"...คณะกรรมการวิฉิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีมติว่า คณะกรรมการ ค.ป.ท. ไม่สามารถอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้ ..แต่สามารถพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการตามประกาศคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 ซึ่งหมายถึงการไม่เลือกโครงการใดโครงการหนึ่งเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้..."
โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ของ กองทัพอากาศ และกองทัพบก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 4 โครงการใหญ่ มูลค่าหลายพันล้านบาท ประกอบไปด้วย
1. โครงการพัฒนาขีดความสามารถการส่งกำลังบำรุงเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์เครื่องบินขับไล่แบบที่ 20/ก (เครื่องบิน Gripen 39 C/D) ระยะที่ 1 (ช่วง 2) ของ กองทัพอากาศ
2. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น (ระยะที่ 4) ของ กองทัพอากาศ
3. โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทนเครื่องบินแบบที่ 19 ของ กองทัพอากาศ
4. โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ของกองทัพบก
กำลังถูกจับตามอง!
หลังปรากฎข้อมูลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานโดยตำแหน่ง ได้มีมติเห็นชอบให้โครงการเหล่านี้ ได้รับพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันไม่ต้องเข้าร่วมจัดทำโครงการข้อตกลงคุณธรรม โดยกองทัพให้เหตุผลความจำเป็นว่า ไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน กำหนดไว้ว่า ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3
สำหรับที่มาที่ไปของเรื่องนี้นั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน เม.ย.2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอหารือการใช้อำนาจในการยกเว้นผ่อนผันของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) กรณีได้รับหนังสือจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ขอยกเว้นผ่อนผันไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการ ค.ป.ท. เรื่อง แนวทางและวิธีการในการดำเนินงานโครงการร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบของข้อตกลงคุณธรรม ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐ ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจในการพิจารณางบประมาณแล้ว ให้แจ้งข้อมูลโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้คณะกรรมการ ค.ป.ท.ภายใน 15 วันทำการนับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณ เพื่อพิจารณาคัดเลือกให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม
ทั้งนี้ การแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้จัดทำตามแบบและวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด ซึ่งในการดำเนินโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมจะให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการให้ผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตลอดระยะเวลาและทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เป็น ผู้ส่งผู้สังเกตการณ์ภาคเอกชนเข้าไปสังเกตการณ์
เบื้องต้น คณะอนุกรรมการ ค.ป.ท. ได้มีการประชุมหารือเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 เกี่ยวกับขอยกเว้นผ่อนผันดังกล่าว ตามที่ กองทัพอากาศและกองทัพบก ทำเรื่องร้องขอมา และเห็นว่า เรื่องนี้อาจไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่จะยกเว้นการดำเนินโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แบบข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 มาตรา 18 และมตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 จึงมีการขอหารือคณะกรรมการวินิจฉัยเพื่อตีความว่า คณะกรรมการ ค.ป.ท. มีอำนาจในการยกเว้นผ่อนผันกรณีดังกล่าวหรือไม่
จากนั้น คณะกรรมการวิฉิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีมติว่า คณะกรรมการ ค.ป.ท. ไม่สามารถอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ได้
แต่สามารถพิจารณายกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามแนวทางและวิธีการตามประกาศคณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 ซึ่งหมายถึงการไม่เลือกโครงการใดโครงการหนึ่งเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้
ต่อมา คณะกรรมการ ค.ป.ท. ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณา โดยฝ่ายเลขนุการ มีความเห็นว่า สืบเนื่องจากเรื่องนี้ กองทัพ มีความจำเป็นและมีเหตุไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากมีกฎหมายหรือสัญญากับเอกชน ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูลความลับแก่บุคคลที่ 3
พร้อมเสนอเรื่องไม่คัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ ทั้ง 4 โครงการ ของกองทัพอากาศและกองทัพบก เข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
ก่อนที่ที่ประชุมคณะกรรมการ ค.ป.ท. จะมีมติเห็นชอบ ตามที่เสนอ และให้ฝ่ายเลขานุการ จัดทำหนังสือถึงกองทัพ เพื่อให้กำหนดรายละเอียดโครงการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ สำหรับการข้อยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 7(2) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เพิ่มเติม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 มาตรา 16 ระบุว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้หน่วยงานของรัฐจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐตามที่กําหนดไว้ในหมวดนี้
มาตรา 17 ระบุว่า ในการดําเนินการตามมาตรา 16 คณะกรรมการ ค.ป.ท. อาจกําหนดให้มีการจัดทําข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐตามมาตรา 18 ก็ได้ ทั้งนี้ การจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องจัดทําข้อตกลงคุณธรรมดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา โดยอย่างน้อยให้คํานึงถึงวงเงินของการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการป้องกันการทุจริต การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต และความคล่องตัวในการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยคณะกรรมการ ค.ป.ท. อาจกําหนดวิธีการนอกเหนือจากวรรคหนึ่งเพื่ออํานวยความสะดวกให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการ ค.ป.ท.ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 18 ระบุว่า ข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้จัดทําเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ โดยฝ่ายหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและฝ่ายผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทําการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ ที่จําเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทําร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทําการจัดซื้อจัดจ้างและร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลางและไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างนั้น แล้วให้รายงานความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ ค.ป.ท.ทราบด้วยแนวทางและวิธีการในการดําเนินงานโครงการ แบบของข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์และการจัดทํารายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 19 ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเภทหรือมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างตามที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา หากประสงค์จะเข้ายื่นข้อเสนอกับหน่วยงานของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจัดให้มีนโยบายในการป้องกันการทุจริตและมีแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสมมาตรฐานขั้นต่ําของนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ค.ป.ท. ประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง ให้ความเห็นต่อสำนักข่าวอิศราว่า กรณีที่คณะกรรมการ ค.ป.ท.มีมติยกเว้นผ่อนผันไม่คัดเลือกโครงการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ ทั้ง 4 โครงการ ของกองทัพอากาศและกองทัพบก เข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่กองทัพหยิบยกเหตุผลเอาข้อสัญญากับเอกชนมาอ้างไม่ให้เปิดเผยความลับต่อบุคคลที่ 3 มากล่าวอ้าง และเท่าที่ทราบการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างลักษณะแบบนี้ ทางกองทัพมีความพยายามที่จะทำเรื่องขอมาหลายครั้งแล้ว แต่เพิ่งจะมาได้รับอนุมัติในครั้งนี้เอง
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage