"...หลังวิกฤติแล้วเป็นโอกาสแน่นอน และถ้าหลังวิกฤติแล้วยังไม่มีโอกาสอีก โลกคงล้มละลายไปทั้งหมดแล้ว แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น วิกฤติเที่ยวนี้ แม้โรคโควิดจะเป็นวิกฤติระดับโลกแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีวันนี้ ยาวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะเรื้อรัง ถ้าแก้โรคอันนี้ได้เมื่อไหร่ เราจะฟื้น และผมเชื่อว่าเมืองไทยจะฟื้นได้เร็วที่สุด..."
หมายเหตุ : ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างการเปิดสายการผลิตโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของบริษัท ซีพี โซเชียลอิมแพคท์ ในเครือซีพี กำลังการผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งตั้งอยู่ใน ต.บางจาก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2563
@วิกฤติเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 รอบนี้ เทียบกับวิกฤติครั้งก่อนๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มีความต่างกันอย่างไร รุนแรงมากกว่าหรือไม่ และวิกฤติรอบนี้จะใช้เวลากี่ปีจึงจะฟื้นตัว
ผมว่าอย่างนี้ ส่วนตัวผมอาจจะผิดก็ได้ ผมกลับมองว่าวิกฤติเที่ยวนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่านๆมา เพราะอยู่ๆก็มีเรื่องโรคโควิดเข้ามา ทำให้คนต้องหยุดงาน ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ปิดร้านค้า ปิดภัตตาคาร ทำให้การท่องเที่ยวหายหมด
"รู้ไหมว่า การท่องเที่ยวปีหนึ่งเงินเข้าประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท รัฐบาลเก็บภาษีจากท่องเที่ยวและอื่นๆได้ประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ตรงนี้หายไปจากตลาดเลย โรงแรม ภัตตาคาร ทัวร์ ไกด์ ตกงานกันหมด ถ้าผมมีอำนาจในองค์กร ถ้าผมบริหารบริษัท อะไรที่เสียไปแล้ว ต้องกู้มาพยุงเรา เอาไว้ไม่ให้เสียหาย และเงินก้อนนี้รับรองว่าคืน แต่เราต้องเตรียมพร้อม ต้องสะสมพลังเอาไว้ไม่ให้เสียหาย แล้วพอมันฟื้นแล้ว จะเป็นโอกาสมหาศาล"
ผมเจอวิกฤติมาหลายครั้งแล้ว ใครที่ในยามวิกฤติอยู่รอด และเตรียมพร้อม หลังวิกฤติผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจและธุรกิจเขาจะโตก้าวกระโดดหลายเท่าเลย แต่ถ้าคนไหนไม่ได้เตรียมพร้อม เพียงแต่พออยู่รอด หรือถ้าคนไหนดูแลไม่ดี อาจจะล้มละลายไปเลย โดยวิกฤติเที่ยวนี้ ทุกอย่างไม่ได้ถูกทำลาย ไม่เหมือนวิกฤติคราวก่อนที่มีปัญหาอยู่แล้ว เหมือนคนกำลังป่วยอยู่แล้ว เศรษฐกิจมันป่วยอยู่แล้ว นักธุรกิจมีปัญหาอยู่แล้ว กู้เงินเกินตัว รัฐบาลใช้เงินงบประมาณเกินตัว
แต่วันนี้รัฐบาลเราสะสมเงินตราเกินตัว ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่เราเป็นหนี้เกินตัว เรามีเงินอยู่ 38,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีหนี้แสนกว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนวันนี้เรามีหนี้น้อยมาก เรามีเงินสะสมอยู่ตั้ง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้อยู่เพียง 41% ของจีดีพี แต่ทั่วโลกมีหนี้แล้วกว่า 100% ต่อจีดีพี ซึ่งยามนี้ประเทศไทยได้เปรียบ ต้องชมเชยแบงก์ชาติที่ทำให้วันนี้เราได้เปรียบ
"เราต้องกล้าใช้ แม้กระทั่งกู้มา 100% ของจีดีพี ก็ต้องเอา เพื่อให้นักธุรกิจไม่ล้มละลาย ทำให้คนตกงานยังมีกำลังจับจ่าย ซึ่งรัฐบาลก็จะได้ภาษีด้วย และต้องให้ทุกคนเตรียมพร้อมฝึกฝน หลังวิกฤตแล้วเป็นโอกาสแน่นอน และถ้าหลังวิกฤติแล้วยังไม่มีโอกาสอีก โลกคงล้มละลายไปทั้งหมดแล้ว แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น วิกฤติเที่ยวนี้ แม้โรคโควิดจะเป็นวิกฤตระดับโลกแล้ว แต่ด้วยเทคโนโลยีวันนี้ ยาวันนี้ ผมไม่เชื่อว่าจะเรื้อรัง ถ้าแก้โรคอันนี้ได้เมื่อไหร่ เราจะฟื้น"
และผมเชื่อว่าเมืองไทยจะฟื้นได้เร็วที่สุด ถ้าประชาชนเรามีวินัย เข้าใจ ปกป้องตัวเอง เท่ากับปกป้องประเทศไทย เราไม่เอาโรคไปติดให้คนอื่น หรือคนอื่นไม่เอาโรคมีติดเรา ซึ่งตรงนี้เป็นพลังมหาศาลของประชาชนที่จะช่วยประเทศชาติได้ ไม่ใช้ต้องเอาเงินมาช่วย หรือเอาหน้ากากมาช่วย
@เมื่อถามว่าการออกมาตรการของรัฐบาลมาช่วยเหลือภาคธุรกิจ แรงงาน รัฐบาลทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน และการเตรียมคนให้พร้อมจะได้เปรียบหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป ต้องทำอย่างไร
วันนี้รัฐบาลมีเงิน ประเทศไทยมีเงิน เราอยู่ในระดับท็อปๆของโลก รู้ไหมว่าเราไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐ เอาเงินไปให้คนอเมริกาที่ร่ำรวยกว่าเราเยอะแยะ ไปซื้อพันธบัตรเขาจ่ายดอกเบี้ย 0.20%
ถ้าหากว่าเราทำให้ประเทศไทยมีการกู้เงินที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้คนอื่นกู้กว่า 100% ของจีดีพี แต่ของเรากู้ 40% ของจีดีพี บาทเราก็แข็ง การส่งออกก็มีปัญหาแล้ว เรากำไรไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่บาทเราแข็งกว่าคนอื่น 10% แล้วจะไปสู้อะไร ตรงนี้คิดว่าส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว แต่แบงก์ชาติยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่า เวลาเขารบกันว่า เงินตราต่างประเทศต้องอ่อน ไม่ใช่แข็ง ต้องเหมาะสม ถ้าคนอื่นอ่อน เราแข็ง ของก็ขายไม่ได้ เพราะเขาถูกกว่าเรา แต่สินค้าเราแพง
"วันนี้รัฐบาลต้องทุ่มให้กับธุรกิจที่เสียภาษี ให้อยู่เพื่อสร้างงานอยู่ อย่างท่องเที่ยวอยู่ๆก็หายไป หายไป 100% อย่างรัฐบาลอังกฤษเขาช่วย 80% ให้พนักงานยังมีงานทำ ไม่ต้องมีพิธีรีตองเยอะ ทำให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย จ่ายเลย จ่ายให้เจ้าของโรงแรม แต่ห้ามไล่คนออก คนก็มีเงินจับจ่าย รัฐบาลก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานต่างๆก็เสียหาย รัฐบาลมีหนี้ได้จะออกพันธบัตรอายุ 10 ปี หรือ 20 ปีก็ได้ แล้วดอกเบี้ยก็ถูกด้วย เอาไปช่วยเขา ไม่ให้เขาล้มหายตายจากไป"
ส่วนหลังวิกฤติ รัฐบาลต้องทำให้เขาพร้อม แต่ก่อนที่การท่องเที่ยวกลับมา เราต้องไปดูว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้าง เช่น ลงทุน ลงทุนสวนสาธารณะ ซึ่งโรงแรมต้องกู้เงินดอกเบี้ยถูกๆให้เขาไปเปลี่ยนแปลงโรงแรมให้ทันสมัยขึ้น ทำให้สะอาดขึ้น ปกป้องการติดต่อของโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆจะมีมาในอนาคต ผมมองว่ารัฐบาลต้องช่วยเหลือเขาให้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าเขาต้องการ 100 แต่คุณเอาไปให้ 80 ซึ่งไม่พอ เพราะในยามนี้อีก 20 ไม่รู้จะกู้จากใคร และใครจะให้กู้
“ถ้าจะช่วยเขาจริงๆ ถ้าเขาต้องการ 100 ต้องช่วย 100 แล้วรับรองว่าเงินที่ช่วยไปจะได้คืนแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะออกพันธบัตร 10 ปี 20 ปี 30 ปี แล้วให้เขาช่วยผ่อนจะ 20 ปี หรือ 30 ปีก็ได้”
@เครือเจริญโภคภัณฑ์มีแนวทางดูแลพนักงานอย่างไร
เครือเจริญโภคภัณฑ์เราจะไม่ให้พนักงานออกไปแม้แต่หนึ่งคน คือ จะไม่ปลดพนักงาน และเราจะดูแลพนักงานของเราไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 อะไรที่เสี่ยง ต้องผ่านที่แออัด หรือต้องนั่งรถสาธารณะ ไม่มีรถส่วนตัวมา เราจะบอกให้เขาพักอยู่บ้านก่อน โดยบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้เหมือนเดิม ไม่ได้จ่ายน้อยลงจากเดิม ส่วนคนที่จำเป็นต้องออกมาทำงาน เราจะให้รถยนต์ไปรับ-ส่ง แต่มีข้อแม้ว่า หลังทำงานแล้วให้กลับบ้าน ห้ามไปเที่ยว ห้ามออกจากบ้าน
และต้องให้ไปดูแลว่า ลูกหลาน ภรรยาหรือสามี เสี่ยงหรือเปล่า ถ้าเสี่ยงก็ห้ามมาทำงาน ทำให้พนักงาน CPALL (บมจ. ซีพี ออลล์) หรือ เซเว่นอีเลฟเว่น 1.7 แสนคน มีคนติดโควิดแค่ 3 คน เพราะต้องสัมผัสลูกค้า โดยไม่ใครเสียชีวิต ส่วนแม็คโคร (ห้าง makro) เราก็ยังเปิด ซึ่งเรามีประสบการณ์ที่เมืองจีน คนของเรา 9 หมื่นคนในเมืองจีน เราไม่ปลดพนักงานและจ่ายเงินเดือนเต็ม ไม่ต้องมาทำงานก็จ่ายเงินเดือนเต็ม เพื่อรักษาคนของซีพี ก็เท่ากับรักษาพลังของบริษัท
“จริงๆแล้วมันคู่กัน เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด-19 แล้ว แต่หลังจากนั้น เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมตอนที่วิกฤติ ถ้าเราไล่คนออก ถ้าหลังวิกฤตแล้ว ซีพีจะทำอย่างไร เพราะหลังวิกฤติใครที่เตรียมพร้อมคนนั้นจะได้เปรียบ แต่ในช่วงนี้ต้องดูแลพนักงานของเราไม่ให้เสียหาย และปกป้องไว้ ในยามแบบนี้เรายอมขาดทุน”
ส่วนเซเว่นฯ กับ ซีพีเอฟ (บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) เราจะเพิ่มคน เซเว่นฯประกาศรับคนเพิ่ม 2 หมื่นคน เพื่อจะทำหน้าที่ส่งสินค้าไปถึงบ้าน ส่งฟรี ไม่คิดเงิน นี่เป็นหน้าที่ของเซเว่นฯในการดูแลลูกค้าประจำที่ไม่ออกมา เก็บตัวอยู่ในบ้าน เซเว่นฯ มีหน้าที่ต้องไปบริการเขา และเซเว่นฯยังจะผลิตข้าวกล่องออกมาขายกล่องละ 20 บาท เพราะในยามวิกฤติต้องช่วยกัน ซีพีเอฟก็เหมือนกันจะลดราคาให้แม่ค้าหาบเร่ ไปขายถูกให้กับประชาชน คนที่ตกงาน อย่างน้อยต้องมีข้าวกิน
“นี่เป็นหน้าที่ของซีพีว่า คือ ไม่ปลดคนออก หลังจากพ้นวิกฤตแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำอะไร วันนี้ต้องเตรียมพร้อมอะไร รวมทั้งผู้นำ หน่วยวิจัยทุกหน่วยงานต้องทำงานอะไร แม้ว่าจะอยู่บ้านก็ต้องทำงาน โดยคุยกันผ่านทางไกลบ่อยขึ้น เรามีประสบการณ์ที่เมืองอู่ฮั่น (ประเทศจีน) เรามีคนป่วย 13 คน และรักษาหายหมดแล้ว ส่วนที่อื่นเราไม่มีเลย เพราะเมื่อมีวิกฤตมากเราต้องปกป้องอย่างดี”
@มีข้อแนะนำสำหรับองค์กรใหญ่อย่างไรบ้างในการช่วยเหลือสังคม
ผมคิดว่าองค์กรต่างๆ ไม่ต้องบริจาคก็ได้ แต่เรื่องแรกต้องช่วยพนักงานให้อยู่รอดก่อน อย่าปลดพนักงาน และต้องมาคิดว่า หลังวิกฤติจะทำอะไร มืดแล้วต้องมีสว่าง มีวิกฤติก็ต้องมีโอกาส แต่ต้องเตรียมพร้อม เตรียมคน เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุค 4.0 ผมว่าอาจไม่จำเป็นต้องเอาเงินมาบริจาคก็ได้ แต่สำคัญ คือ รักษาไม่ให้คนของบริษัทตกงาน และสร้างให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น
อย่างเช่น กรณีภัตตาคาร พนักงานของคุณมีอยู่ ครัวของคุณมีอยู่ ถ้าไม่ปิดคนก็ไม่มากิน หรือกินน้อยมาก เพราะกลัวติดโรค แต่ลูกค้ายังมีอยู่นะ ทำไมไม่ผลิตแล้วส่งไปให้ลูกค้าถึงบ้าน อย่าไปพนักงานออก แต่ให้เอาพนักงานไปส่งอาหารถึงบ้านลูกค้า และในเมื่อคุณมีลูกค้าประจำ ก็ให้สอบถามไปว่าต้องการอะไรอีกหรือไม่ แล้วผมจะซื้อและส่งมาให้คุณอีก ซึ่งหลังจากพ้นวิกฤตไปแล้ว ลูกค้าเหล่านี้ต้องประทับใจ เพราะเรามีน้ำใจ เขาก็มาอุดหนุนเรา
“ทำไมต้องปิด ครัวก็มีอยู่ไม่ต้องลงทุน คนก็มีอยู่ คนกุ๊กก็มีอยู่ ไม่ต้องปลดคนออก เอาพนักงานไปส่งอาหารให้ถึงบ้านเลย เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้ ในยามวิกฤตพวกค้าปลีก พวกค้าอาหารจะเสียหายน้อยสุด และถ้าทำดีๆยอดขายจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก แต่บางธุรกิจ แน่นอนว่ารัฐบาลต้องช่วยเหลือ อย่างโรงแรมมีปัญหา หนี้ก็ตึง เงินก็ต้องจ่ายพนักงานทุกวัน ไม่รู้ว่าลูกค้าจะกลับมาเมื่อไหร่ กลุ่มนี้รัฐต้องช่วยเขา เมื่อเขาอยู่รอด รัฐก็อยู่รอด มีการจ้างงาน มีการเสียภาษีให้รัฐ"
อย่าไปเข้าใจผิดนะว่า นักธุรกิจไม่เกี่ยวกับรัฐบาล หรือเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจไม่ใช่ ภาษีของรัฐบาลมาจากไหน ถ้าเราไม่ส่งเสริมให้นักธุรกิจอยู่รอด การจ้างงานจะมีปัญหา ภาษีของรัฐก็จะมีปัญหา การบริการทุกอย่างจะมีปัญหา ความจริงต้องช่วยกันในยามแบบนี้ อย่าไปเกี่ยงว่าเขาเป็นนายทุน เขาเป็นนักธุรกิจ อะไรที่ช่วยเขาก็ถือเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ให้เขาอยู่รอด อย่าให้พนักงานเขาตกงาน อย่าให้เขาล้มละลายไป
ธนินท์ เจียรวนนท์ เปิดตัวโรงงานหน้ากากอนามัยของเครือซีพี ซึ่งตั้งอยู่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2563
แต่ถ้าบริษัทเขาไม่แข็งแรง ไม่ดี ก็ปล่อยให้ล้มไป ไม่เป็นไร แต่ถ้าเขาอยู่ดี แต่จู่ๆคนไม่มาเที่ยวแล้วจะไปโทษใคร จะบอกว่าเขาบริหารไม่ดี ก็ไม่ใช่ เพราะโควิด-19 มา ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยเขา 100% เพราะเท่ากับเป็นการช่วยเหลือประเทศและรัฐบาลไปด้วย และจริงๆแล้วก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปช่วยเขา ถ้ารัฐบาลหมดกำลังก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ รัฐบาลมีกำลังมหาศาล ผมอยากฝากสื่อ เราเหนือกว่าหลายๆประเทศ
“ถ้าเมืองไทยบอกว่าเอื้อประโยชน์ให้บริษัท แต่ถ้าไปดูอเมริกา แบงก์ชาติอเมริกาช่วยเอกชน 95% และอีก 5% แบงก์ช่วย รวมเป็น 100% เลย ช่วยตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทจิ๋วสุด แล้วอย่างนี้จะมีอะไรที่เรียกว่ากลไกตลาดอีก ดังนั้น วิกฤติวันนี้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ไม่ต้องมีกลไกอะไรแล้ว อเมริกามีกลไกตลาดที่ไหน”
ตอนนี้ให้มีกำลังเหมือนผมนะ ผมมีกำลังใจมากเลย มืดที่สุดมันก็จะสว่าง ไม่มีวันมืดไปตลอดหรอก แล้วตอนสว่างเราจะทำอะไร เราต้องทำวันนี้ วันนี้ต้องเตรียม ตอนที่สว่าง ตอนที่ราบรื่นที่สุด เราต้องคิดว่าแล้วถ้าวิกฤตมา มืดลงมา แล้วเราเสียหาย เราจะปกป้องอย่างไร
ผมบอกว่า ผมดีใจวันหนึ่ง แต่ ปีเตอร์ หม่า ประธาน ‘ผิงอัน’ บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งบริษัทเดียวกำไรเท่ากับ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ อาลีบาบา หัวเหว่ย และเทนเซ็นต์ เขาพูดว่า เขามีพนักงาน 1.8 ล้านคน เขาบอกว่าต้องเตรียมพร้อมรับวิกฤตทุกวัน
ผมบอกว่า ผมดีใจวันหนึ่ง แต่เขาบอกว่าไม่มีวันดีใจ เพราะทุกวันอาจจะมีวิกฤตมาได้ อย่างโควิด-19 ถามว่าใครคิดถึงบ้าง และวิกฤติมาแล้ว ถ้าเราเตรียมพร้อมไว้ ก็ไม่เสียหาย ถ้าเสียหายก็เบา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/