"...ในทางภูมิประเทศ น่านตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของภาคเหนือ มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา สมัยก่อนมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าร้อยละ 85 ปกคลุมไปด้วยพื้นที่สีเขียว มีอาณาบริเวณใหญ่เทียบเท่าจังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่เป็นอันดับที่ 13 แต่มีประชากรอาศัยอยู่ไม่ถึง 5 แสนคน จึงเป็นเมืองที่ประชากรอาศัยหนาแน่นน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 75 จาก 76 จังหวัดของประเทศ..."
สวัสดีครับ
ผมวางแผนหลังเกษียณที่จะขับรถสัญจรทั่วไทย แอ่วเหนือ ล่องใต้ เที่ยวอีสาน เรียกว่าขับไปเรื่อย ๆ ค่ำไหนนอนนั่น แต่ยังไม่ถึงวันนั้น กลับได้ไปเยือนจังหวัดน่านก่อนกำหนด จากการเชิญชวนของมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน น่านถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่ผมตั้งใจจะไปเยือนสักครั้ง เพราะได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แถมเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำน่านที่มวลน้ำกว่าร้อยละ 40 มาบรรจบกับแม่น้ำปิง วัง และยม กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสายหลักสำคัญของประเทศ
ประวัติศาสตร์น่านปรากฏขึ้นในราว พ.ศ. 1825 ภายใต้การนำของพญาภูคา ด้วยชาวน่านเป็นคนรักสงบใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย จึงเป็นรัฐอิสระอยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี พ.ศ. 1993 เจ้านครเชียงใหม่ได้เข้ามายึดเมืองน่าน จนถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนา และตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปี เมืองน่านถูกซึมซับเอาศิลปะวัฒนธรรมของล้านนามาไว้ในวิถีชีวิต ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า และกลายเป็นเมืองร้างไร้ผู้คนถึง 2 ครา1/
อย่างไรก็ดี เมื่ออิทธิพลของพม่าสิ้นสุดลงในช่วงยุคสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้าครองนครจึงขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา และเมืองน่านได้กลายเป็นหัวเมืองประเทศราช โดยเจ้าผู้ครองนครช่วงต่อมาทุกพระองค์ต่างปฏิบัติราชการและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี โดยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มีเจ้าผู้ครองนครถึง 64 พระองค์
ในทางภูมิประเทศ น่านตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของภาคเหนือ มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา สมัยก่อนมีป่าที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าร้อยละ 85 ปกคลุมไปด้วยพื้นที่สีเขียว มีอาณาบริเวณใหญ่เทียบเท่าจังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่เป็นอันดับที่ 13 แต่มีประชากรอาศัยอยู่ไม่ถึง 5 แสนคน จึงเป็นเมืองที่ประชากรอาศัยหนาแน่นน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 75 จาก 76 จังหวัดของประเทศ (แม่ฮ่องสอนถือเป็นจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นน้อยที่สุด)
น่านมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งวัดวาอาราม และกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านนา แต่ที่ชื่นชอบที่สุดคงหนีไม่พ้นสายเที่ยวธรรมชาติ จากความงดงามและความอุดมทางธรรมชาติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับน่านคือการบุกรุกทำลายป่า จนภูเขาหลายลูกกลายเป็นภูเขาหัวโล้นในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วย่อมทำให้เสน่ห์เมืองน่านจางหายไปในชั่วพริบตา และที่สำคัญคือผลกระทบเชิงระบบนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของประเทศจากระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
ภูเขาหัวโล้นของน่าน ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากประชากรไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง จากการประกาศให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 (ปัจจุบันมีถึง 7 แห่ง) ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านเหล่านั้นต่างอาศัยและใช้พื้นที่เป็นที่เพาะปลูกเกษตรกรรมมาหลายช่วงอายุคน ใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด กว่าศตวรรษ แต่อยู่ดี ๆ พวกเขากลับถูกป่าสงวนครอบพื้นที่ไป คุณฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย กล่าวว่า “ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างลำบาก เกิดมาปุ๊บต้องอยู่ในพื้นที่ที่ผิดกฎหมายเรียกว่า ลงบันไดมาก็ผิดกฎหมายแล้วจะทำอะไรต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่อุทยานก่อน”
ปัญหาต่อมาคือกระแสทุนนิยม ที่อยากได้ผลผลิตพืชไร่ทำให้ในที่สุด สังคมเกษตรน่านก็หนีไม่พ้นถูกลากเข้าสู่วังวนระบบทุนนิยม2/ คุณสำรวย ผัดผล ประธานกรรมการมูลนิธิฮักเมืองน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า เกษตรกรถูกชักชวนให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว และมีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่ำ แต่ด้วยระบบทุนนิยมที่สร้างตลาดรองรับ ผนวกกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเกษตร ตั้งแต่ระบบสีขัด เครื่องหยอด เครื่องฉีดพ่นย่า ใส่ปุ๋ย ในขณะที่ภาครัฐมีเงื่อนไขนโยบายจำนำ ชดเชย ประกันราคา ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดยง่ายหากปลูกข้าวโพด ทำให้เกษตรกรรู้สึกมั่นคง เป็นทางออกในการดำรงชีวิต อยากใช้พื้นที่ป่าในการเพาะปลูก จึงตัดสินใจถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง บางครอบครัวตัดป่าครอบครองพื้นที่จนภูเขาโล้นเป็นลูก ๆ ตั้งแต่ตีนดอยไปจนถึงยอดดอย เรียกว่าภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี พื้นที่ป่าถูกทำลายไปกว่าร้อยละ 28 หรือกว่า 1.8 ล้านไร่ จนมีสภาพเป็นเขาหัวโล้นดังที่ปรากฏเป็นข่าว
ป่าน่านที่เคยอดุมสมบูรณ์
ป่าน่านในวันนี้
เปิดคลิปดูสารคดี “ปัญหาน่านปัญหาชาติ”
พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าคณะอำเภอสันติสุขกิตติมศักดิ์ กล่าวว่า ในสมัยก่อนป่าเต็มไปด้วยสัตว์ป่า พืชป่านานาชนิดไม่ว่า ผัก อาหาร ผลไม้ป่า ขนุนป่า แม้กระทั่งสับปะรดป่า ป่าอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ แต่ปัจจุบัน กลับกลายเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้าวโพด แถมช่วงต้นปีก็เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 จากการเผาใบอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อสะดวกในการตัดและลดต้นทุนค่าจ้างตัด ในขณะที่หน้าฝนน้ำหลากเพราะไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยพยุงไว้ ไม่ต้องกล่าวถึงช่วงหน้าร้อนที่เริ่มแล้งไม่มีน้ำให้ใช้ ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำน่าน
ปัญหาของน่านมีความสลับซับซ้อน ต้องมีการปฏิรูป มูลนิธิรักษ์ป่าน่านมีแนวคิดที่จะตอบโจทย์อย่างบูรณาการและยั่งยืนอย่างไร เรามาติดตามกันในสัปดาห์หน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
5 สิงหาคม 2567
แหล่งที่มา:
1/ วิกิพีเดีย จังหวัดน่าน https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99
2/ ปัญหาน่านปัญหาชาติ จัดทำโดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน