"...ด้วยประชากรต้องอาศัยพื้นที่ป่าทำมาหากิน ไม่ค่อยมีพื้นที่ราบในการทำการเกษตร ดังนั้น เมื่อนายทุนชักจูงให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นทางออกง่าย ๆ ที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ แถมมีนโยบายรับประกันราคา เรียกว่า ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงตัดสินใจถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง และแทนที่เจ้าหน้าที่จะรีบตัดไฟแต่ต้นลม กลับปล่อยให้เกษตรกรแผ้วถาง เผาป่าจนเขาโล้นเป็นลูก ๆ ปีหนึ่งหายไปกว่าหมื่นไร่..."
สวัสดีครับ
ปัญหาป่าน่านที่ถูกทำลายไปมากกว่าร้อยละ 28 ของพื้นที่ป่าหรือเท่ากับ 1.8 ล้านไร่ จนมีสภาพหัวโล้น เป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน คำตอบคงไม่ใช่แค่ปลูกกาแฟหรือสตรอว์เบอร์รีทดแทนการปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง พร้อมนำต้นกล้าไม้ใหญ่มาเติมเต็มตรงพื้นที่หัวโล้น เหมือนอาการผักชีโรยหน้า แต่งหน้าแต่งตาเป็นพระเอกลิเก เพราะหากวิเคราะห์ถึงปัญหาของน่านอย่างถ่องแท้ จะพบว่า จังหวัดน่านเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทิศเหนือไกลสุดด้านตะวันออก เรียกว่าหลายคนต้องคลำหาจากแผนที่ เพราะเป็นจังหวัดที่นึกภาพไม่ออกว่าจะเดินทางไปอย่างไร รถไฟไปไม่ถึง ทางรถยนต์ขับไม่สบาย ต้องจ้องมองเส้นทางตลอดแบบเผลอไม่ได้ โชคดีที่มีสนามบินอยู่ใจกลางเมือง จากช่วงที่สร้างในสมัยต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่มีเที่ยวบินจากกรุงเทพเพียงวันละ 2 เที่ยว ที่สำคัญได้รับการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางน้อยมาก จากจำนวนประชากรที่เบาบาง แต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่แบบเขาวงกต ไม่ต้องเล่นปิดตาซ่อนผ้าก็แทบหากันไม่เจอเพราะอยู่ห่างกันเป็นลี้ ๆ เรียกว่าเป็นจังหวัดที่มักจะถูกมองข้ามไป จัดอยู่ปลายแถวในแผนยุทธศาสตร์ของชาติ
ด้วยประชากรต้องอาศัยพื้นที่ป่าทำมาหากิน ไม่ค่อยมีพื้นที่ราบในการทำการเกษตร ดังนั้น เมื่อนายทุนชักจูงให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงเป็นทางออกง่าย ๆ ที่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ แถมมีนโยบายรับประกันราคา เรียกว่า ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง จึงตัดสินใจถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง และแทนที่เจ้าหน้าที่จะรีบตัดไฟแต่ต้นลม กลับปล่อยให้เกษตรกรแผ้วถาง เผาป่าจนเขาโล้นเป็นลูก ๆ ปีหนึ่งหายไปกว่าหมื่นไร่ จนถึงเมื่อปี 2550 มีภาพถ่ายดาวเทียมปรากฏให้เห็นสภาพพื้นที่ป่าของจังหวัดน่าน โดยน่านได้รับกิตติศัพท์เป็น “ภูเขาหัวโล้น” และเมื่อมาถึงจุดนี้ถือว่าสายเกินที่ภาครัฐจะเข้าไปดำเนินการ เรียกว่า นำหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาบังคับใช้ไม่ได้ วังวนกับโจทย์เพราะเกษตรกรจะถามว่า ถ้าไม่ให้ปลูกข้าวโพดจะให้ทำอย่างไร ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำตามกฎหมาย ได้แต่เพียงข่มขู่ชาวบ้านว่าบุกรุกอุทยานแห่งชาติแต่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เรียกว่า นำทุกศาสตร์ตั้งแต่นิเวศศาสตร์ อุทกศาสตร์ เกษตรศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ ไปจนถึงมโนศาสตร์ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาป่าน่านได้ ปล่อยแบบตามมีตามเกิด แก้ไขกันมาร่วมทศวรรษยังหาคำตอบไม่เจอ เป็นไปตามปรากฏการณ์ที่เจมส์ ซี สก็อตต์ (James C. Scott) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนหนังสือ “Weapons of the Weak” สรุปไว้ว่า มนุษย์จะต่อสู้แบบเข้าตาจน แม้ไม่มีทางสู้และไม่มีอำนาจต่อรอง แต่หากรัฐดื้อดึงดำเนินการให้เป็นตามกฎเกณฑ์ ทุกคนจะพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับกรณีน่าน หากไม่มีหนทางแก้ไขที่ตอบโจทย์ร่วมกัน แม่น้ำน่านจะเหือดแห้งไปพร้อมกับชาวบ้าน
คนส่วนใหญ่พากันสิ้นหวัง แต่เหนือทุกสิ่งที่ทุกคนไม่คาดฝันคือปรากฎการณ์ “ฟ้าประทาน” เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนเมืองน่าน ทรงนึกรักเมืองนี้ทันทีเมื่อพระองค์ท่านได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศและเทือกเขาอันสวยงดงาม พร้อมธารน้ำใสที่ไหลผ่านแม่น้ำน่าน จึงตัดสินพระทัยเสด็จมาประทับที่พระตำหนักธงน้อย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านอยู่เนือง ๆ เวลาที่เสด็จมาทรงงานในพื้นที่น่านและจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อข่าวการทำลายป่าเมืองน่านแพร่สะพัด และพระองค์ได้สัมผัสด้วยตัวพระองค์เอง จึงทรงห่วงใยถึงกับในการเสด็จฯ หอศิลป์ริมน่านครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ทรงวาดรูปและพระราชทานชื่อว่า “ภาพภูเขาหัวโล้น”1/ พร้อมมีกระแสรับสั่งให้จัดตั้งมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูป่าน่านให้ได้โดยเร็ว พร้อมขอให้คุณบัณฑูร ล่ำซำ (คุณปั้น) อดีตประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่น่าน มาช่วยงานในตำแหน่งรองประธานมูลนิธิฯ
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมโครงการ
รักษ์ป่าน่าน บ้านห้วยลอย จ.น่าน เมื่อปี 2562
ภาพ “ภูเขาหัวโล้น”
ฝีพระหัตถ์กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ผมได้รับโอกาสเดินทางไปจังหวัดน่านเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พร้อมได้รับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าน่านจากคุณปั้นโดยตรง ท่านเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า ได้ไปท่องเที่ยวจังหวัดน่านตั้งแต่ปี 2552 และหลงเสน่ห์ของความสงบ ความน่ารักของผู้คน เกิดความรักและผูกพันจนได้เขียนนิยายเรื่อง“สิเนหามนตาแห่งลานนา” เมื่อปี 2556 เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับน่านผ่านมุมมองของชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งก่อนที่ท่านจะเล่าต่อ ได้พาไปดูที่ตั้งโชว์ร่างนิยายดังกล่าวที่เขียนลงบนกระดาษด้วยลายมือตนเอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้จ้างโกสต์ไรท์เตอร์มาเขียน
คุณปั้นกลับมาเล่าเรื่องภูโกร๋นหรือภูเขาหัวโลนของน่านต่อว่า เมื่อกรมสมเด็จพระเทพฯ มีพระราชกระแสรับสั่งว่า เป็นห่วงพื้นที่ป่าในจังหวัดน่าน จึงรู้สึกว่าตัวเองในฐานะบุคคลหนึ่งที่ผูกพันกับจังหวัดน่านต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จึงตัดสินใจถอดสูท คราบนายแบงก์ที่ทำมากว่า 40 ปี มาใส่ชุดล้านนาแก้ไขปัญหาน่านแทน พร้อมบอกตัวเองว่า “มันเป็นโจทย์ที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย เป็นภารกิจสุดท้ายของชีวิต”2/
คุณปั้นและทีมงานได้เข้าไปในพื้นที่ สัมผัสกับชาวบ้านทั้ง 99 ตำบลในจังหวัดน่าน และได้รับรู้ว่า ปัจจัยที่จะนำมาสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืนนั้นต้องประกอบได้ด้วย 3 ประการ คือ 1. รัฐและชาวบ้านต้องเข้าใจปัญหา ตีโจทย์ให้แตก และร่วมกันค้นหาคำตอบ 2. การแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำแบบเดิม ๆ ลักษณะผักชีโรยหน้า ต้องคิดถึงรูปแบบที่แตกต่าง สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรและฟื้นฟูป่ากลับมาพร้อมกัน และ 3. องค์ความรู้ต้องกระจายไปสู่ทุกคนอย่างรวดเร็ว แบบทั่วถึงและทันกาล ดังนั้น สองศาสตร์แรกที่ต้องนำมาใช้คือคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ภาครัฐต้องมีนโยบายกำหนดสัดส่วนพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำมาหากินของเกษตรกรให้ชัดเจนเสียก่อน จึงเป็นที่มาของสูตร 72:18:10 ของน่านแซนด์บ็อกซ์คือ ต้องรักษาพื้นที่ป่า 72% ไว้ให้ได้ ส่วน 18% จะต้องคืนกลับมาเป็นพื้นที่ป่า โดยให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ตามที่กรมป่าไม้ระบุว่าเป็นไม้ในป่าสงวน และอนุญาตให้ชาวบ้านปลูกพืชที่สามารถเจริญเติบโตใต้เงาร่มไม้ใหญ่ได้ ในขณะที่อีก 10% ที่เหลือให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
หลังจากได้โจทย์ที่ทำให้แจ้งตามหลักข้างต้นแล้ว คุณปั้นจึงตัดสินใจนำผลการศึกษาไปหารือกับผู้บริหารบ้านเมืองในปี 2560 ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งคนแรกที่ลงพื้นที่มาปฏิบัติราชการที่จังหวัดน่าน ได้พบปะกับประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาด้วยตนเอง จนได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะนำผลการศึกษาบรรจุไว้ใน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม3/
คุณบัณฑูร ล่ำซำ
รองประธาน มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน
น่านแซนด์บ็อกซ์
72:18:10 คนอยู่ร่วมกับป่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ลงพื้นที่ จ.น่าน
แต่โจทย์ไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะพื้นที่ 18% จะคืนกลับมาเป็นพื้นที่ป่านั้น ต้องคืนในรูปแบบที่เป็นพื้นที่ผืนเดียวกัน ไม่ใช่ตรงนี้ไร่นึง ตรงนั้นไร่นึง ดังนั้น การจัดสรรพื้นที่จะต้องมีการเจรจาตกลงกับชาวบ้านให้ลงตัว แต่โจทย์ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในส่วนของ 18% จะเป็นการปลูกต้นไม้ใหญ่เท่าไหร่ นำมาซึ่งข้อสรุปว่าภายใน 1 ไร่ (1,600 ตารางเมตร) จะต้องมีต้นไม้ใหญ่อย่างน้อย 100 ต้น หากต้นไม้
มีขนาดรอบลำต้น 4 ตารางเมตร หมายถึงจะมีพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถปลูกพืชทำมาหากินได้ 1,200 ตารางเมตร ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สุดคือ จะเป็นพืชชนิดไหนที่สามารถเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ และเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างยั่งยืน
พืชชนิดไหนที่สามารถอยู่ร่วมภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอให้เกษตรกรมีรายได้ และพืชชนิดไหนที่จะช่วยประชาชนในน่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน มีคำตอบใน weekly mail สัปดาห์หน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
13 สิงหาคม 2567
แหล่งที่มา:
1/ ระรินธร เพ็ชรเจริญ ตะโกนรักเมืองน่าน พระอารมณ์ขัน "พระเทพ" Post Today, 5 เมษายน 2558 https://www.posttoday.com/politics/357466
2/ ชีวิตวัยเกษียณ “บัณฑูร ล่ำซำ” ทุ่มเท “น่านแซนด์บ็อกซ์” ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, วันที่ 8 เมษายน 2564 เวลา 17:59 น. https://www.prachachat.net/d-life/news-643268
3/ น่านแซนด์บ๊อกซ์ คนอยู่กับป่า โจทย์ต้องทำให้แจ้ง ชาวบ้านต้องรอด ถ้าแพ้…ทุกอย่างพังเหมือนเดิม ThaiPublica, 11 กุมภาพันธ์ 2019 https://thaipublica.org/2019/02/nan-sandbox-1-2-2562/