"...ถ้าคิดว่า สัดส่วนของภาคธุรกิจเยอะเกินไป ขอให้ทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผมในฐานะผู้จัดการพร้อมรับฟัง ขอย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย...ถ้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เราก็ได้ถือเป็นโอกาสในการชี้แจงเรื่องทุนที่ทำมาทั้งหมด เราชี้แจงได้ในทุกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต ก็ยินดี เพราะเราทำงานระบบเปิด เราพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่องอยู่แล้ว..."
..............................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อเร็วๆนี้ นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา ตอบคำถามในหลายประเด็นที่เป็นผลสืบเนื่องจากกรณีภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกองทุนฯ รวมทั้งยื่นหนังสือต่อหลายหน่วยงาน ขอให้ดำเนินการตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เนื่องจากมีข้อเคลือบแคลงหลายประการต่อ 95 โครงการที่ได้รับการอนุมัติ งบประมาณรวม 284,966,950 บาท ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
( อ่านประกอบ : ขีดเส้น15 วัน! ภาคปชช.ขู่ไม่ทบทวนโครงการกองทุนสื่อฯยื่นศาลปค.ขอระงับเบิกจ่ายงบ 300 ล.,
ภาคปชช.ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯสตง.ตรวจสอบกองทุนพัฒนาสื่อฯ เบรกอนุมัติงบ 300 ล.เอื้อทุนใหญ่ )
นอกจากอธิบายเหตุผลที่ไม่อาจระงับการอนุมัติทุนของทั้ง 95 โครงการตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชนได้ เว้นแต่มีคำสั่งศาลปกครอง นายธนกรยังบอกเล่าถึงรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กระบวนการพิจารณากองทุนฯ เกณฑ์การให้ทุน งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี รวมทั้งยืนยันว่าพร้อมรับการตรวจสอบจากทุกภาคส่วนและพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น หากแม้ถึงที่สุด จะถึงขั้นต้องไปศาลปกครองก็พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล ทั้งยอมรับว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ ตั้งใจจะเชิญภาคประชาชนมาร่วมหารือและผลักดันประเด็นที่เรียกร้องให้เป็นระดับนโยบาย
มีเนื้อหาโดยละเอียด ดังนี้
@ มีความเห็นอย่างไรต่อหนังสืออุทธรณ์ของภาคประชาชน ?
ธนกร : เมื่อตรวจสอบหนังสือที่มายื่นที่นี่ คนแรกคือคุณอำนาจ อุบลบาล ต่อมาเขาไปยื่นที่ สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน )
คนที่สองคือคุณจารุวงศ์ ณ ระนอง ปรากฏว่าหนังสือทั้งสองคนไม่ได้เป็นผู้ขอทุน จึงไม่เข้าองค์ประกอบที่เป็นผู้อุทธรณ์ตามกฎหมาย ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้น เราก็รับไว้พิจารณาตามขั้นตอนที่กองทุนฯ คิดว่าเป็นกองทุนของภาคประชาสังคมที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น สองเคสนี้ ไม่ถือว่าเป็นหนังสืออุทธรณ์ เพราะหนังสืออุทธรณ์ ต้องถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย คือหมายถึงผู้ที่ยื่นขอทุนแล้วไม่ได้รับทุน
@ กรณีที่ตัวแทนภาคประชาชน ขอดูท่าทีของผู้จัดการกองทุนฯ หลังรับหนังสืออุทธรณ์แล้วหลังจากนั้น 15 วัน จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการเบิกจ่ายทุน ?
ธนกร : ก็ดีครับเพราะถ้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เราก็ได้ถือเป็นโอกาสในการชี้แจงเรื่องทุนที่ทำมาทั้งหมด เราชี้แจงได้ในทุกประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกต ก็ยินดี เพราะเราทำงานระบบเปิด เราพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทุกเรื่องอยู่แล้ว เราก็พร้อมดูว่าภาคประชาชน เขามีข้อสงสัยหรือข้อเคลือบแคลงใดบ้าง กองทุนฯ กำลังหาจังหวะที่จะเชิญภาคประชาชน ผู้ยื่นหนังสือมาแลกเปลี่ยนในข้อห่วงใย สำนักงานกองทุนฯ มองว่าคนเหล่านี้มีความรักและอยากเห็นกองทุนฯ ดำเนินไปในแนวทาง อุดมการณ์ที่จะแลกเปลี่ยนกันได้ จะเชิญมาหารือว่าถ้าจะผลักดันกองทุนฯ มีอะไรที่จะหารือ ผลักดันกันได้ในระดับนโยบายและกองทุนฯ พร้อมชี้แจง
@ ข้อเรียกร้องที่ให้พิจารณายกเลิก หรือชะลอการอนุมัติครั้งนี้ไปก่อน ตามหลักแล้วทำได้ไหม ?
ธนกร : ไม่ได้ วันนี้คนที่จะสั่งได้คือศาลปกครองและผู้ที่จะไปยื่นศาลปกครองได้ต้องมีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วเรายกเลิกไม่ได้เลย วันนี้ ถ้าเราทำแบบนั้น ทั้ง 95 รายจะได้รับผล กระทบทันที เราจะกลายเป็นจำเลยต่อ 95 รายที่ได้ประกาศไปแล้ว ซึ่งเราก็ยืนยันว่าที่เราไม่ระงับเพราะว่ากระบวนการและการดำเนินการตามกฎหมาย เราทำถูกต้อง บางกรณีที่มีข้อมูล เราพร้อมตรวจสอบสำนักงานกองทุนฯ มีจุดยืนชัดเจน ไม่หมกเม็ด ไม่ปกปิด แต่ขอให้ข้อเท็จจริงที่ออกไปมันตรง เรื่องไหนที่ควรต้องตรวจสอบเราก็ตรวจสอบ
@ ข้อสังเกตของภาคประชาชน กรณีที่โครงการที่ขอทุนงบเกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีมากกว่า 157 โครงการ ทว่า มีเวลาในการนำเสนอโครงการน้อย โดยเฉลี่ยแล้วแค่ประมาณ 5 นาที มองว่าเป็นการเร่งรัด ?
ธนกร : ข้อเท็จจริงคือผมเป็นคนเสนอในที่ประชุมเองว่าเดิมผู้ที่ขอทุน ปี 2561-2562 ไม่เคยมาแสดงตนเลย โดยประสบการณ์ผมที่เคยทำงานที่ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ถ้าคนที่ทำเอกสารชัดเจน เราต้องตรวจสอบว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ตามเจตนาที่ให้โครงการขนาดใหญ่คือที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป เจตนาเราเพื่อให้เขามาแสดงตัวตนเท่านั้น ไม่ใช่มาบอกว่าเขาทำอะไร เพราะพิจารณาจากเอกสารและความน่าเชื่อถือเป็นหลัก จะดูตั้งแต่หลักเกณฑ์ว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์กองทุน ตามมาตรา 5 ไหม เวลาไปนำเสนอ ก็ 5 นาที ยืนยันว่าไม่ใช่แค่พิธีกรรม แต่เป็นกรรมวิธีที่ให้แสดงตัวตนว่าผู้ยื่นขอทุนมีตัวตนจริง และผู้ที่มานำเสนอนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการในองค์กรนั้น ๆ จริง ซึ่ง 5-10 นาที ตอบอะไรไม่ได้เลย เมื่อเรากำหนดว่าผู้ที่ขอทุนเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องมา เขาก็ต้องมาทุกราย ซึ่ง 5 นาทีไม่น้อยเกินไป เพราะหลักคือ 5 นาที ไม่ใช่แค่บริษัทที่แต่งตัวขึ้นมาและเกณฑ์นี้เราประกาศชัดเจนตั้งแต่ต้น
@ มีข้อเคลือบแคลงของภาคประชาชนด้วยว่า สัดส่วนการให้ทุนบริษัท กลุ่มทุนใหญ่ที่ได้ทุนไปสัดส่วนมากกว่า 50% ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ?
ธนกร : เรื่องเจตนารมณ์ขึ้นอยู่กับการตีความ ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้มีสื่อสร้างสรรค์ แล้วคนผลิตไม่ได้อยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทีนี้ ถ้าดูเจตนารมณ์ ก็ต้องย้อนกลับไปดู พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือกฎหมาย กสทช. ฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2560 ไปดูในมาตรา 52 วงเล็บ 5 เรื่องของการให้มีการตั้งกองทุน เรื่องของการที่จะให้สนับสนุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
อย่าเข้าใจผิดคิดว่าการทำสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องเอาไปให้ภาคประชาชน ประเด็นนี้ ผมในฐานะผู้จัดการเห็นต่างเลย เนื่องจากการที่ให้ทุนในการผลิตรายการ เพื่อไม่ให้เขาไปผลิตเองแล้วต้องไปขึ้นอยู่กับตลาดหรือระบบโฆษณา
เพราะฉะนั้น เวลาช่องมาขอทุน ช่องก็มีสิทธิ์ แม้ว่าช่องจะอยู่ในระบบตลาดหรือระบบธุรกิจ แต่ว่าเมื่อช่องมาผลิตรายการให้กองทุน ช่องไม่ต้องไปกังวล ว่าขายได้หรือขายไม่ได้ ไม่ต้องกังวลว่ามีเรตติ้งเท่าไหร่ ไม่ต้องกังวลว่ามีเรตติ้งหรือไม่มีเรตติ้ง ไม่ต้องกังวลว่าโฆษณาจะเข้าหรือไม่ ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคม หรือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เหล่านี้จ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาสื่อฯ หรือ กทปส.
ดังนั้น เงินกองนี้มันควรจะย้อนกลับไปยังผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ การที่ช่องระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน มาขอทุนจึงเป็นเรื่องปกติ แล้วก็เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และเป็นไปตามข้อบังคับ แต่จะสอดคล้องเจตนารมณ์หรือไม่ เป็นเรื่องที่คิดต่างกันได้เรามุ่งที่ผลผลิตเป็นสำคัญ และผู้ได้รับทุนเขามีคุณสมบัติตรงตาม ประกาศ ซึ่งกองทุนของเราก็ให้บุคคลธรรมดาด้วย เพราะต้องการให้บุคคลธรรมดา ให้คนเล็กคนน้อยได้ทุน ดังนั้น เวลาพิจารณา ก็จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอทุนโครงการและสามารถทำได้เสร็จตามที่กำหนด เราไม่รู้เลยว่าแต่ละกลุ่มที่ได้รับทุนมีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่
ที่เขาว่า 53% แต่ได้ไปดูไหม ว่าจริงๆ แล้วโครงการ 20 ล้านบาท มันถือว่าน้อยมากสำหรับผลิตรายการ แล้วใน 53% ไม่ใช่แค่บริษัทที่เป็นผู้ประกอบการสื่อตัวจริงเสียงจริง อย่าแค่เหมารวม เราอยากให้ความเป็นธรรมกับผู้รับทุน อย่างป่าใหญ่ ครีเอชั่น เราจะไม่ให้เขาหรือ หรืออย่างผู้ผลิต โทรทัศน์ ภาคพื้นดิน เราจะไม่ให้เขาเหรอ ผมบอกเขาตลอดเลย ว่ารัฐมีแต่บังคับใช้กฎหมาย ให้เขาจ่ายใบอนุญาต แพงๆ 2-3 พันล้านแล้ว รัฐต้องมีกลไกในส่วนนี้ถ้าคิดว่า สัดส่วนของภาคธุรกิจ เยอะเกินไปขอให้ทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผมในฐานะผู้จัดการพร้อมรับฟัง ขอย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย
@ กรณี สัดส่วนต่างๆ ของผู้รับทุน เช่น สถานศึกษา ได้ไปเพียง 6% ?
ธนกร : เราไม่ได้แจกเงินตามโควตา พูดแบบนี้อย่าโกรธกัน เราเอาเนื้องานเป็นตัวตั้ง มุ่งให้คนมาดำเนินการผลิตสื่อที่ต้องมีความสามารถ เราก็เปิดให้บุคคลธรรมดายื่นเยอะ กองทุนฯ มองที่เนื้องานเป็นหลัก มุ่งให้คนมาดำเนินการผลิตสื่อที่ต้องมีความสามารถ ซึ่งตามหลักการ ก็เปิดให้บุคคลธรรมดายื่นเข้ามาจำนวนมาก ส่วนกรณีถ้าหากดูข้อมูล ย้อนหลัง 3 ปี แล้ว เห็นว่าภาคประชาชนได้น้อย ก็ขอให้ทำเข้ามาเป็นข้อเสนอแนะ สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอมา เราก็จะเสนอไปยังบอร์ดบริหารและเสนอไปยังรัฐบาล ทุกกรณีที่มีปัญหาผมพร้อมจะชี้แจง ให้ไปชี้แจงที่เวทีไหนก็ไป ไม่มีหลบหน้า แล้วสู้ด้วยข้อเท็จจริง
@ บางโครงการได้งบทำหนังสั้น 20 ล้าน มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นงบที่มากเกินไป
ธนกร : น้อยไปครับ ปีหน้าผมจะตั้งโครงการเดียว อาจจะ 50 ล้านหรือ ร้อยล้านบาท แล้วจะใช้วิธีคัดเลือกแบบบิวตี้คอนเทสต์ ประกวดนางสาวไทย ซึ่งถ้าสังคมหรือกรรมการคิดว่าควรจะแยกสัดส่วนและวงเงินเราก็พร้อมพิจารณา คืองบ 20 ล้านบาทจะเป็นเบี้ยหัวแตก เพราะถึงที่สุดแล้ว ถ้าเป็นยิบย่อยๆ เราจะไม่เห็นอะไรเลย เราอยากเห็นโครงการใหญ่ๆ
@ ช่วยเล่าถึงกระบวนการพิจารณาให้ทุน ?
ธนกร : เรามีคณะทำงานอยู่ 5 คณะ มี 35 คน เราก็เข้าไปขอบอร์ดบริหารว่าขอให้คณะทำงานพิจารณารูปแบบใหม่ได้ไหมในปีนี้ การพิจารณาในรูปแบบใหม่คือพิจารณาต่อเนื่อง เหมือน กมธ. พิจารณางบประมาณ เราเปิดโรงแรมพิจารณา 5 วัน 4 คืน ผู้ขอทุนถูกแบ่งเป็นกลุ่ม ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นเรื่องของการพิจารณาก็เป็นหน้าที่ของคณะทำงานไปซึ่งก็รับทราบว่า คณะทำงานแต่คณะ ก็ split ถ้าเป็นโครงการชุดเล็กก็มีคณะกรรมการพิจารณา 3 คนโครงการขนาดใหญ่ก็ใช้คณะใหญ่ ทำงานกันหนักมากถึงตี 1 ตี 2 แต่ะคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ดีแคล์ทั้งนั้นเลย แต่ทำไมเราไม่เปิดเผยชื่อ เพราะเขามาช่วย เขาเสียสละ ไม่เปิดเผยชื่อ เพราะบางคนก็ไม่ต้องการให้มีการวิ่งเต้นในครั้งหน้า เพราะบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาเป็นคณะทำงานอีก เพราะฉะนั้น เราก็มั่นใจและเสียใจที่ตอนนี้ว่ามันกลายเป็นคนละเรื่อง ดีแล้วที่ทางอิศรามารับฟังความรอบด้าน กระบวนการขอรับทุนของเราชัดเจน เราพร้อมตรวจสอบ ข้อมูลทั้งหมดของผู้ขอรับทุน มีอยู่ครบ พร้อมขนใส่รถสิบล้อไปศาลปกครองเลย
@ ขอทราบหลักเกณฑ์การให้ทุน ?
