"...การที่บริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลฯเพื่อขอฟื้นฟูกิจการนั้น เท่ากับบริษัท การบินไทย ยอมรับว่าตัวเองมีหนี้สินล้นตัวแล้ว เพียงแต่ขอโอกาสในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่จะตามมา คือ บริษัทฯจะต้องมีการลดทุน และหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาเพิ่มทุน ซึ่งตรงนี้จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม อาทิ กระทรวงการคลัง ลดลงไปมาก ส่วนเจ้าหนี้เองจะได้รับการคืนหนี้น้อยลงมาก เพราะจะมีการแฮร์คัทหนี้..."
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (สัดส่วน 51.03%) ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพ.ร.บ.ล้มละลาย ต่อมานายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แถลงชี้แจง 10 ขั้นตอน การฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย
พร้อมทั้งระบุว่า บริษัท การบินไทย จะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯต่อศาลล้มละลาย และได้เตรียมเสนอรายชื่อ ‘ผู้ทำแผน’ จำนวน 15 คน ให้ที่ประชุมครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม คาดว่าจะนำบริษัท การบินไทย เข้าสู่แผนฟื้นฟูฯได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้ (อ่านประกอบ : ‘ศักดิ์สยาม’ ชง 15 อรหันต์จัดทำแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ให้นายกฯเคาะสัปดาห์หน้า)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลาย เกี่ยวกับแนวทางและขั้นตอนตามกฎหมาย รวมถึงกรอบระยะเวลา ในการดำเนินการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2543 ดังนี้
@ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ-เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิ์บังคับหนี้
ศ.ดร.สหธน กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการบริษัท การบินไทย มีมติเห็นชอบให้บริษัทฯ ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และศาลฯมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เอาไว้พิจารณา บริษัทฯจะได้รับการคุ้มครองตาม มาตรา 90/12 เช่น เจ้าหนี้จะไม่มีสิทธิ์บังคับหนี้กับบริษัท หรือเรียกได้ว่าจะเกิดสภาวะ ‘การพักชำระหนี้’ และในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯดังกล่าว บริษัทฯจะต้องเสนอรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการด้วย เรียกสั้นว่า ‘ผู้ทำแผน’
“ในการโหวตผู้ทำแผนตามมาตรา 90/17 วรรคสองนั้น ในกรณีที่ลูกหนี้ คือ การบินไทย ต้องการเสนอตั้งผู้ทำแผนเอง จะต้องได้รับเสียงโหวตจากที่ประชุมเจ้าหนี้ ‘เกินกึ่งหนึ่ง’ หากเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง การบินไทยจะต้องเสนอรายชื่อผู้ทำแผนใหม่ อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้คัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอ และต้องการเสนอผู้ทำแผนแข่งกับลูกหนี้ ที่ประชุมเจ้าหนี้จะต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ในการให้ความเห็นชอบผู้ทำแผนที่เจ้าหนี้เสนอ” ศ.ดร.สหธนระบุ
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เจ้าหนี้ทั้งหมดของการบินไทย เช่น เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้ต่างประเทศ เจ้าหนี้เงินกู้ และเจ้าหนี้หุ้นกู้ เป็นต้น จะต้องดำเนินการคู่ขนานกันนั้น คือ การยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 90/26) หากไม่ยื่นคำรอรับชำระหนี้ภายในกำหนด จะทำให้หนี้หายไป
“เจ้าหนี้ทุกคนจะต้องเข้ามายื่นคำร้องขอรับการชำระหนี้ ส่วนกรณีเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ ต้องดูว่าเขาได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเราหรือไม่ หรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเขา ถ้าตามกฎหมายเขา เขาจะใช้กระบวนการบังคับทรัพย์ของการบินไทยที่อยู่ต่างประเทศได้ เช่น เงินฝาก ทรัพย์สิน ที่ดิน และสำนักงาน ฉะนั้น การบินไทยต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลฯในประเทศที่การบินไทยมีทรัพย์อยู่ด้วย แต่ถ้าไม่มีทรัพย์หรือมีทรัพย์นิดเดียวก็ให้มายื่นที่บ้านเรา” ศ.ดร.สหธนกล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนจะเป็นผู้บริหารการบินไทยชั่วคราว
@ขีดเส้นทำแผนฟื้นฟูเสร็จใน 3 เดือน-ขยายเวลาได้ต้องให้ศาลอนุมัติ
ศ.ดร.สหธน กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบผู้ทำแผน และศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนมีเวลาจัดทำแผนฟื้นฟูฯให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากทำไม่เสร็จให้ขยายเวลาได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อน ขณะที่กฎหมายจะมีการกำหนดไว้ว่าแผนฟื้นฟูฯต้องมีอะไรบ้าง เช่น การเพิ่มทุน การลดทุน การไปหาผู้ร่วมทุนใหม่อย่างไร กู้ใหม่อย่างไร หนี้สินเดิมที่มีอยู่จะคืนกันอย่างไร การขอลดหนี้ (แฮร์คัท) จากเจ้าหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุน เป็นต้น
“ในการแฮร์คัทหนี้ ผู้ทำแผนจะต้องคุยกับเจ้าหนี้ เช่น เจ้าหนี้แบงก์ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้หุ้นก็สหกรณ์ และเจ้าหนี้เครื่องบิน เป็นต้น ว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร แต่หากเจ้าหนี้ไม่เห็นด้วยกับผู้ทำแผน ก็ค่อยไปตัดสินใจในขั้นตอนการโหวตรับแผนฟื้นฟูฯ” ศ.ดร.สหธนกล่าว
ศ.ดร.สหธน กล่าวต่อว่า เมื่อผู้ทำแผนทำแผนฟื้นฟูฯเสร็จแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฯ หรือเรียกว่าขั้นตอนการ ‘โหวตรับแผน’ ตามมาตรา 90/46 โดยจะมีการจัดประเภทเจ้าหนี้เป็นกลุ่มๆ ส่วนแผนจะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้หรือไม่ จะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้ (1) อย่างน้อย 1 กลุ่ม มีเจ้าหนี้ (คน) จำนวนมาก และจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 และ (2) รวมหนี้ทุกกลุ่มมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
ยกตัวอย่าง เช่น หากจัดประเภทเจ้าหนี้เป็น 5 กลุ่ม จะต้องมีเจ้าหนี้อย่างน้อย 1 กลุ่ม เห็นชอบแผน โดยในกลุ่มนั้นจะต้องได้เสียงเจ้าหนี้เกินครึ่งหนึ่ง และมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 อย่างไรก็ตาม หากมีเจ้าหนี้กลุ่มอื่นๆไม่เห็นชอบแผน ให้นำเสียงโหวตของเจ้าหนี้ทุกกลุ่มมารวมกัน หากพบว่าเสียงของเจ้าหนี้ ซึ่งมีหนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 50% เห็นชอบกับแผน เท่ากับว่าแผนฟื้นฟูฯได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ จากนั้นให้เสนอแผนฯดังกล่าวให้ศาลฯพิจารณาต่อไป
“หากเจ้าหนี้ยังไม่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูฯ ผู้ทำแผนสามารถปรับปรุงแก้ไขแผนได้ จนกว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะพอใจ และเมื่อแผนได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้แล้ว ให้ส่งเรื่องให้ศาลฯ ศาลฯจะตัดสินใจว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวสมควรหรือไม่สมควร โดยศาลฯมีทางตัดสิน 2 ทาง คือ รับ และไม่รับ และที่ต้องให้ศาลฯพิจารณาตรงนี้ เพราะมีความเป็นไปได้ที่แผนฟื้นฟูอาจเป็นการเอาเปรียบเจ้าหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้
อย่างไรก็ดี ในชั้นการพิจารณาแผนของศาลฯนั้น ถ้าศาลไม่รับแผนฯ ผู้ทำแผนสามารถนำแผนไปปรับปรุงได้ แต่ถ้าไปต่อไม่ได้ ขั้นตอนก็วกกลับไปสู่กระบวนการล้มละลาย ไปพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ รวบรวมสินทรัพย์นำไปขาย เพื่อนำเงินมาคืนเจ้าหนี้ต่อไป” ศ.ดร.สหธนกล่าว
@ผู้บริหารแผนมีเวลาไม่เกิน 5 ปี-ขยายได้ครั้งละ 1 ปีไม่เกิน 2 ครั้ง
ศ.ดร.สหธน กล่าวว่า ทันทีที่ศาลฯเห็นชอบแผนฯแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การตั้ง ‘ผู้บริหารแผน’ ซึ่งรายชื่อผู้บริหารแผน หรือคณะกรรมการบริหารแผนฯ บริษัท การบินไทยนั้น จะอยู่ในแผนฟื้นฟูฯที่ผู้ทำแผนทำขึ้น และเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ โดยผู้บริหารแผนจะมีระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี แต่ระยะเวลาบริหารแผนต้องไม่เกิน 5 ปี ขยายเวลาได้ครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง และหากผู้บริหารแผน ทำตามแผนไม่สำเร็จ ให้นำเรื่องเข้าสู่ศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป
“ในระหว่างการบริหารแผน หากทำไม่ได้ตามแผน เรียกว่าแผนไม่สำเร็จ ก็ต้องเอาเรื่องเข้าศาล แล้วเข้าสู่กระบวนล้มละลาย และตามปกติแล้ว การบริหารแผนฯจะมีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่ในระหว่างทางสามารถปรับปรุงแผนได้ แต่ต้องเรียกประชุมเจ้าหนี้ และเสนอให้ศาลรับด้วย ทั้งนี้ หากทุกอย่างสำเร็จตามแผน ก็คืนสิทธิการบริการให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นช่วงนั้น คงกลายไปเป็นคนใหม่ไปหมดแล้ว” ศ.ดร.สหธนกล่าว
@ผู้ถือหุ้นเดิมหาย-เจ้าหนี้ต้องทำใจถูกแฮร์คัทหนี้
ศ.ดร.สหธน ยังระบุว่า การที่บริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลฯเพื่อขอฟื้นฟูกิจการนั้น เท่ากับบริษัท การบินไทย ยอมรับว่าตัวเองมีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว เพียงแต่ขอโอกาสในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่จะตามมา คือ บริษัทฯจะต้องมีการลดทุน และหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาเพิ่มทุน ซึ่งตรงนี้จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม อาทิ กระทรวงการคลัง ลดลงไปมาก ส่วนเจ้าหนี้เองจะได้รับการคืนหนี้น้อยลงมาก เพราะจะมีการแฮร์คัทหนี้
“เจ้าหนี้คงได้คืนหนี้ แต่ไม่มาก เพราะในแผนจะมีการแฮร์คัทหนี้ ลดหนี้ด้วย และผมเชื่อว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ฯที่ถือหุ้นกู้การบินไทยอยู่จะถูกลดหนี้ลงอย่างมาก แม้ว่าจะไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของสหกรณ์ เพียงแต่ทำให้สหกรณ์ขาดทุน แต่นั่นจะทำให้คนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งอาจนำไปสู่การถอนหุ้นของสมาชิกฯ จนสหกรณ์ล้มลงได้ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้คนถอนหุ้นออก” ศ.ดร.สหธนกล่าว
ศ.ดร.สหธน ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ทำแผนฟื้นฟูฯคงเป็นบุคคลที่คลุกคลีกับการบินไทยมานาน และน่าจะมีศึกษากับในรายละเอียดแล้วว่าแผนฟื้นฟูฯจะดำเนินการอย่างไร แต่เมื่อลงมือทำแผนจริง ผู้ทำแผนจะต้องเผชิญกับสภาพ ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ ทั้งในเรื่องการลดคนทำงาน การขายเครื่องบิน การจัดการระบบขายตั๋วใหม่ โดยเฉพาะการจัดการกับธุรกิจบางอย่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องกันในภายหลังได้
“การทำแผนฟื้นฟูฯ กฎหมายระบุว่าให้ขายทรัพย์สินบางอย่างออกไปได้ เช่น ทรัพย์สินที่ไม่ใช่กิจการหลัก อย่างการบินไทยตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านการบิน ถ้าบอกว่าการบินไทยจะไม่บินแล้ว อันนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นครัวการบินไทย หรืออะไรที่เป็นเรื่องดี เขาก็มักจะขาย ด้วยเหตุที่ใช่ธุรกิจหลัก จึงต้องระวังอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับการขายท่าเรือของทีพีไอ (บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย) เพื่อเงินมาโป๊ะ กระทั่งมีการฟ้องร้องกันยาว” ศ.ดร.สหธนกล่าว
นอกจากนี้ ในระหว่างการบริหารแผนฟื้นฟู สิ่งที่บริษัท การบินไทย ต้องประสบ คือ การกู้ยืมเงินจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะไม่มีหลักประกัน และมีความเสี่ยงสูง
อ่านประกอบ :
ครม.ส่ง'การบินไทย' ฟื้นฟูกิจการต่อศาล 'บิ๊กตู่' หวังเห็นภาพสายการบินแห่งชาติกลับมา
'อนุทิน' เผย 'การบินไทย' ต้องพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ-สหภาพฯ แถลงค้าน 'คลัง' ลดสัดส่วนถือหุ้น
คนร.เห็นชอบยื่น ครม.อนุมัติ ‘การบินไทย’ ขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลายไทย
แห่ถอนเงิน 74 สหกรณ์! สมาชิกฯหวั่น 'การบินไทย'ล้ม หนี้สูญ สมาคมฯร้องรัฐอุ้มหุ้นกู้
ยื่นศาลฯฟื้นฟูกิจการบินไทย! ‘อนุทิน’ เผย ‘บิ๊กตู่’ ไฟเขียว-จ่อถก ‘คลัง’ อนุมัติ
อนาคต‘การบินไทย’ ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ ใครได้-ใครเสีย?
ยื่นศาลล้มละลาย-ให้คลังถือหุ้นต่ำกว่า50% ! มติที่ประชุม 4 รมต.เสนอ ‘บิ๊กตู่’ฟื้นฟูฯ ‘บินไทย’
เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย'
เป็นไปได้ หากไม่มีทางอื่น!‘บิ๊กตู่’แจงข้อเสนอยื่นล้มละลาย-ขอฟื้นฟูการบินไทย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage