‘เจ้าสัวธนินท์’ แนะรัฐบาลต้องกล้าใช้เงิน พยุงธุรกิจไม่ให้ล้มละลาย ดูแลคนตกงานให้มีกำลังใช้จ่าย กระตุ้น ‘แบงก์ชาติ’ ดูแลเงินบาทให้ ‘อ่อนค่า’ หนุนส่งออกสินค้าไทยให้ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างเปิดตัวโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของกลุ่มซีพี ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้นั้น หากเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 แล้ว ส่วนตัวเห็นว่ามีความต่างกันมาก เพราะตอนนี้รัฐบาลมีกำลังพอที่จะเข้าไปดูแลเศรษฐกิจและธุรกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 41% ของจีดีพี และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
“วันนี้รัฐบาลเราสะสมเงินตราเกินตัว ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่เราเป็นหนี้เกินตัว ตอนนั้นเรามีเงินอยู่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีหนี้แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้เรามีหนี้น้อยมาก เรามีเงินสะสมอยู่ตั้ง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้อยู่เพียง 41% ของจีดีพี เทียบกับทั่วโลกเป็นหนี้กว่า 100% ต่อจีดีพี ทำให้ยามนี้ประเทศไทยได้เปรียบ ต้องชมเชยแบงก์ชาติที่ทำให้เราได้เปรียบ แต่เราต้องกล้าใช้ แม้กระทั่งกู้มาเป็น 100% ของจีดีพี ก็ต้องเอา” นายธนินท์กล่าว
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลมีเงิน ประเทศไทยมีเงิน ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศติดระดับท็อปๆของโลก แต่เรากลับนำทุนสำรองฯไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เอาเงินของเราไปให้คนสหรัฐที่ร่ำรวยกว่าไทยมาก โดยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่จ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.20% ต่อไป นอกจากนี้ ตนเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศอื่น เพื่อให้การส่งออกไทยแข่งขันได้
“ถ้าหากว่าเราทำให้ประเทศไทยมีการกู้เงินที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้คนอื่นกู้กว่า 100% ของจีดีพี แต่ของเรากู้ 40% ของจีดีพี บาทเราก็แข็ง การส่งออกก็มีปัญหาแล้ว เรากำไรไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่บาทเราแข็งกว่าคนอื่น 10% แล้วจะไปสู้อะไรได้ ตรงนี้คิดว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว แต่แบงก์ชาติยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่า เวลาเขารบกันว่า เงินตราต่างประเทศต้องอ่อน ไม่ใช่แข็ง ต้องเหมาะสม ถ้าคนอื่นอ่อน เราแข็ง ของก็ขายไม่ได้ เพราะเขาถูกกว่าเรา” นายธนินท์กล่าว
นายธนินท์ ยังระบุว่า ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเข้ามาช่วยพยุงภาคธุรกิจไม่ให้ล้มละลาย โดยเฉพาะการสนับสนุนสินเชื่อที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากนัก รวมทั้งต้องทำให้คนตกงานมีกำลังจับจ่ายใช้สอย เหมือนรัฐบาลอังกฤษที่จ่ายเงินให้นายจ้าง 80% เพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ และแม้ว่าการดำเนินมาตรการเหล่านี้จะทำให้รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรระยะ 10 ปี หรือ 20 ปีได้ ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยก็ถูกมาก
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องกระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆเตรียมพร้อม เช่น ก่อนที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมา เราต้องไปว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง เช่น ลงทุนปรับปรุงโรงแรม ลงทุนสวนสาธารณะ ซึ่งรัฐบาลต้องสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยถูกๆให้เขา เพื่อให้เขานำเงินไปลงปรับปรุงโรงแรมให้ทันสมัยขึ้น ทำให้สะอาดขึ้น และปกป้องการติดต่อของโรคโควิด-19 รวมถึงโรคติดต่ออื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐบาลต้องช่วยเต็มที่ 100% เพราะถ้าให้กู้ 80% แล้วอีก 20% จะไปหาที่ไหน
“หลังวิกฤตไปแล้ว เป็นโอกาสแน่นอน แต่ถ้าหลังวิกฤตแล้ว ยังไม่มีโอกาสอีก ผมคิดว่าโลกคงจะล้มละลายไปทั้งหมดแล้ว แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น วิกฤตเที่ยวนี้ แม้โรคโควิดจะเป็นวิกฤตระดับโลกไปแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยี และยาวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะเรื้อรัง” นายธนินท์กล่าว และว่า “ผมเจอวิกฤตมาหลายครั้งแล้ว ใครที่ในยามวิกฤตอยู่รอดได้ และเตรียมพร้อม หลังวิกฤตผ่านไปแล้ว ธุรกิจเขาจะโตก้าวกระโดดหลายเท่าเลย”
นายธนินท์ ย้ำว่า หากธุรกิจอยู่รอด มีการจ้างงาน รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษี ดังนั้น ในยามนี้รัฐต้องช่วยธุรกิจ เมื่อเมื่ออยู่รอดรัฐก็อยู่รอด
“อย่าไปเข้าใจผิดนะว่า นักธุรกิจไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจไม่ใช่ ภาษีของรัฐบาลมาจากไหน ถ้าเราไม่ส่งเสริมให้นักธุรกิจอยู่รอด การจ้างงานจะมีปัญหา ภาษีของรัฐก็จะมีปัญหา การบริการทุกอย่างจะมีปัญหา ความจริง คือ เราต้องช่วยกันในยามแบบนี้ อย่าไปเกี่ยงว่าเขาเป็นนายทุน เขาเป็นนักธุรกิจ อะไรที่ช่วยเขาก็ถือเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ให้เขาอยู่รอด อย่าให้พนักงานเขาตกงาน อย่าให้องค์กรเขาล้มละลายไป” นายธนินท์กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/