ธนกร : ประการแรก ดูความสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ ขอกองทุน ตาม มาตรา 5 ( มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 ) มีอยู่ 7 วงเล็บ อาทิ รณรงค์ส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อันนี้เกณฑ์หลัก ประการที่ 2 คือความน่าเชื่อถือของผู้ยื่น ประการต่อมาคือเกณฑ์ความสมดุลระหว่างเนื้องานกับราคาผม ผู้จัดการคนนี้ คุณไปสืบประวัติ ไม่เป็นเครื่องมือให้ใคร ชัดเจน ผมบอกเลยว่าทุกกรณีที่มีปัญหาผมพร้อมจะชี้แจง ไปที่ไหนก็พร้อมที่จะชี้แจง ไม่มีหลบหน้า สู้ด้วยข้อเท็จจริง
@ ในกระบวนการตรวจสอบ มีการตรวจสอบข้อมูลบริษัท หรือเนื้องานก่อนหน้านั้นของผู้ขอทุนหรือไม่ ?
ธนกร : ฝ่ายกฎหมายตรวจทุกบริษัท คดีล้มละลายก็ตรวจ เราตรวจเชิงลึกว่ามีบริษัทแปลงร่างไหม เช่น นาย ก. อาจเสนอในนามบริษัทและในนามบุคคลด้วย เมื่อเราตรวจสอบพบบางรายเราเตือนเลยว่าให้ยื่นโครงการเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้คุณไปแปลงร่าง บางองค์กร ลงทะเบียนมา 5 รายเพื่อตบตาเรา แต่เจ้าหน้าที่ที่นี่เก่งมาก ตรวจเจอ เราก็ทำข้อสังเกตว่าถ้าคุณไม่โปร่งใสตั้งแต่ต้น คุณจะมาทำสื่อสร้างสรรค์ได้ยังไง เราเป็นกองทุนพัฒนาสื่อฯ ถ้าเราทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น เราจะไปสร้างสรรค์อะไรได้ นี่คือเป็นอุดมการณ์เลย
@ ตั้งแต่ คณมารับหน้าที่ที่นี่ ได้ตรวจสอบไหมว่า ผลการพิจารณาอนุมัติโครงการก่อนหน้านี้ มีปัญหาอะไรไหม ?
ธนกร : เหนื่อยมาก งานที่นี่ค่อนข้างเยอะ และผมประกาศธรรมาภิบาลไว้ทุกเวที อยากให้กองทุนฯ เป็นต้นแบบความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนทุกคนเข้าถึง ไม่ใช่ว่าจำกัดทุนให้พรรคพวกกันนี่ไม่เอาด้วยเลย ผมพยายามดูข้อมูลเก่าๆ อยู่ พยายามยอมรับว่าผู้รับงานที่นี่ โดยส่วนใหญ่ดีนะ เป็นคนทำงานจริง ที่นี่โดยภาพรวม น่าพอใจในเรื่องของการจัดสรร แต่โดยส่วนตัว คิดว่าที่ผ่านมาการเปิดเผยข้อมูลน้อยไปหน่อย หมายถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารสาธารณะ เพราะตอนที่เข้ามาใหม่ๆ คนไม่รู้จักกองทุนเลย แต่ผ่านมา 3 เดือน คนรู้จักกองทุนเพิ่มมากขึ้น เราต้องการให้คนรู้จัก
ประการที่สองให้เข้าใจภารกิจ ประการที่สาม ให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน การรับผลผลิต รับผลลัพธ์
คือผลผลิตที่นำความสำเร็จมาสู่สังคมร่วมกัน ปัญหาประการหนึ่งคือ ต้องการจัดระบบข้อมูลให้ชัดเจน สำหรับข้อมูลการให้ทุน เราให้ทุนไปแล้ว 3 ปี
ปีแรก 2560 ให้ทุนไป 48 โครงการ วงเงินประมาณ 90 ล้านบาท
ปีที่ 2 ปี 2561 ก็มากกว่า 100 โครงการ วงเงิน 300 ล้านบาท
ปี 2562 เป็นครั้ง ที่ 3 ให้ไป 130 กว่าโครงการ วงเงิน 298 ล้านบาท
คอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นโดยผู้รับทุน ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์ที่ดีจริง ทั้งฝ่ายผู้รับทุนและกองทุนฯ เอง สามารถนำไปต่อยอดผลผลิตที่มีคุณภาพเพิ่มได้ เช่น อาจนำไปออกเน็ตฟลิกซ์ ( Netflix ) มีค่าคอนเทนต์เข้ามา หรือไปออกแพลทฟอร์มนานาชาติ สัญญาเขียนไว้ชัดเจนว่าให้แบ่งรายได้คนละครึ่ง
ดังนั้น กองทุนฯ ได้ประโยชน์ ผู้รับทุนก็ได้ประโยชน์ แล้วเราก็หวังว่าการจัดสรรทุนแต่ละครั้ง มันควรจะมีความฝันตรงนี้ว่าจะสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ผลิดอกออกผลได้ในอนาคต
@ ในแต่ละปี กองทุนฯ ได้รับงบประมาณเท่าไหร่ ?
ธนกร : งบประมาณสำหรับปี 2563 ได้รับ 539 ล้านบาท น้อยมาก นิดเดียวเอง
งบสำหรับปี 2564 ขอไป 670 ล้านบาท เพราะจะนำมาจัดสรรทุน 350 ล้านบาท ที่เหลือก็จะนำมาทำภารกิจตามยุทธศาสตร์สี่ด้านของกองทุน แต่งบประมาณของปี 2564 ยังไม่ได้รับอนุมัติมา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ อยู่ในรายงานประจำปีทั้งหมด โครงการต่างๆ นำขึ้นเว็บไซต์หมด เราถึงถูกตรวจสอบได้ง่าย
@ มีอะไรอยากฝากถึงภาคประชาชนที่ตรวจสอบกองทุนฯ ?
ธนกร : ตั้งใจจะเชิญภาคประชาชนมาหารือ และจะทำหนังสือตอบกลับด้วย แต่ตอนนี้เรารวบรวมความเห็นทั้งหมดและรายงานให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ แล้วจากนั้น เราจะมีหนังสือตอบชี้แจงกลับไป เราไม่ได้คิดว่าเขาไม่ได้มีเจตนาไม่ดี
เราต้องขอบคุณอิศราที่มาฟังข้อมูลจากปากเราครบถ้วนรอบด้าน
เราจะเชิญภาคประชาชนมาไม่เกินเดือนตุลาคน เราไม่ยื้อเวลาอยู่แล้ว จะเป็นเวทีเปิด เชิญสื่อมารับฟังด้วย
อ่านประกอบ :
มองที่เนื้องานเป็นหลัก! ผจก.กองทุนสื่อฯ ยันอนุมัติงบโครงการ 284 ล.ปี 63 ไม่เอื้อทุนใหญ่
แถลงการณ์ (ฉบับที่ 1) เครือข่ายประชาขนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ใครเป็นใคร! เปิดครบ 95 โครงการ-ผู้รับงบ 300 ล.กองทุนสื่อฯ ก่อน ภาคปชช. ยื่น สตง.สอบ
กว่าจะเป็น "กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์"
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage