"...ผมไม่ชอบทำอะไรที่มีคนเป็นพระเอกอยู่แล้ว เรามาสู้กันนี่ อาจจะตายทั้งคู่นะ ไม่ก็ตายคนหนึ่ง อีกคนเข้าไอซียูคนหนึ่ง หรือไม่ก็ทั้งคู่เข้าไอซียู ผมมีคน แล้วมีพลัง ผมจะเลือกธุรกิจที่ไม่มีใครทำ ของผมจะง่ายหน่อย ผมเคยพูดกับทีมงานของบริษัทฯ ให้ไปเลือกที่ไม่มีคู่ต่อย สะดุดขานับสิบ เราก็ยังเป็นแชมป์..."
เข้าสู่ปีที่ 99 แล้ว นับตั้งแต่ร้านขายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ ‘เจียไต้จึง’ หรือ ‘เจียไต๋’ บนถนนทรงสวัสดิ์ (ทรงวาด) ต้นกำเนิดเมล็ดพันธุ์ตรา ‘เครื่องบิน’ เปิดกิจการในปี 2464 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ‘เจียไต๋’ กลายเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ของคนไทยในนาม ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ ซึ่งบุกเข้าไปลงทุนใน 22 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ
อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของกลุ่มซีพี? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสรับฟังแนวคิดทางธุรกิจและวิธีการจัดการ ‘คน’ จาก ‘เจ้าสัวธนินท์’ หรือ 'ธนินท์ เจียรวนนท์' ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ 'ซีพี' ก่อนที่องค์การแห่งนี้จะก้าวเข้าสู่องค์กร 100 ปีในปีหน้า ดังนี้
@เอาของดีที่สุดมาใส่นี่คือความสำเร็จของซีพี
เจ้าสัวธนินท์ เกริ่นว่า ซีพีไปได้ทุกประเทศ เพราะเราเป็นอาหารการกิน เราเป็นเกษตร แล้วเราเป็นเกษตรทันสมัยด้วย เราไม่ได้ล้าสมัย เราไม่แพ้เกษตรที่ทันสมัยของโลกเลย เราไปเรียนรู้เกษตรที่ทันสมัยของโลก เพราะเรารู้ว่าเราเป็นน้องเล็ก เราไม่เก่ง ประเทศไหนเก่ง เราไปเรียนรู้กับเขา เขาก็ยินดีที่จะสอนเรา แต่ถ้าเป็นประเทศเก่งต่อเก่ง เขาไม่สอนกันนะ ต่างคนต่างคิดว่าเป็นหนึ่งในตองอู ถ้าจะมาดูงานไม่ให้ดูนะ แต่น้องเปี๊ยกๆอย่างไทย ใครๆก็ไม่รังเกียจ
“วัฒนธรรมไทยยอดเยี่ยมมาก คนไทยไปไหนไม่ถูกรังเกียจ เขายินดีต้อนรับ ผมก็ไปเรียนรู้ ถ้าใคร ประเทศไหน เก่งในเรื่องนี้ ผมไปทุกประเทศเลย แล้วเอาของดีที่สุดของเขามาประยุกต์ แล้วก็มาทำ กลายเป็นว่าเราเก่งกว่าเขาอีก บางทีเขาตกใจเหมือนกันนะ ผมสอนคุณอย่างนี้ แล้วทำไมคุณทำได้เหนือกว่าผม เพราะผมไปเอาอีกประเทศหนึ่งที่เก่งกว่าเขาใส่เข้าไป ไปเอาของดีที่สุดมาใส่ นี่คือความสำเร็จของซีพี”
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า ซีพีไปประเทศไหน จะใช้หลัก ‘3 ประโยชน์’ คือ ไปลงทุนประเทศไหน ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ก่อน ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ จากนั้นซีพีถึงจะได้ประโยชน์ ได้ผลมาก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราทำเรื่องเกษตร เรื่องปากท้อง ถ้าประเทศเขาไม่ได้ประโยชน์ รัฐบาลเขาก็ไล่เราออก เพราะไปเอาเปรียบเกษตรกรเขา เราต้องคิดถึงว่าประเทศเขาได้อะไร ประชาชนเขาได้อะไร แล้วเราถึงจะได้
“ถ้าประเทศเขาไม่ได้ ประชาชนไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ต่อให้เราเก่งอย่างไร เขาก็ไม่ให้เราอยู่ ยิ่งเก่ง ยิ่งไม่เอาเรา แต่ถ้าเก่งแล้วไปช่วยเขา ทำให้ประเทศเขาเจริญรุ่งเรือง ประเทศเขาก็ได้ประโยชน์…แน่นอนว่าผมขายอาหาร เราต้องทำของดี ราคาถูก ไปขายให้เขา ลดค่าครองชีพเขา ให้เขาได้กินของดี อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราสำเร็จ คือ เราไม่แข่งกับเกษตรกรเขา เราไปช่วยเขา ส่งเสริมให้เชาปลูก ให้เขาเลี้ยง เราก็ตัวเบา รัฐบาลก็พอใจว่า เราไม่ได้มาแย่งอาชีพเกษตรกรเขา”
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวต่อว่า เรา (ซีพี) จะไปทำสิ่งที่เกษตรกรของเขาทำไม่ได้ รัฐบาลก็พอใจอีก เพราะรัฐบาลทำไม่ได้ เกษตรกรก็ทำไม่ได้ แต่เราทำได้ เช่น ค้าปลีกฯ แล้วเรายังแปรสภาพเป็นอาหารสำเร็จรูปไปต่างประเทศให้เขาอีก เขาได้เงินตราต่างประเทศอีก ทำไมเขาจะไม่ช่วยเรา ดังนั้น ถ้าเราทำเกษตรแล้ว อย่าไปแข่งกับเกษตรกรเขา ต้องช่วยเกษตรกรเขา เขาถึงจะรักเรา ถ้าเราไปแล้วไปแย่งอาชีพเกษตรกร เกษตรกรไล่เราออกแน่นอน ชาวบ้านไม่ให้เราไปสร้างอะไรแน่
“เราไปช่วยชาวบ้านเขา (ทุกอย่าง) ยังเป็นของคุณ เราทำให้คุณรวยขึ้น คุณมีปัญหา ผมช่วยคุณ คุณผลิต ผมซื้อ ผมประกันราคา ให้คุณมีกำไรแน่นอน ดังนั้น ซีพีไปทุกประเทศ ต้อนรับทุกประเทศ แล้วซีพีไปไหน เราชูธงชาติไทย เราเป็นคนไทย สมัยญี่ปุ่นรุ่งเรือง เขาบอกว่าผมเป็นคนญี่ปุ่น ผมบอกไม่ใช่ ผมเป็นไทย เพราะผมต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน แล้วผมเอารูปรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯไปติดออฟฟิศทุกแห่ง
เราต้องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ เพราะอะไร ผมถือว่าผมอยู่ในบ้านของท่าน ซีพีถ้าไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ซีพีก็ไม่ได้วันนี้ คุณพ่อผม ธุรกิจที่เมืองจีนถูกยึดไปหมดแล้ว หมดตัวแล้ว แต่ดีที่ว่าตอนนั้นเกือบ 100 ปีก่อน มาลงทุนอยู่เมืองไทย เราก็ได้พระมหากษัตริย์สนับสนุน คือ ให้โอกาสในยุคนั้น แล้วผมยังจำได้ ผมเปิดร้านอาหารสัตว์ที่วัดเกาะ รัชกาลที่ 9 ยังให้ปฏิทิน แล้วตรุษจีนนะ เห็นมั้ยท่านยังเสด็จที่เยาวราชเลย”
เจ้าสัวธนินท์ มองว่า ต่อไปประเทศไทยจะเป็นศูนย์การค้าของโลก จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะเราอยู่ในทวีปที่คน 3,000 กว่าล้านคนกำลังเติบโต ในโลกนี้มีทวีปไหนที่มีประชากร 3,000 กว่าล้านคนบ้าง
(เจี่ย เอ็กชอ และนายเจี่ย เซี่ยวฮุย เปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักชื่อ ‘เจียไต้จึง’ หรือ ‘เจียไต๋’ บนถนนทรงสวัสดิ์ (ทรงวาด) เมื่อปี 2464 ที่มาภาพ : เครือเจริญโภคภัณฑ์)
@จากธุรกิจส่งออกไก่ 50 ปีก่อน สู่การลงทุนในกว่า 20 ประเทศ
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ซีพีเริ่มกิจการโรงงานอาหารสัตว์เเห่งแรกในปี 2496 เริ่มจากใช้เครื่องบดและผสมอาหารในโรงจอดรถที่บ้านตรอกจันทน์ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะปรับปรุงเป็นโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัย ในขณะที่ธุรกิจแรกๆที่กลุ่มซีพีใช้เป็น ‘หัวหอก’ บุกตลาดโลก คือ ธุรกิจเลี้ยงไก่และส่งออกไก่ แต่จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เจ้าสัวธนินท์ เล่าว่า ทีแรกซีพีเลี้ยงไก่ ตอนนั้นคนไทยรายได้ยังน้อย เมื่อ 50 ปีก่อนนะ เรามีการส่งเสริมเลี้ยงไก่ 1 หมื่นตัว วันหนึ่งต้องขาย 1 หมื่นตัวให้ได้ เพราะเราไปให้เขาเลี้ยง 1 หมื่นตัว จึงต้องมีไก่ 1 หมื่นตัวทุกวัน แต่การทำธุรกิจ ไม่ใช่ประเดี๋ยวมี ประเดี๋ยวไม่มี ไม่ได้ ตอนนั้นผมทำไก่ไปขาย ประเดี๋ยวมี ประเดี๋ยวไม่มี แผงไก่ไล่ผมออกจากตลาดไก่เลยว่า ไปทำให้เขาวุ่นวาย ลูกค้าผิดหวัง มาถึงไม่มีไก่เลยไม่ซื้อของผมเลย ถ้าคุณส่งให้ผมไม่ได้ทุกวัน ผมไม่ซื้อคุณแล้ว
“แล้วเราก็ไปขายให้ญี่ปุ่นรายแรก ส่งออกไปญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ซื้อไก่จากประเทศไทย แต่ญี่ปุ่นไม่ได้ซื้อเราตามที่เราจะขายไปนะ แต่เขาซื้อส่วนที่ขาด ถ้าเขาขาด เขาถึงจะซื้อไก่ไป เพราะเขาปกป้องคนเลี้ยงไก่ในญี่ปุ่น แล้วไก่วันนี้ เราก็ขายไปยุโรปนะ แปรสภาพเป็นอาหารสำเร็จรูปไปขายยุโรป ขายไปญี่ปุ่น”
(ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผู้จัดการทั่วไป ขณะที่มีอายุ 25 ปี เมื่อปี 2507 ขอบคุณภาพ : เครือเจริญโภคภัณฑ์)
จากจุดเริ่มต้นในวันนั้นกระทั่งถึงวันนี้ ‘ซีพี’ กลายเป็นบริษัทอินเตอร์ฯ มีการส่งออกสินค้าไปนับร้อยประเทศ มีฐานการลงทุนไปกว่า 20 ประเทศ ขณะที่รายได้ของกลุ่มซีพี 60% มาจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากฐานการผลิตในประเทศไทยและในจีนแล้ว (ซีพีเป็นบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน หลังจากจีนเริ่มเปิดประเทศในปี พ.ศ. 2521 เราเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในจีน และเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง) ยุโรปถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญของกลุ่มซีพี
“ที่เราไปลงทุนหนักๆมี 17 ประเทศ เช่น เยอรมัน เบลเยี่ยม อังกฤษ ยกเว้นฝรั่งเศสยังไม่ได้ไป ที่เยอรมันเรามีศูนย์รวมที่เอาสินค้าจากทั่วโลกไปขายให้คนเยอรมัน ส่วนที่เหลือ ที่ดีๆ เราเอามาขายให้ยุโรป แล้วก็ขายเข้าอเมริกา ที่อังกฤษ เรามีโรงงานแล้ว เรามีเชนภัตตาคารแล้ว ที่เบลเยี่ยมเราก็มีโรงงาน เราค้าขายกับอียูมากว่า 40 ปีก่อนแล้ว เราตั้งสาขาในเบลเยี่ยมเมื่อ 40 ปีก่อน แล้วเราก็ตั้งสาขาในนิวยอร์ก พักหลังเราก็มีโรงงานผลิตด้วย”
เจ้าสัวธนินท์ ยังบอกว่า ที่เวียดนาม เรา (ซีพี) เป็นเบอร์ 1 ในเรื่องเกษตร เรื่องการเลี้ยงสัตว์ แต่ถ้าเป็นที่ประเทศจีน ถ้าเป็นเรื่องเลี้ยงหมู เราเป็นเบอร์ 2 แต่ถ้าระดับโลกรวมกันแล้ว เราเลี้ยงหมูเป็นเบอร์ 2 ของโลก แล้วยังมีแคนาดาอีก เรามีการลงทุนในแคนาดา เรามีการลงทุนที่ญี่ปุ่น และเราลงทุนในอเมริกาด้วย ซึ่งในอเมริกานั้น เรามีทั้งโรงงาน มีเครือข่ายการขาย เราไม่ได้ไปทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไปแล้ว
“เราไปลงทุนที่อเมริกา มีโรงงาน มีเครือข่ายการขายข้าวกล่อง อาหารสำเร็จรูปกว่า 5 หมื่นแห่งในอเมริกา อย่างในซุปเปอร์มาเก็ต วอลมาร์ท คาลเท็กซ์ เราขายไปได้ 5 หมื่นแห่ง จากอเมริกาที่มี 70,000 แห่งนะ เรามีโรงงานอยู่ 2 แห่ง และกำลังจะไปขยายโรงงานผลิตอาหาร และเราจะไปลงทุนรัฐไหนก็ได้ เพราะเราใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์อัตโนมัติหมด แล้ว ยิ่งอาหารต้องใช้หุ่นยนต์ คนอาจผิดพลาดได้ แต่เครื่องจักรที่ทันสมัยผิดพลาดไม่ได้”
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวด้วยว่า “วันนี้รัฐบาลอเมริกาอยากให้เราไปเลี้ยงกุ้งที่อเมริกา เราก็เริ่มไปเลี้ยง ไปรีเสิร์ซ และศึกษาดู แต่อเมริกามีหน้าหนาวมาก ซึ่งวันนี้เราก็ทำ (เลี้ยงกุ้ง) หน้าหนาวได้แล้ว ผมเลยบอกไปว่า คุณมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งเยอะ และยุคนี้ผมไม่กลัวแล้ว หน้าหนาวผมก็เลี้ยงได้ ซีพีเลี้ยงได้ โดยเรากำลังไปศึกษาว่าอเมริกามีนโยบายอย่างไร”
ส่วนการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “เวียดนามใหญ่กว่าเมืองไทย เพราะเขามีคน 100 ล้านคน ส่วนเรา (ประเทศไทย) สูงสุดก็ 70 ล้านคน ฟิลิปปินส์มี 100 ล้านคน อินโดนีเซียมี 200-300 ล้านคน เราก็ไป มาเลเซีย เราก็ไป ทั้ง 10 ประเทศ เราไปลงทุนหมด ยกเว้นบรูไนที่เราไม่ได้ไป”
สำหรับเป้าหมายการลงทุนระยะต่อไปนั้น เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “รัสเซียมี 200 ล้านคน...เราจะใช้รัสเซียเป็นหลัก แล้วเราค่อยๆลามออกไป ที่ใช้รัสเซียเป็นหลัก เพราะอยู่ในระแวกนั้นทั้งหมด แล้วเราไป เขายินดีด้วยนะ เขาต้อนรับเรา เราไปทุกประเทศ ไม่มีประเทศไหนรังเกียจเรา ถ้าบอกว่า เรามาจากเมืองไทย เขาให้ไฟเขียวทุกประเทศ ส่วนแอฟริกา เราขายข้าวตราฉัตร เราขาย (สินค้า) ไปตะวันออกกลาง แต่ยังไม่ได้ไปลงทุน เพราะคนมีจำนวนไม่ค่อยมาก”
(ซีพีซื้อกิจการของบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ในสหรัฐอเมริกา ปลายปี 2559)
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวถึงก้าวต่อไปของซีพีว่า เรากำลังจะส่งเสริมภัตตาคารไทย ทำให้เขายิ่งใหญ่ขึ้น เราจะสนับสนนุเรื่องซอฟท์แวร์ วัตถุดิบ เอาความรู้ไปให้เขาว่าจะเปิดเชนให้มากขึ้นได้อย่างไร และเขาจะให้เราร่วม (ทุน) เราก็ร่วม ไม่ให้เราร่วม เราก็ขายวัตถุดิบให้เขา
“ถ้าเขาไม่ขาดเงิน เราก็ให้ความรู้ ให้วัตถุดิบเขา ยิ่งขายมากขึ้น สินค้าเราก็ขายให้เขามากขึ้น โตไปด้วยกัน ถ้าเขาให้เราร่วมเราก็ร่วม ให้เขาบริหาร เพราะเราจะเอาคนที่ไหนไปบริหาร ภัตตาคารเยอะ เราจะสนับสนุนเขา เรื่องซอฟท์แวร์ เรื่องพัฒนา เรื่องครัว เรื่องการขาย เราก็ช่วยเขา เราจะเอาความรู้จากรายนี้ไปสอนรายโน่น ก็ดีไปทั้งหมด ถ้าเขาใหญ่ขึ้น เราก็ใหญ่ขึ้น นี่คือนโยบายของซีพี”
เจ้าสัวธนินท์ บอกด้วยว่า ในอนาคตข้างหน้าธุรกิจในเครือซีพีจะมีรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะซีพีผลิตอาหาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยก็ต้องกินอาหาร
“ผมคิดว่ายิ่งนาน ยิ่งเยอะ เพราะอะไรรู้ไหม เฉพาะเมืองจีนก็ใหญ่กว่าเมืองไทย ผมทำอาหาร ไม่ว่าเขาจะจนหรือรวย เขาต้องกิน ถ้าเขาจน เราไปลงทุนในประเทศนั้น ค่าใช้จ่ายเราก็ถูก วัตถุดิบก็ถูก เราก็ซื้อถูกขายถูก แรงงานเขาก็ถูก แล้วก็มีโอกาสไปขายแพงให้ทั่วโลกอีก นี่คือนโยบายของบริษัท เราทำให้เขาได้ของดีราคาถูก และช่วยให้เขาส่งออกได้อีก”
นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ของกลุ่มซีพี เช่น การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงและการซื้อธุรกิจเทสโก้ โลตัส ส่วนหนึ่งก็มาจากนำเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนอีกด้วย
“อย่างรถไฟความเร็วสูง เราเอาเงินจากต่างประเทศแล้วนะ เราซื้อเทสโก้โลตัส ก็มีส่วนหนึ่งมาจากต่างประเทศนะ แต่ดูที่ไหนที่ได้ดอกเบี้ยถูก เราก็เอาที่นั่น” เจ้าสัวธนินท์กล่าว
(หมายเหตุ : บริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) เป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยเบลลิซิโอเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอาหารแช่แข็งแบบ Single Serve ภายใต้แบรนด์ มิชิลิน่าส์ (Michelina’s) แอทคินส์ (Atkins) บอสตันมาร์เก็ต (Boston Market) ชิลีส์ (Chili’s) อีทติ้งเวล (EatingWell) และอีท (Eat!) รวมทั้งเป็นผู้ผลิตร่วมสินค้าภายใต้แบรนด์ของลูกค้า (Private Label)
นอกจากนี้ ซีพียังขยายตลาดในยุโรป โดยซื้อกิจการอาหารพร้อมรับประทาน 'ท็อปส์ฟู้ดส์' ในเบลเยียม โดย Tops Foods มีเทคโนโลยีถนอมอาหารที่ยอดเยี่ยม และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน กำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานจำนวนประมาณ 100,000 ถาดต่อวัน ขณะที่โรงงานของ Tops Foods เป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหารพร้อมรับประทานด้วยไมโครเวฟที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน)
(สำนักงาน 'ท็อปส์ฟู้ดส์' ในเบลเยียม)
@ยันโควิด-19 ไม่ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร
เมื่อถามถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อธุรกิจในเครือซีพีทั่วโลก? เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า “เราขายอาหารนะ ในเมืองจีนเราขายดีมากขึ้นอีก แล้วรัฐบาลต้องปกป้องเรา เพราะกลัวประชาชนไม่มีอาหารกิน 3 วันไม่กินก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น ของเราทั้งฟาร์มทุกอย่างรัฐบาลให้ไฟเขียวหมด...” แต่ได้ระบุเช่นกันว่า “แม้ว่าธุรกิจอาหารจะขายได้เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ธุรกิจอย่างอื่นของเราก็พังนะ”
เจ้าสัวธนินท์ เสนอว่า “วันนี้รัฐบาลทั่วโลกพิมพ์เงิน และสมมุติว่าผมเป็นรัฐบาล ผมจะออกบอนด์ของรัฐบาลดอกเบี้ยถูกๆ 30 ปี อาจจะดอกเบี้ย 1% เอาเงินของทั่วโลกมา เพราะเครดิตเราดีอยู่ แล้วมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกๆ ปล่อยกู้ 30 ปีแล้วค่อยมาคืน ให้อยู่รอดก่อน อย่าให้ตกงาน อย่าให้ไล่คนงานออก อย่างอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษจนกว่ารัฐบาลเรา ค่าใช้จ่ายก็มาก เขาสนับสนุนค่าจ้างให้กับพนักงานโรงแรม 80% แต่คนอย่าไล่ออกนะระหว่างนี้ เพราะรัฐบาลสั่งเขาปิด”
เจ้าสัวธนินท์ ย้ำว่า แม้ว่าจะท่ามกลางสถานการณ์โควิดไม่มีทางที่อาหารจะขาดแคลน โดยเฉพาะในเมืองไทย อาหารมีแต่จะเกิน
“อาหารขาดแคลนไม่มี เพราะท้องนา ไม่ติด (โควิด) แน่นอน อาหารขาดแคลน ไม่มี มีแต่จะเกิน แล้วถ้าบอกว่า (โควิด) เกิดขึ้นทุกปี อาหารจะขาดแคลน คนเหล่านี้ไม่เข้าใจ เพราะมีแต่เกิน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเมืองไทย ถ้าเราขายน้ำได้ ปลูกข้าวได้ 3 รอบ ผมกลัวว่าจะเกิน ไม่ใช่ขาด ส่วนประเทศที่ขาดแคลนอาหาร เพราะรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริม และไม่มีใครไปนำเขา”
เจ้าสัวธนินท์ ยังบอกว่า “อย่างเลี้ยงไก่วันนี้ใครจะคิดถึง ผมเลี้ยงไก่แปดชั้นนะ แต่เมื่อเขาบอกว่าทรมานใช่ไหม ต่อไป ผมก็ให้ปล่อยออกมา ให้ (ไก่) เล่นได้ แล้วเข้าไปไข่ในนั้นเอง เราจะทำบรรยากาศที่ให้แม่ไก่ชอบไปไข่ ไม่ใช่เที่ยวไข่ แล้วก็คัดพันธุ์ แม่ไก่ที่เที่ยวไข่ก็เฉือนออกไป โลกเปลี่ยนแปลงแน่ ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเจริญ และยิ่งเปลี่ยนประชาชน ยิ่งมีความสุขมากขึ้น แต่ระหว่างที่เปลี่ยน หนัก มีล้มหายตายจากไป ลองคิดดูสิ หลังต้มยำกุ้ง ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองขึ้น
@ซีพีเป็นธุรกิจครอบครัวก็จริง แต่ใช้ 'มืออาชีพ'
เมื่อถามถึงการให้นโยบายกับคนของซีพีที่ไปทำงานในต่างประเทศ? เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า คนไทยไปไม่ได้ไปเป็นเจ้านาย แล้วเอาเขาเป็นขี้ข้านะ ต้องยกย่องเขา เราไปประเทศเขา ต้องสนับสนุนเขา ถ้าเขามีคนเก่ง เราก็ยกให้เขาทำ และจริงๆคนไทยไม่ชอบอยู่ต่างประเทศนะ คนเก่งๆชอบอยู่เมืองไทย ถ้าจำยอมแล้วถึงไป แต่คนต่างประเทศมาอยู่เมืองไทยแล้วติดใจ ไม่อยากกลับประเทศเขา คนไทยผมส่งไปที่ไหนๆสุดท้ายอยากกลับเมืองไทย อยู่เมืองไทยสบายกว่า รวมทั้งผม
“ผมไปลงทุนที่ไหน แรกๆผมต้องไปซื้อบ้านเลย ไปอยู่ก่อน ไม่อยู่โรงแรม พอธุรกิจเสร็จ ผมไม่ไปบ่อยผมก็ขาย ผมใช้วิธีนี้ แต่ไม่มีประเทศไหนที่ผมอยู่แล้วประทับใจ มีแต่เมืองไทย เมืองไทยมีวัฒนธรรมความดีงาม และคนไทยเรานี่ ยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี”
พร้อมย้ำว่า “เราอย่าไปส่งคนไทยไปเป็นเจ้านาย เราไปต้องถ่อมตัว ต้องยกย่องคนในท้องถิ่น แต่เราต้องคอนโทรล (ควบคุม) การเงิน เราก็ส่งคนไทยไป ถ้าคนในพื้นที่เหมาะสม เราก็สร้างเขาขึ้นมา นอกนั้นซีอีโอต้องให้เขา เพราะเขารู้ดีกว่าเรา เราใช้วิธีนี่แหละ”
เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “ซีพีเป็นธุรกิจครอบครัวก็จริงนะ แต่เราใช้มืออาชีพหมด ส่งเสริมมืออาชีพ เมืองไทยก็มีคุณก่อศักดิ์ (ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการ บมจ.ซีพี ออลล์) คุณอดิเรก (ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร)”
“เขาทำงานใหญ่กว่า ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่นเยอะเลย พวกคุณอาจจะไม่รู้ เซเว่นฯใหญ่ในเมืองไทย เพราะเราเป็นแฟรนไชส์ เราไปไหนไม่ได้ เขาไม่ให้เราไป เพราะเขาหาว่าเราใหญ่ไปแล้ว แต่ CPF เราไปได้ทั่วโลก แต่เราไม่ได้ใช้ชื่อ CPF ทั้งหมด เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ บางแห่งที่มันวุ่นวาย มีขัดกันเรื่องผลประโยชน์บางอย่าง เราก็เอา CPG (บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์) ไป แต่ให้คุณอดิเรกบริหาร เพราะเป็นมืออาชีพ”
เมื่อถามถึงนโยบายการสร้างคนของกลุ่มซีพี? เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “ต่อไปคนของซีพีทุกคนต้องทำเงินเป็น ทุกคนต้องคิดแบบเถ้าแก่ ทำแบบเถ้าแก่ แล้วก็ให้มีรายได้สูง อย่าไปจ้างถูกๆ ถ้าซีพีคิดว่าไปจ้างถูกๆแล้วกำไรจากแรงงาน เราคิดแบบเก่าแล้ว เราต้องทำให้เงินเดือนเขาสูง ประสิทธิภาพเขาสูงด้วย
เช่น เขาทำงาน 3 เท่า เราจ่ายเงินเดือน 2 เท่า ซีพีก็ได้และเขาก็พอใจ ถ้าทำงานตามเดิม แต่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ต้องเอาเครื่องทุ่นแรง เอาระบบทันสมัยมาช่วยเขา ทำให้เขามีผลงาน 4 เท่า เราจ่ายเขา 3 เท่า จะเป็นไรไป ต้องคิดบวก”
(ธนินท์ เจียรวนนท์' ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์)
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวต่อว่า “คนส่วนใหญ่คิดว่า ค่าใช้จ่ายสูงแล้วอยู่ไม่ได้แล้ว จะต้องลดคนแล้ว สุดท้าย กลายเป็นงูกินหาง ถ้าคุณอยากอยู่รอด เพราะลดคน เซฟค่าแรงงานคน ผิดแล้ว ถอยหลังเข้าคลองแล้ว ต้องทำให้เขาทำงานมากขึ้น แต่เหนื่อยน้อยลง คนเก่งน่ะ งานต้องมากขึ้น รายได้ต้องมากขึ้น ต้องเหนื่อยน้อยลง ไม่ใช่ว่าเอาแรงงานเขา เอาเวลาเขา คนเก่งไม่เอาหรอก มีโอกาสเขาลาออกแน่นอน เราเหลือแต่คนไม่เก่ง ไม่ทำเงินให้บริษัท และยังแถมเงินให้เขาอีก”
“ซีพีไม่กลัวเงินเดือนสูง กลัวประสิทธิภาพต่ำ เราจึงต้องหาทางให้เขาได้รายได้สูง ให้เขาเลี้ยงครอบครัวได้ ให้เขาไม่ต้องห่วงปากท้อง ให้เขามุ่งหน้าว่าทำอย่างไรให้ดีขึ้น เก่งขึ้น อย่างร้านเซเว่นฯ ถ้าผู้จัดการร้านที่ไม่ได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้จัดการเขต แต่เขาทำได้เยี่ยมมาตลอด อย่างนี้ร้านนี้ เซเว่นฯนี้ เซ้งให้คุณไปเลย ให้คุณเป็นเถ้าแก่ เพราะเรารู้นิสัยเขา ไต่เต้าจนเป็นผู้จัดการร้าน ถ้าให้แฟรนไชส์คนอื่น อาจเกเร ไม่ชัวร์ เอาชัวร์ๆ เอาคนที่มีปผลงานแล้ว”
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวต่อว่า “ต่อไปคนขับรถขนส่ง ไม่ได้เรียกคนขับรถแล้ว ผมต้องให้เขาเป็นเถ้าแก่ ส่งของได้ ขายเป็น บริการลูกค้าได้ เพราะเขาไปเจอลูกค้า ใกล้ชิดลูกค้าที่สุด แล้วทำไมต้องมีเซลล์ (พนักงานขาย) อีกคนล่ะ เอาเขาเป็นคนส่ง สร้างเขาให้เป็นเซลล์ด้วย เงินเดือนสูงขึ้น รถเป็นของเขาด้วย ต้องคิดบวก เขาก็ทำงานได้มากขึ้น เพราะอย่างไรเขาต้องไปเจอลูกค้าอยู่แล้ว ทำไมต้องเอาเซลล์ไปเจอลูกค้าอีก ให้เขาขายด้วย บริการด้วย”
@ไม่ชอบทำอะไรที่มีคนเป็นพระเอกอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าการริเริมลงทุนธุรกิจใหม่ของซีพียึดหลักอะไร? เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “ผมไม่ชอบทำอะไรที่มีคนเป็นพระเอกอยู่แล้ว เรามาสู้กันนี่ อาจจะตายทั้งคู่นะ ไม่ก็ตายคนหนึ่ง อีกคนเข้าไอซียูคนหนึ่ง หรือไม่ก็ทั้งคู่เข้าไอซียู ผมมีคน แล้วมีพลัง ผมจะเลือกธุรกิจที่ไม่มีใครทำ ของผมจะง่ายหน่อย ผมเคยพูดกับทีมงานของบริษัทฯ ให้ไปเลือกที่ไม่มีคู่ต่อย สะดุดขานับสิบ เราก็ยังเป็นแชมป์
ถ้าเราไปต่อยกับคนที่สำเร็จ ไม่แน่ว่าจะชนะเขา เพราะเขาชำนาญ แต่เราเพิ่งเข้ามาใหม่ ไปเปลืองเวลาทำไม แล้วเราเลือกแต่ของที่มีอนาคต ผมไม่ชอบทำอะไรที่ไม่มีอนาคต และต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประเทศชาติ ถึงจะทำ รวยอย่างไร ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน ผมมีที่เลือกเยอะ ทำไม ผมต้องไปทำ แล้วคนเข้าใจผมผิด เพราะผมไปได้ทั่วโลก ทำไมต้องมาสู้กันเมืองไทย
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าผมทำโรงพยาบาล ผมก็ไม่ได้สู้กับหมอประเสริฐ (ปราสาททองโอสถ เจ้าของบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS) ผมจะทำแบบใหม่ ถ้าไม่ทำแบบใหม่ ผมก็ไม่ทำ ผมจะทำให้หมอมีรายได้มากขึ้น สบายขึ้น และคนไข้จ่ายน้อยลง สบายด้วย ไม่ต้องเรียงคิวในโรงพยาบาล ต่อไปหมอก็ออนไลน์เลย คุยกันเลย มารอทำไมที่โรงพยาบาลทั้งวัน แล้วไปติดโรคเขามาอีก เดือดร้อนเขาอีก”
เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “ซีพีทำอะไรล่วงหน้าก่อนคนอื่นเสมอ ลองไปวิเคราะห์ดู เมื่อ 32 ปีก่อน เปิดร้านเซเว่นฯ ทุกคนหาว่าเราอยู่ไม่ได้แน่ เปิดแมคโคร ก็ไม่มีใครทำ เซเว่นฯไม่มี แมคโครไม่มี โลตัสไม่มี แล้วคนหาว่าผูกขาด ผมคิดเรียบร้อยแล้ว แมคโครฯค้าส่ง โลตัสค้าปลีก เซเว่นฯสะดวกซื้อ 3 ตัวไม่เหมือนกัน ผมสร้าง 3 ตัวนี้ ผมไม่ได้แย่งอาชีพใคร เพราะตอนที่ผมทำ ไม่มีใครทำ แล้วหลังต้มยำกุ้ง ขายแมคโคร ขายโลตัสไป แล้วซื้อกลับ”
“ตอนที่โลตัสจะขาย ผมถามว่าขายให้ผมไหม ถ้าเขาขายผมจะซื้อ แล้วยุคนี้ถ้าผมซื้อมา ผมจะให้เกษตรกรเอาสินค้าเกษตรมาขาย แต่เราต้องช่วยเขาก่อน ช่วยเขาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีปัญหา มีความสุขทั้งคู่”
@เสนอแนวคิดดึงคนเก่งทั่วโลกทำงานที่เมืองไทย
เจ้าสัวธนินท์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอในจดหมายถึงนายกฯที่ให้นำคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานที่เมืองไทยว่า “ลองคิดดูสิ คนไทยเรามิกซ์ (ประสมประสาน) กับประเทศไหนก็ได้ คนเยอรมันชอบอยู่เมืองไทย คนฮอลแลนด์ คนยุโรป ไม่เว้นแต่ประเทศอื่น ชอบมาอยู่เมืองไทย ติดใจ ญี่ปุ่นก็ชอบเมืองไทย จีนไม่ต้องพูดถึงเลย ชอบ รวมทั้งฮ่องกง สิงคโปร์ ชอบมาเที่ยวด้วยนะ
ถ้าเราเปิดว่าคุณมาทำงานในเมืองไทย แต่ต้องเป็นคนที่เราต้องการ เช่น พวกไฮเทค เป็นพวกที่เรายังไม่เก่ง ยังไม่พร้อม ถ้ามา 5 ล้านคน มาสร้างเศรษฐกิจให้เรา มาใช้ชีวิตในเมืองไทย รายจ่ายของเขากลายเป็น 50 ล้านคน หรือ 10 เท่าของนักท่องเที่ยว เขาเอาครอบครัวมาด้วย มาจ้างงานเราอีกด้วย มาเสียภาษีให้เราอีกด้วย”
เจ้าสัวธนินท์ ย้ำว่า “คุณรู้ไหม สิงคโปร์ 6 ล้านคน เป็นคนสิงคโปร์ 4 ล้านคน เป็นต่างประเทศ 2 ล้าน ให้มาทำงาน ให้กรีนการ์ดเป็นคนสิงคโปร์เลย แต่ไม่รวมพวกกรรมกรนะ พวกกรรมกรมากกว่านี้อีก พวกกรรมการมาแล้วก็ไป แต่พวกนี้มาอยู่ถาวร 2 ล้านคน ส่วนเราคน 70 ล้านคน ถ้าเอามา 5 ล้านคน จะเป็นไรไป ขนาดสิงคโปร์คนเขาเก่งอยู่แล้ว เขาเอามาตั้ง 2 ล้านคนที่เก่งกว่า ที่เขาต้องการ เพราะสร้างเองไม่ทันแล้ว ลูกก็เกิดน้อย รัฐบาลแถมเงินก็ไม่มีลูกมากขึ้น"
“ญี่ปุ่นก็เริ่มแล้วนะ เขาทำเงียบๆแล้วเจาะจง เช่น ถ้าคนที่มาจากเซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่นให้กรีนการ์ดทันที แต่ไม่ใช่เอาคนแก่ไปนะ คนแก่ พวกที่มีเงินไปซื้อบ้าน ไปซื้ออะไรไปเลย พวกหนุ่มๆสาวๆที่มาเรียน ถ้าบอกว่าเป็นคนเซี่ยงไฮ้ ญี่ปุ่นรับ เพราะญี่ปุ่นขาดคน เกิดน้อย คนกำลังหด กลายเป็นคนแก่ไปแล้ว เป็นประเทศคนแก่ไปแล้ว เขาไม่กลัว เขาเอาคนเก่งในโลกนี้มาใช้ เข้ามาเป็นคนญี่ปุ่น แต่เขาคัด เขาฉลาดมาก ได้คนเก่งอย่างนี้ไปมิกซ์ ต่อไปญี่ปุ่นจะยิ่งเก่ง เพราะเป็นไฮบริด”
(ธนินท์ เจียรวนนท์' ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์)
ส่วนที่อเมริกามีที่ไหนที่มีเชื้อชาติอเมริกา มีแต่สัญชาติอเมริกา อเมริกาถึงได้เก่งอย่างนี้ แต่เรายังเหนือกว่า เพราะเราคัดคนหัวกะทิกว่านี้อีกมา ที่เราคัดได้ เพราะเขาอยากอยู่เมืองไทย แล้วโอกาสในเมืองไทย คนตั้ง 3,000 กว่าล้านคน อนาคตโอกาสมหาศาล จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าเข้าใจหรือเปล่า
“ถ้าประเทศเจริญ เราก็เจริญไปด้วย ถ้าเราไม่เก่ง เราต้องโทษตัวเอง ไม่ใช่โทษว่า ให้คนเก่งเข้ามาทำให้ผมเสียหาย ต่อไปให้เขาเป็นคนไทยไปเลย…อย่างนโยบายบีโอไอ บีโอไอบอกว่าให้มา 8 ปีนะ มาชั่วคราวนะ ถ้ามาอยู่เมืองไทยให้สิทธิพิเศษ แต่ต่อไปด้อยสิทธิ ประชาชนชั้นรอง เขาจะรักเมืองไทยได้อย่างไร เพราะเมื่อเสร็จทุกอย่าง เขาก็รื้อทุกอย่างกลับบ้าน เอาทุกอย่างต้องเอากลับบ้าน เพราะเขารู้ว่าอีก 8 ปีอยู่ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นว่าคุณควบ 8 ปี ผมให้คุณเป็นคนไทยไปเลย ถ้าทำผลประโยชน์ อย่างนี้เรามีแต่จะได้คนเก่ง”
เจ้าสัวธนินท์ บอกว่า “ถ้าผมเป็นคนเห็นแก่ตัว ผมต้องต่อต้าน เพราะเขามาสู้กับผม คนเก่งมาสู้กับผม (ซีพี) ไม่ได้ไปสู่กับเกษตรกร แรงงาน คนเก่งๆเขามาสู้กับผม ลองวิเคราะห์ว่าใช่ไหม…ถ้าคนเก่งมาสะเทือนผมก่อนนะ เพราะผมใหญ่อยู่ในเมืองไทย เขาเก่ง เขามีเงิน เขามีตลาดด้วย แต่ผมไม่กลัว ถ้าเราสู้ไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ จ้างคนเก่งๆมาสู้กับเขา เราหาคนเก่งมาร่วมทุน มาช่วยเรา…ผมรับรองว่าคนเก่งๆมาเมืองไทยเยอะ แต่เราต้องคัดนะ คัดคนเก่งๆ แล้วมาสอนคนไทย คนไทยเก่งไปด้วยเลย”
อ่านประกอบ :
ธนินท์ เจียรวนนท์ : เลิกขายข้าวราคาถูกๆ หนุนผลไม้ดาวเด่น ‘ทุเรียน-มังคุด-มะม่วง’
ดึงทัวร์เศรษฐีโลกเที่ยวไทย! ‘เจ้าสัวธนินท์’ ชงไอเดีย-เชื่อเปิดเมือง 'โควิด' ไม่ระบาดรอบ 2
ธนินท์ เจียรวนนท์ : เกษตร 3ประโยชน์ 4 ประสาน จาก’หนองหว้า’ถึง’ผิงกู่’
นายกฯ ได้รับจม.ตอบกลับจากมหาเศรษฐีครบแล้ว - ชื่นชมช่วยบรรเทาความทุกข์คนไทย
ซีพี ช่วยแล้ว700ล.! ‘เจ้าสัวธนินท์’ ตอบกลับ ‘บิ๊กตู่’ แนะปลูกน้ำ-สร้างไทยศูนย์กลางศก.โลก
ธนินท์ เจียรวนนท์ : เราจะฟื้น..ผมเชื่อว่า เมืองไทยจะฟื้นได้เร็วที่สุด
‘เจ้าสัวธนินท์’ แนะรบ.กล้าใช้เงิน ‘พยุงธุรกิจ-อุ้มคนตกงาน’ กระทุ้งธปท.กด ‘บาทอ่อน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/