใช้ขั้นปลายต่างประเทศและผู้รับสินค้าต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกใบอนุญาตแบบมีเงื่อนไขระบุว่า จะต้องไม่มีการเสนอหรือเผยแพร่องค์ความรู้หรือเทคนิคด้านต่างๆ แก่ผู้ใด หรือเผยแพร่ออกไป
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ขอเวลาดูเอกสารที่เกี่ยวข้องก่อน เพราะส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเข้าใจว่าเป็นเรื่องของหน่วยงานที่เสนอไปที่คณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ไม่ใช่กระทรวงกลาโหมเป็นผู้เสนอแต่อย่างใด
@ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กองทัพได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทุกเรื่องด้วยความโปร่งใส ดังนั้นต้องไปดูในรายละเอียดก่อนว่า เหตุใดจึงขอขอยกเว้นข้อตกลงคุณธรรมในโครงการนี้
โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการขอยกเว้นข้อตกลงคุณธรรม ส่วนใหญ่จะมีเหตุผลจากข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งบางครั้งจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ว่าจะต้องปกปิดข้อมูลให้เป็นความลับ เพราะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์บางรายการ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือเปิดเผยรายละเอียดนวัตกรรมต่างๆ ให้สาธารณชนรับทราบได้
“ผมเข้าใจว่าบางเรื่องไม่ได้อยากปกปิดให้ดูลึกลับหรืออะไร แต่เป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงร่วมกับเอกชน เพราะบางครั้งมีเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้ แต่กรณีนี้ขอเวลาไปดูรายละเอียดก่อน จึงจะชี้แจงเหตุผลให้ทราบได้” โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุ
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage