"...การปลูกหญ้ายาในป่าต้นน้ำน่าน ทั้งดินดี น้ำบริสุทธิ์ จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย “สรรพยา” ที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นแหล่งต้นกำเนิดของ “หญ้ายา” นอกจากนี้ จังหวัดน่านยังมีตำรับยาโบราณที่จารึกไว้ในสมุดใบลาน ซึ่งระบุถึงการใช้พืชมาทำยาของคนในอดีตและเป็นข้อมูลตั้งต้นเรื่องการนำพืชที่ถูกพูดถึงในบันทึกมาสืบค้นและพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน..."
การกำหนดสัดส่วนป่าน่านตามสูตร 72:18:10 คือ ต้องรักษาพื้นที่ป่า 72% ไว้ให้ได้ และถูกบรรจุไว้ใน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” แต่สำหรับพื้นที่ 18% ที่จะจัดสรรให้ชาวบ้านเพื่อใช้ในการทำมาหากินนั้น ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่อย่างน้อย 100 ต้น ในพื้นที่ 1 ไร่ หมายถึงจะมีพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถปลูกพืชทำมาหากินได้ 1,200 ตารางเมตร ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดคือ จะเป็นพืชชนิดไหนที่สามารถเติบโตได้ภายในร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ และต้องเป็นพืชที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้พอเพียง เพราะพื้นที่บริเวณนั้นคงจะไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เท่ากับพื้นที่ราบ
ภายหลังจากที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ (คุณปั้น) รองประธานมูลนิธิรักษ์ป่าน่านและทีมงานได้ศึกษาถึงพืชที่จะตอบโจทย์ข้างต้น จนค้นพบว่า “หญ้ายา” พืชที่สกัดมาเป็นยาน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ทั้งนี้ หญ้ายาอาจเป็นพืชที่พวกเราไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับชาวจีน หญ้ายาหรือเย่าเฉา (藥草 - Yaocao) แปลว่าหญ้าที่มีฤทธิ์ทางยา และทางตะวันตกคือ พืชที่มีสรรพคุณทางยา ฝรั่งจะเรียกว่า Medicinal Grass
หญ้ายาคือการนำพืชที่อยู่ในกลุ่มสรรพยาไปเข้ากระบวนการสกัด เพื่อเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัดออกฤทธิ์มาทำเป็นยาสมัยใหม่ โดยมีรากฐานมาจากตำรับยาโบราณที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี
โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้าไปใช้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การระบุชนิดของพืชที่ใช้ในตำรา การหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพืชนั้น ๆ เทคนิคการปลูก การศึกษาวิจัย และการนำพืชไป
สกัดสารที่มีฤทธิ์ในการรักษาโรคออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปทำยาจากพืชที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย บนมาตรฐานการพัฒนาและการผลิตที่เทียบเท่ายาจากการสังเคราะห์สารเคมี [1]
ดังนั้น หญ้ายาไม่ใช่พืชแปลกใหม่ ตั้งต้นจากพืชสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน หรือขิง แต่ทำให้เป็นยาที่มีสรรพคุณอย่างแท้จริง เพื่อให้รับรู้ว่ามีการสกัดออกมาเป็นตัวยาในปริมาณเท่าไหร่ แพทย์จะได้สั่งยาได้อย่างถูกต้อง คนไข้รับรู้ว่าต้องรับประทานกี่เม็ด ไม่ใช่ทานเป็นกำมือและซดดื่มกันเป็นถ้วย ๆ
การปลูกหญ้ายาในป่าต้นน้ำน่าน ทั้งดินดี น้ำบริสุทธิ์ จึงเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย “สรรพยา” ที่เหมาะสมที่สุดในการเป็นแหล่งต้นกำเนิดของ “หญ้ายา” นอกจากนี้ จังหวัดน่านยังมีตำรับยาโบราณที่จารึกไว้ในสมุดใบลาน ซึ่งระบุถึงการใช้พืชมาทำยาของคนในอดีตและเป็นข้อมูลตั้งต้นเรื่องการนำพืชที่ถูกพูดถึงในบันทึกมาสืบค้นและพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
หญ้ายาเป็นการนำพืชมาสกัดเป็นตัวยาอย่างเป็นมาตรฐาน แต่ก่อนเรานำพืชสมุนไพรมาต้มหรือดองเหล้าเพื่อให้สารออกมาอยู่ในน้ำแล้วดื่ม บ่มหรือตากให้แห้งก่อนบดเป็นผงแล้วทาน เพื่อให้ดูดซึมเข้าไปในร่างกาย โดยไม่ได้ศึกษาวิจัยให้ชัดเจนว่าสามารถสกัดตัวยาที่อยู่ในพืชนั้นได้มากน้อยแค่ไหน เรียกว่า ระดมทั้งเภสัชกรรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ และแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาร่วมในการพัฒนาการสกัด สูตรยา ไปจนถึงการวิจัยทดลองทางคลินิกในคนไข้จริง ที่ไม่ใช่เพียงปูทางสู่ตำแหน่งทางวิชาการ แต่เป็นการค้นหาพืชเชิงพาณิชย์ที่สามารถสกัดเป็นยาที่ “ทันสมัย” มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าสมุนไพรทั่วไป
คุณปั้นยอมรับว่า งานวิจัยนี้ยังคงต้องใช้เวลา แต่ได้เริ่มทดลองปลูกหญ้ายาในแปลงสาธิต 35 แปลงบนเขา สร้างโรงแปรรูปพืชยาที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นแห่งแรกในจังหวัดน่าน คาดว่าจะสามารถนำ “หญ้ายา” ชนิดแรกออกใช้เพื่อการรักษาโรคได้ภายในกลางปีหน้า เพื่อเป็นทางออกสำคัญในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของสรรพยา
ที่ได้จากพืชในป่าต้นน้ำน่าน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะสามารถจัดสรรพื้นที่ป่า และทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่เกษตรเป็นของตนเอง พร้อมนำหญ้ายามาเป็นพืชเชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์แล้วก็ตาม แต่เมื่อได้สัมผัสกับชาวบ้านแบบใกล้ชิดพบว่า จำเป็นต้องยื่นมือเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงใจ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พร้อมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ซึ่งคำตอบมาจากเหตุการณ์ที่คุณปั้นต้องเข้ารักษาตัวที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลประจำจังหวัดน่านพบว่า มีสภาพทรุดโทรม นอกจากจะลุ้นอาการป่วยของตนเองแล้ว ยังคอยลุ้นว่าอุปกรณ์จะใช้งานได้ไหม ในขณะที่มีคนไข้รอคอยการรักษาเป็นจำนวนมาก ทำให้คิดได้ว่า การจะตอบโจทย์“รักษ์ป่าน่าน” คือ การดูแลชาวน่านในด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา เป็นการ “ปลูกไมตรี” ที่ยั่งยืนขนานแท้
คุณปั้นตัดสินใจเข้าไปเยี่ยมสถานบริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่จังหวัดน่านทั้ง 15 อำเภอ 99 ตำบล พบว่า สถานพยาบาลส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม หลังคารั่ว น้ำไม่ไหล
จึงได้จัดการซ่อมแซม พร้อมมอบอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษาคนไข้เบื้องต้นให้ และที่สำคัญสร้างอาคารที่พักของแพทย์ให้ใหม่เพื่อให้แพทย์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และกลับมาดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ได้เสนอตัวเป็นผู้อุปถัมภ์โรงพยาบาลน่าน ร่วมก่อสร้างตึกอุบัติเหตุ ตึกรังสี พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุดในล้านนามูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท[2] นำแนวคิดออกแบบภายในใหม่ เพื่อช่วยให้การดูแลรักษาคนไข้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ภายในห้องไอซียูจัดทำพื้นที่ตรงกลางเพื่อให้หมอและพยาบาลดูแลผู้ป่วยได้ใกล้ชิดขึ้น หรือแม้แต่สีในแต่ละห้องเป็นโทนช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของคนไข้ เรียกได้ว่า เมื่อเดินเข้าไปคิดว่าเป็นโรงพยาบาลเอกชน ทำให้โรงพยาบาลรัฐบาลหลายแห่งต้องมาขอดูงานเพื่อถอดแบบนำไปปรับปรุงบ้าง
การปลูกไมตรีอีกด้านที่สำคัญไม่แพ้ด้านสาธารณสุขคือ การให้การศึกษาที่จะช่วยให้เด็กน่านเติบโตอย่างมีคุณภาพและตอบโจทย์รักษ์ป่าน่านอย่างยั่งยืนนั้น เด็กน่านต้อง “คิดเป็น” มูลนิธิรักษ์ป่าน่านจึงร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สร้างหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกภายในบริเวณที่เคยเป็นศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เพื่อเป็น “ต้นแบบพื้นที่ในการยกระดับองค์ความรู้” และส่งเสริมให้เด็กพัฒนาการเรียนรู้ในระบบการศึกษาปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Research-based Learning: RBL สานต่อภูมิปัญญาสู่เด็กและเยาวชน[3]
เป็นเสมือน software ของศูนย์เรียนรู้ฯ และมีแนวคิดจัดหลักสูตรนอกห้องเรียนให้เด็กและเยาวชนเข้าแคมป์ในช่วงปิดเทอม เป็นหลักสูตร “เพาะพันธุ์ปัญญาตักศิลาแห่งล้านนาตะวันออก” เน้นพัฒนาระบบความคิดของเยาวชนจากการให้ปฏิบัติในสถานการณ์หรือปรากฏการณ์แห่งความเป็นจริง นำเยาวชนไปสู่การพัฒนาฐานองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถบูรณาการข้ามศาสตร์ได้ด้วยตนเอง เพิ่มทักษะทั้งทางปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีตรรกะ ถือเป็นการสร้าง “ฐานคิด ฐานทำ” ให้กับเยาวชน เบื้องต้นจะจัด 4 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรด้านภาษา
ทั้งภาษาล้านนา ภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ 2. หลักสูตรด้านดนตรี มีตั้งแต่ดนตรีไทย ดนตรีสากล ดนตรีพื้นเมือง ไปจนถึงดนตรีสุนทราภรณ์ 3. หลักสูตรการทำมาหากิน เป็นเจ้าสัวน้อย
ในอนาคตและ 4. หลักสูตรพลเมืองสร้างสรรค์สังคม เพื่อให้เป็นเยาวชนมีจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งคาดว่า หอศิลปวัฒนธรรมและศูนย์เรียนรู้เมืองน่านแห่งนี้จะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2569
นอกจากนั้น เพื่อช่วยให้ชาวน่านหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว คุณปั้นและทีมงานได้ไปสืบเสาะค้นหารถแลนด์โรเวอร์ เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน
ไปยังพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัจจุบันถูกปลดระวาง มีปรากฏให้เห็นไม่กี่คัน จนในที่สุดไปพบรถคันหนึ่งจอดอยู่ใต้ถุนบ้านของเกษตรกรชาวยโสธรที่จอดอยู่เฉย ๆ แต่มีคุณค่าทางจิตใจ จึงได้ขอซื้อต่อ
มาปรับแต่ง พร้อมนำมาตั้งแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมฯ เพื่อเป็นการสื่อเชิงสัญลักษณ์น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และเป็นเครื่องเตือนใจชาวน่านให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าน่านสืบต่อไป
คุณปั้นได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “จังหวัดน่านเหมือนถูกฟ้าประทาน มีเทพเทวดาที่คอยกำกับอยู่ข้างบนทำให้สามารถทดลองแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและถูกจุด โดยที่ไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวมากนัก เพราะเป็นจังหวัดที่ไม่มีอำนาจต่อรอง โดยที่ระบบรัฐมีข้อจำกัด ในขณะที่ชาวบ้านและรัฐมักมีคำตอบที่แตกต่างกัน จนวันนี้เรามีข้อมูลที่แต่ก่อนไม่มีใครสนใจ และตอนจบหวังว่า จะเป็นแบบอย่างในการตอบโจทย์ประเทศในระยะยาวต่อไป”
อ่านเพิ่มเติม :
ความหวังของป่าต้นน้ำน่าน (ตอน 2)
แหล่งที่มา:
[1] ภูษิต เรืองอุดมกิจ, หญ้ายา (YAYA) จากสรรพยาในป่าน่านของไทย สู่ยามาตรฐานสากลในระดับโลก Beartai, 30 มกราคม 2566 https://www.beartai.com/life/health/1203555
[2] ไชยรัตน์ รัตสิมวงศ์, มูลนิธิรักษ์ป่าน่านสนับสนุนช่วยเหลือสาธารณสุขจังหวัดน่านแล้วกว่า 311 ล้านบาท
ไม่รวมค่าก่อสร้างโรงพยาบาลน่านกว่าพันล้านบาท, 77 ข่าวเด็ด, 24 กรกฎาคม 2022 https://www.77kaoded.com/news/chairat/2315849
[3] Web ข่าวรัฐบาลไทย 14 กันยายน 2566 https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/72213
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ ทีมงานภายใต้มูลนิธิรักษ์ป่าน่านประกอบด้วย ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา คุณอนันต์ ลาภสุขสถิต ประธานสถาบัน K Agro Innovate และคุณพรชัย ยงนพกุล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ดูแลด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง ที่สนับสนุนข้อมูลในการเขียน weekly mail ฉบับนี้